bih.button.backtotop.text

Sexual Well-being ช่วยให้ชีวิตยืนยาวและมีสุข

           สุขภาวะทางเพศหรือ Sexual well-being หมายถึงการมีชีวิตทางเพศที่เป็นสุขและปลอดภัย  เป็นการเชื่อมโยงระหว่างสุขภาวะทางเพศระดับบุคคลกับระดับสังคมที่จะต้องประสานสอดคล้องกันอย่างกลมกลืน

            สุขภาวะทางเพศเป็นส่วนหนึ่งของการมีสุขภาพที่ดี ซึ่งนำไปสู่การมีชีวิตที่ยืนยาวอย่างมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีอันเป็นสิ่งที่ปรารถนาของมนุษย์ทุกคน

            พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติฉบับ 3 มีนาคม พ.ศ. 2550 ได้ให้คำจำกัดความของ  “สุขภาพ” ว่า สุขภาพหมายถึงภาวะของมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิต ทางปัญญา และทางสังคม  เชื่อมโยงกันเป็นองค์รวมอย่างสมดุลย์  ปัญญา หมายถึง ความรู้ทั่ว  รู้เท่าทันและความเข้าใจอย่างแยกได้ในเหตุผลแห่งความดี  ความชั่ว  ความมีประโยชน์และความมีโทษ ซึ่งนำไปสู่ความมีจิตอันดีงามและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
 
 

สุขภาวะทางเพศระดับบุคคล

              การจะมีสุขภาวะทางเพศที่ดีนั้นต้องเริ่มต้นที่ตนเอง จากนั้นจึงจะพัฒนาความสัมพันธ์ไปสู่คู่ครองและบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในสังคมและประสานสัมพันธ์เพื่อให้ก่อประโยชน์แก่การอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข  และมีความสมดุลย์ในมิติต่างๆ ทางสังคมอย่างกลมกลืน

             สุขภาพทางเพศระดับบุคคลนั้นมีลักษณะที่สำคัญประกอบไปด้วย การที่สามารถแสดงออกทางเพศและตัดสินใจได้ด้วยตนเองอย่างเป็นอิสระโดยไม่มีการบังคับทั้งทางกายและวาจาจากผู้หนึ่งผู้ใดนอกจากนี้การแสดงออกทางเพศนั้นจะต้องไม่ไปรบกวนหรือละเมิดผู้อื่น  มีความเป็นส่วนตัวและเคารพต่อวิถีทางเพศที่ต่างจากตนเอง  มีสัมพันธภาพทางเพศที่เกื้อกูลและสนับสนุนซึ่งกันและกัน    ไม่มีการบังคับให้ปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติ  รวมทั้งไม่ใช้ความรุนแรงในเรื่องของสัมพันธภาพและการแสดงออกทางเพศและมีความคิดในด้านบวกต่อสัมพันธภาพและการแสดงออกทางเพศ

           เมื่อได้พัฒนาสุขภาวะทางเพศของตนเองเป็นอย่างดีแล้วก็จะนำความสงบสุขมาสู่สังคมแห่งการปรองดองและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในระดับอื่นๆ ต่อไป

 

สุขภาวะทางเพศระดับสังคม

           สังคมจะสามารถดำรงคงอยู่อย่างมีความสงบสุขได้นั้น รัฐบาลจะต้องยอมรับในเรื่องของสุขภาวะทางเพศรวมทั้งสิทธิทางเพศอันเป็นหนึ่งในสิทธิมนุษยชนขั้นมูลฐานในอันที่จะใช้ปัญญานำทางในการส่งเสริมสัมพันธภาพทางเพศและการพัฒนาการทางสุขภาวะทางเพศของแต่ละบุคคล จะต้องมีการรับรองสิทธิทางเพศที่เป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษยชน  มีกระบวนการทางสังคมและบังคับใช้กฏหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสม   มีการให้ความรู้ทางเพศ(เพศศึกษา)ที่ถูกต้องและเหมาะสม   มีโครงสร้างทางสังคมที่เอื้ออำนวยต่อการให้บริการด้านอนามัยเจริญพันธ์อันได้แก่  การให้คำปรึกษาก่อนสมรส  การวางแผนครอบครัว  การเตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์และการมีบุตร  การคุมกำเนิดที่ถูกวิธีและเหมาะสมแก่สภาพของแต่ละบุคคล  รวมทั้งมีการให้บริการรักษาภาวะการมีบุตรยากอย่างมีประสิทธิภาพ

             นอกจากนี้ยังต้องมีระบบการป้องกันและการรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างมีประสิทธิภาพ   มีหน่วยงานที่ให้คำปรึกษาปัญหาทางเพศรวมทั้งมีสายด่วนรับปรึกษาเบื้องต้นหรือในรายที่ไม่ต้องการเปิดเผยตน

 

สิทธิทางเพศ

                เป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ชนและได้รับการรับรองจากองค์การสหประชาชาติและองค์การอนามัยโลก   สิทธิทางเพศได้รับการประกาศครั้งแรกที่กรุงวาเลนเซียประเทสสเปนในปี พ.ศ. 2527  เนื้อหาของสิทธิทางเพศนี้ครอบคลุมตั้งแต่สุขภาพทางเพศ  อนามัยเจริญพันธุ์  วิถีทางเพศ และการมีความสัมพันธ์ทางเพศ   เป็นสิทธิของมนุษย์ทุกคนที่จะได้รับโดยไม่เลือกปฏิบัติ  ไม่มีการบังคับและไม่มีการใช้ความรุนแรงในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทางเพศมีรายละเอียดแบบย่อดังต่อไปนี้
  • การได้รับบริการด้านอนามัยเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศอย่างมีมาตรฐาน
  • การได้รับความรู้จากการเรียนเพศศึกษาที่ถูกต้องเหมาะสม
  • การได้รับข้อมูลที่ถูกต้องในวิถีทางเพศและการได้รับการศึกษาที่ถูกต้องในวิถีทางเพศ
  • การเลือกคู่ครอง
  • การเลือกที่จะมีหรือไม่มีเพศสัมพันธ์
  • การสมัครใจที่จะแต่งงาน
  • การสมัครใจที่จะมีความสัมพันธ์ทางเพศ
  • การตัดสินใจในเรื่องของการมีบุตรว่าจะมีหรือไม่มีอย่างไร
  • การแสดงความเห็นทางเพศอย่างเป็นอิสระแต่ไม่กระทบต่อศีลธรรมและวัฒนธรรม
  • สามารถมีชีวิตทางเพศอย่างเป็นส่วนตัว
  • การมีชีวิตทางเพศที่พึงพอใจและปลอดภัย
 

สุขภาวะทางเพศกับประเทศไทย

         ในประเทศไทยนั้นได้มีการจัดประชุมสมัชชาสุขภาวะทางเพศ – ครั้งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551  และคณะรัฐมนตรีได้มีการรับรองมติของสหประชาชาติในเรื่องสุขภาวะทางเพศเมื่อปี พ.ศ. 2552

           การดูแลเรื่องสุขภาวะทางเพศในประเทศไทยเป็นความร่วมมือทั้งในระดับกระทรวงต่างๆที่เกี่ยวข้อง  การสาธารณสุข  การศึกษา รวมทั้งทางภาคเอกชนและ Non Government Organization อิสระต่างๆ เพื่อให้คนไทยได้รับข้อมูลข่าวสารและการบริการที่ได้มาตรฐานและเป็นส่วนตัว


 

ปัจจัยที่มีผลต่อสุขภาวะทางเพศ

  1. บุคลิกภาพของแต่ละบุคคล
  2.  ความเชื่อทางศาสนา สังคมและวัฒนธรรม
  3.  สุขภาพภายในช่วงวัยต่างๆ ตั้งแต่เริ่มวัยรุ่น วัยทำงาน วัยกลางคน และวัยชรา
  4.  สุขภาพจิตและความเครียดในชีวิตประจำวัน
  5.  สัมพันธภาพกับคู่ครองและครอบครัว
  6.  สุขภาพของคู่ครอง
  7.  ไลฟ์สไตล์และความเป็นอยู่
  8.  การเจ็บป่วยและการรักษา

ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้สามารถที่จะป้องกันและแก้ไขได้ในหลายปัจจัยทั้งการดูแลรักษาแบบชะลอวัยและฟื้นฟูสภาพ  การรักษาโรคให้อยู่ในสภาวะที่ควบคุมได้  การปรับสมดุลย์ของฮอร์โมนเพศและฮอร์โมนอื่นๆ เพื่อการชะลอวัย  การใช้ยาที่ส่งเสริมการทำงานของอวัยวะเพศให้สามารถทำงานได้เป็นปกติหรือดีขึ้น   การให้คำปรึกษาปัญหาครอบครัวและสุขภาพจิต ฯลฯ
 
 

สุขภาพทางเพศ

         การมีสุขภาพทางเพศที่ดีย่อมนำไปสู่การมีสุขภาวะทางเพศที่สมบูรณ์  สุขภาพทางเพศหมายถึงความรู้สึกนึกคิดและการปฏิบัติในทางที่ถูกต้องทั้งในด้านเพศสภาพ การทำงานของร่างกายและอวัยวะต่างๆ ที่กี่ยวข้องทางเพศ รวมทั้งสัมพันธภาพที่ดีงามและวิถีทางในการปฏิบัติตน   ซึ่งจะนำไปสู่การทำงานของระบบที่เกี่ยวข้องทางเพศอย่างเป็นปกติ
         การปฏิบัติการทางเพศที่สมบูรณ์นั้นระบบต่างๆ จะต้องสามารถที่จะทำงานได้เป็นปกติได้แก่ ระบบประสาทและสมอง  ระบบเส้นเลือดและการไหลเวียนของเลือด   ระบบต่อมไร้ท่อและฮอร์โมนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง  ระบบกล้ามเนื้อและกระดูก  รวมทั้งสภาพของจิตใจ
           ระบบต่างๆ เหล่านี้จะถูกกระทบโดย   สภาวะของจิตใจ  ความเป็นอยู่ในครอบครัว  สัมพันธภาพกับคู่ครอง  ความเชื่อทางศาสนาและวัฒนธรรม  ความสมดุลย์ของชีวิตและการทำงาน  สภาพความเครียดในชีวิตปะจำวัน  ความเป็นอยู่สุขภาพและจิตใจของคู่ครอง  ปัจจัยส่วนตัวไม่ว่าจะเป็นลักษณะนิสัยใจคอ ความประพฤติปฏิบัติที่เคยชิน  ความเชื่อมั่นในตนเอง  ประสบการณ์ในชีวิตตั้งแต่อดีต   การเจ็บป่วยและการรักษาที่ได้รับรวมทั้งอุบัติเหตุต่างๆ ที่มีผลค่อการทำงานของระบบการเจริญพันธุ์และการเสื่อมชราตามวัย

การดูแลรักษาเพื่อให้เกิดสุขภาวะทางเพศนั้นสามารถแบ่งแยกออกได้เป็น
  1. การรักษาทางยา  พยายามลดการใช้ยาที่มีผลต่อความรู้สึกนึกคิดและการปฏิบัติทางเพศลงหรือถ้าจำเป็นจะต้องใช้ควรเปลี่ยนเป็นยาที่ไม่มีผลกระทบ   มีการปรับความสมดุลย์ของฮอร์โมนด้วยการใช้ Bioidentical Hormoes Therapy:BHRT ซึ่งจะช่วยปรับเสริมสภาพของฮอร์โมนที่ป้องกันการแก่ชรากับฮอร์โมนที่ช่วยในการเสริมการปฏิบัติการทางเพศให้ดีขึ้นตามกลไกที่ได้รับการศึกษาวิจัยแล้วว่าได้ผลและไม่มีอาการข้างเคียง 
  2. การปรับสภาพของจิตใจ  ด้วยการให้การปรึกษาทั้งทางด้านสุขภาพจิตทั่วไปและปัญหาครอบครัวที่อาจจะมี  รวมทั้งให้คำแนะนำในการปฏิบัติตนกับคู่ครองทั้งในด้านการแสดงความรักและความสัมพันธ์ทั้งทางเพศและทั่วๆ ไปเพื่อส่งเสริมความเข้าใจในกันและกัน
  3. การปรับอาหารและสารอาหาร  ควรมีการแนะนำให้งดการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์โดยเฉพาะไม่ควรมีกิจกรรมทางเพศ หลังการอิ่มจากการรับประทานอาหาร หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ภายใน 2 ชั่วโมงเพราะอาจมีผลกระทบต่อสมรรถภาพทางเพศได้   นอกจากนี้เริ่มมีการศึกษาวิจัยที่พบว่าสารอาหารและสมุนไพรบางชนิดอาจจะช่วยเสริมสมรรถภาพทางเพศได้บ้างในบางบุคคลเช่น โสม  Tonkat Ali (ปลาไหลเผือก) ถั่งเช่า ฯลฯ
  4. การปรับสภาพแวดล้อม  ปรับสภาพการเป็นอยู่ให้มีความเป็นส่วนตัว  ส่งเสริมความโรแมนติค  ปรับอุณหภูมิให้เหมาะสม  หรืออาจจะมีการปรับสภาพให้เอื้ออำนวยต่อความรู้สึกที่ดีและผ่อนคลาย  การใช้น้ำมันหอมระเหย  การนวดสัมผัส  ฯลฯ
  5. การให้ความรู้ทางเพศที่ถูกต้อง   ได้แก่ การสอนให้เรียนรู้ที่จะปรับตัวกับความต้องการของคู่ครอง  การตอบสนองต่อการกระตุ้นทางเพศในรูปแบบที่พึงพอใจ รูปแบบของสัมพันธภาพทางเพศที่มากกว่าการร่วมเพศ รวมทั้งการใช้วัสดุอุปกรณ์ที่จะช่วยเสริมความพึงพอใจทางเพศของกันและกันโดยความตกลงร่วมกันและไม่มีการบังคับใจ
 
 
เรียบเรียงโดย ผศ.นพ. พันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์   สูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา, คลินิกวัยทอง, เวชศาสตร์การเจริญพันธ์
ศูนย์สูติ-นรีเวช โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:


แก้ไขล่าสุด: 17 พฤษภาคม 2565

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs