bih.button.backtotop.text

โรคน้ำกัดเท้า...โรคที่ต้องระวังยามน้ำท่วม



สถานการณ์น้ำท่วมในปัจจุบันส่งผลต่อปัญหาสุขภาพในหลายด้าน สำหรับคนที่ต้องลุยน้ำหรือย่ำน้ำสกปรกซึ่งอาจมีเชื้อโรคปะปนอยู่ มักเกิดโรคผิวหนังที่เรียกว่า “โรคน้ำกัดเท้า”
 

โรคน้ำกัดเท้าคืออะไร


โรคน้ำกัดเท้าเป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง มักพบในคนที่ต้องลุยน้ำและแช่น้ำเป็นเวลานาน บริเวณเท้าจึงมีความชื้นอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดอาการเท้าเปื่อย ลอก คัน และแสบ และอาจมีโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราตามมาได้
 

อาการของโรคน้ำกัดเท้า


อาการของโรคน้ำกัดเท้าแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่

  • ระยะแรก ผิวหนังบริเวณเท้าจะมีลักษณะเปื่อย แดง ลอกเนื่องจากการระคายเคือง โดยยังไม่มีการติดเชื้อ แต่หากมีอาการคันและเกาจนเกิดแผลถลอกก็มีโอกาสที่จะติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
  • ระยะที่สอง เป็นระยะที่ผิวหนังเปื่อยและลอกเป็นแผล ทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา โดยการติดเชื้อแบคทีเรียทำให้เกิดอาการอักเสบ บวมแดง ร้อน เป็นหนอง และปวด ส่วนการติดเชื้อราชนิด dermatophyte จะทำให้มีอาการคัน ผิวเป็นขุยและลอกออกเป็นแผ่นสีขาว และอาจมีกลิ่นเหม็น โดยเฉพาะตามซอกเท้า หากปล่อยไว้นานอาการอาจเป็นเรื้อรังและรักษาหายยาก แม้อาการจะดีขึ้นแล้วก็อาจกลับมามีอาการใหม่ได้ถ้าเท้าเปียกชื้นอีก

 

การป้องกันคือหัวใจสำคัญของโรคน้ำกัดเท้า


ในช่วงเวลาที่น้ำท่วมในหลายๆ พื้นที่นี้ อาจเป็นการยากที่จะหลีกเลี่ยงการลุยน้ำ การป้องกันโรคน้ำกัดเท้าโดยการรักษาความสะอาดของเท้าและทำให้เท้ามีความชื้นน้อยที่สุดจึงเป็นเรื่องสำคัญ

  • หลีกเลี่ยงความชื้น ไม่ใส่รองเท้าและถุงเท้าที่เปียกชื้นเป็นเวลานาน ควรซักถุงเท้าให้สะอาดและตากให้แห้งก่อนนำมาใช้ทุกครั้ง
  • ป้องกันเมื่อลุยน้ำ สวมรองเท้าบูททุกครั้งที่ลุยน้ำ ถ้าระดับน้ำสูงเกินกว่าขอบรองเท้าให้ใช้ถุงดำครอบแล้วใช้หนังยางรัดไว้ หากน้ำเข้ารองเท้าให้หมั่นเทน้ำออกเป็นระยะๆ
  • รักษาความสะอาด หลังจากลุยน้ำให้รีบล้างเท้าให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ เช็ดให้แห้งโดยเฉพาะบริเวณซอกเท้า และใช้แป้งฝุ่นโรยบริเวณเท้าและซอกเท้าเพื่อให้เท้าแห้งสนิท
  • ดูแลแผล หากมีบาดแผลบริเวณเท้า เช็ดแผลด้วยแอลกอฮอล์ และใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น โพวิโดนไอโอดีน และหลีกเลี่ยงไม่ให้แผลสัมผัสกับน้ำสกปรกที่ท่วมขัง

 

รักษาโรคน้ำกัดเท้าให้ถูกวิธี


การรักษาโรคน้ำกัดเท้าจะพิจารณาตามระยะของโรค ดังนี้

  • ระยะแรก ยังไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าเชื้อรา เนื่องจากยังไม่มีการติดเชื้อ อาจทายาสเตียรอยด์อ่อนๆ หรือยาขี้ผึ้งวิทฟิลด์ (Whitfield’s ointment) ทาบริเวณที่เป็นวันละ 3 ครั้งได้ แต่ยาขี้ผึ้งวิทฟิลด์อาจทำให้ระคายเคืองบริเวณที่ทา จึงควรหลีกเลี่ยงการทาในบริเวณที่มีแผลเปิด
  • ระยะที่สอง
    • การติดเชื้อแบคทีเรีย ถ้าเป็นการติดเชื้อที่ไม่รุนแรง ให้ทำความสะอาดบริเวณแผลด้วยน้ำเกลือ แอลกอฮอล์ และใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น โพวิโดนไอโอดีน แต่หากเป็นการติดเชื้อเรื้อรังและรุนแรง อาจต้องรับประทานยาปฏิชีวนะร่วมด้วย ควรรีบไปพบแพทย์
    • การติดเชื้อรา สามารถเลือกใช้ยาทาต้านเชื้อราหรือยาขี้ผึ้งวิทฟิลด์ก็ได้ แต่การรักษาการติดเชื้อรามักใช้เวลานาน จึงควรใช้ยาอย่างต่อเนื่อง ไม่ควรหยุดใช้ยาเองแม้ว่าอาการจะดีขึ้นเพราะอาจมีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้อีก โดยทั่วไปมักต้องทายาต่อเนื่องหลังจากอาการเป็นปกติแล้วอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ หากมีอาการรุนแรงควรไปพบแพทย์

 

การดูแลรักษาเท้าของผู้ป่วยเบาหวานในยามน้ำท่วม

 

  • หลีกเลี่ยงการลุยน้ำ ไม่ปล่อยให้เท้าแช่น้ำเป็นเวลานาน ถ้าจำเป็นต้องลุยน้ำให้สวมรองเท้าบูทซึ่งจะช่วยกันน้ำและกันของมีคมในน้ำที่อาจทำให้เกิดบาดแผล ถ้าไม่มีรองเท้าบูทอาจใช้รองเท้ายางหุ้มส้น ไม่ควรเดินลุยน้ำเท้าเปล่า
  • เลือกรองเท้าบูทหรือรองเท้ายางหุ้มส้นที่เหมาะกับเท้า ไม่คับหรือหลวมจนเกินไป ระวังหกล้มเวลาเดิน
  • ก่อนสวมรองเท้าทุกครั้งควรสำรวจดูสิ่งแปลกปลอมด้านใน เพื่อป้องกันการเกิดแผล นอกจากนั้นในภาวะน้ำท่วมอาจมีสัตว์มีพิษเข้ามาอยู่ในรองเท้าได้
  • ถ้าเท้าสัมผัสน้ำสกปรก ให้รีบทำความสะอาดด้วยน้ำสะอาดและสบู่ เช็ดเท้าให้แห้งโดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้า
  • ถ้าทาโลชั่นควรหลีกเลี่ยงบริเวณซอกนิ้วเพราะอาจทำให้เกิดการหมักหมมติดเชื้อราได้ง่าย
  • ถ้ามีบาดแผลไม่ควรสัมผัสน้ำสกปรกเพราะบาดแผลจะเป็นทางนำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย ถ้ามีความจำเป็นต้องลุยน้ำให้ปิดแผลด้วยพลาสเตอร์กันน้ำ (Tegaderm)
  • ควรสังเกตดูเท้าของตนเองทุกวัน ถ้าพบความผิดปกติเช่นผื่นคัน เป็นขุย ตุ่มพุพอง หรือมีแผลอักเสบ ควรปรึกษาแพทย์


ในช่วงเวลาเช่นนี้ นอกจากการดูแลสุขภาพตัวเองในด้านอื่นๆ แล้ว การดูแลเท้าของตัวเองก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน หากสามารถรักษาความสะอาดของเท้าได้เป็นอย่างดี ก็สามารถป้องกันตัวเองจากโรคน้ำกัดเท้าได้ไม่ยาก

เรียบเรียงโดย โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แก้ไขล่าสุด: 12 กรกฎาคม 2565

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs