bih.button.backtotop.text

ปลอดภัยแน่ ถ้ารู้วิธีรับมือกับภาวะฉุกเฉินในผู้ป่วยเบาหวาน

20 พฤศจิกายน 2563
ภาวะฉุกเฉินที่เกิดเฉพาะเจาะจงในผู้ที่เป็นเบาหวาน  คือ ภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูงเกินกว่าค่าที่กำหนดซึ่งอาจเป็นอันตรายได้ ต้องได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงทีดังนี้
 


ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

ผู้ที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ คือ มีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 70 มก./ดล.


อาการ

อาการของผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ เช่น หิวมาก มือสั่น เหงื่อออกมาก ตัวเย็น ใจสั่น หัวใจเต้นแรงและเร็ว ปวดศีรษะ มึนงง เวียนศีรษะ หน้ามืด ตาลาย ตาพร่ามัวหรือเห็นภาพซ้อน พฤติกรรมหงุดหงิด ฉุนเฉียวอย่างฉับพลัน


วิธีการป้องกัน

  1. รับประทานอาหารพวกคาร์โบไฮเดรตที่ดูดซึมรวดเร็ว เช่นน้ำหวาน น้ำผลไม้  ½-1 แก้ว น้ำตาลทราย 1 ช้อนโต๊ะละลายน้ำ 100 มล. ลูกอมที่มีน้ำตาล 2-3 เม็ด
  2. ผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัวให้จับนอนตะแคง หยอดน้ำหวานข้นๆหรือน้ำผึ้งที่กระพุ้งแก้มครั้งละน้อยๆ แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล
  3. ตรวจน้ำตาลปลายนิ้วทันที ตรวจซ้ำ 15 และ 30 นาทีต่อมา หากระดับน้ำตาลยังต่ำกว่า 70 มก./ดล. ให้ปฏิบัติตามข้อ 1 ซ้ำอีก 1 ครั้ง หากระดับน้ำตาล 70-100 มก./ดล.ให้รับประทานคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน 1 ส่วน เช่น ผลไม้ขนาดกลาง 1 ผล ขนมปังปอนด์ 1 แผ่น แครกเกอร์ 1 ซองเล็ก เป็นต้น
  4. ถ้ามีอาการชักกระตุกเฉพาะที่หรือมีอาการซึม ควรรีบมาโรงพยาบาล
  5. ค้นหาสาเหตุที่ทำให้น้ำตาลต่ำเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำซ้ำ
 


ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง

ผู้ที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง คือ มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 250 มก./ดล.
 

อาการ

โดยผู้ที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงมักมีอาการ เช่น กระหายน้ำมาก ปัสสาวะบ่อยและมากผิดปกติโดยเฉพาะในเวลากลางคืน อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย น้ำหนักลด ตามัว


วิธีการป้องกัน

1. ดื่มน้ำสะอาดมากๆ ในกรณีที่ไม่จำกัดน้ำ 
2. ตรวจน้ำตาลปลายนิ้วและรายงานแพทย์
3. ถ้ามีอาการชักกระตุกเฉพาะที่หรือมีอาการซึม ควรรีบมาโรงพยาบาล
4. ค้นหาสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง เช่น รับประทานอาหารปริมาณมากเกินไปหรือชนิดที่ทำให้ระดับน้ำตาลสูง ขาดการออกกำลังกาย ขาดยารับประทานหรือฉีดยาไม่ตรงตามที่แพทย์กำหนด ยาขาดประสิทธิภาพเช่นยาหมดอายุหรือการจัดเก็บไม่ถูกต้อง เป็นต้น


ผู้ที่เป็นเบาหวานควรปฏิบัติตัวอย่างไร

1. จำเป็นต้องแจ้งให้ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดทราบเพื่อจะได้ช่วยเหลือหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน 
2. พกพาบัตรประจำตัวผู้เป็นเบาหวานตลอดเวลา
3. พกพาเครื่องตรวจน้ำตาลปลายนิ้ว ควรตรวจวัดอย่างสม่ำเสมอและเมื่อมีอาการไม่สุขสบาย
4. เตรียมช่องทางติดต่อและประสานกับทีมสุขภาพและโรงพยาบาลที่ดูแล


 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
          8.00-20.00  (BKK Time)
          02-0113984-5 and 02-113991

          20.00-8.00 (BKK Time)
          Contact center +662 066 8888 and  1378

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

ปลอดภัยแน่ ถ้ารู้วิธีรับมือกับภาวะฉุกเฉินในผู้ป่วยเบาหวาน
คะแนนโหวต 9.5 of 10, จากจำนวนคนโหวต 4 คน

Related Health Blogs