ฝีคัณฑสูตรชนิดซับซ้อน โรครำคาญใจที่ทำลายคุณภาพชีวิต
ถึงแม้ผู้ป่วยโรคฝีคัณฑสูตรส่วนใหญ่จะรักษาให้หายขาดได้ด้วยการผ่าตัดเพียงครั้งเดียว แต่มีผู้ป่วยประมาณร้อยละ 20 ที่มีโอกาสเป็นโรคฝีคัณฑสูตรชนิดซับซ้อน (recurrent anal fistulas) ซึ่งเป็นโรคท้าทาย รักษาได้ยาก ต้องอาศัยศัลยแพทย์ผู้ชำนาญเฉพาะทางด้านลำไส้ใหญ่และทวารหนักที่มีประสบการณ์ในการรักษาโรคฝีคัณฑสูตรชนิดซับซ้อนในการวินิจฉัยและรักษา จึงจะมีโอกาสในการหายขาดสูง
โรคฝีคัณฑสูตรชนิดซับซ้อนหมายถึงอะไร
- ฝีคัณฑสูตรที่เป็นซ้ำ เคยผ่าตัดรักษาหลายครั้งแล้วไม่หาย
- ฝีคัณฑสูตรชนิดที่มีรูเปิดหลายๆรู
- ฝีคัณฑสูตรที่มีรูเปิดร่วมกับการมีโพรงของฝี
- ฝีที่ทะลุผ่านชั้นกล้ามเนื้อหูรูดก่อนจะแตกสู่ผิวหนังภายนอกห่างออกไปจากปากทวารหนัก (transphincteric fistula) หรือฝีที่ขึ้นไปด้านบนเหนือกล้ามเนื้อชั้นหูรูดภายนอกและเซาะกลับมาแตกที่ผิวหนังภายนอกห่างออกไปจากปากทวารหนัก (suprasphincteric fistula) และฝีที่เซาะไปที่กล้ามเนื้อชั้นหูรูดภายนอกและแตกเข้าสู่ส่วนปลายของลำไส้ตรง (extrasphincteric fistula)
หากปล่อยทิ้งไว้ ไม่รักษา มีความเสี่ยงหรือไม่
ฝีคัณฑสูตรมักไม่ทำให้เกิดโรคร้ายแรงอื่นๆ เพียงแต่ทำให้รู้สึกรำคาญ เนื่องจากมีหนองหรือน้ำเหลืองไหลซึมออกจากก้น ทำให้ก้นแฉะและมีกลิ่น ในบางราย หากปล่อยทิ้งไว้อาจลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆได้ นอกจากนี้ ในคนไข้โรคฝีคัณฑสูตรซับซ้อนที่เป็นมานานหลายสิบปี บางรายอาจกลายเป็นมะเร็งที่อยู่ในโพรงของฝีคัณฑสูตร ในกรณีที่คนไข้มีภูมิต้านทานไม่ดี มีโรคอื่นร่วมด้วย เช่น เบาหวาน เอชไอวีและตับแข็ง อาจทำให้เกิดภาวะติดเชื้อที่รุนแรง จนเกิดเนื้อตายได้ (fournier’s gangrene)
วินิจฉัยโรคฝีคัณฑสูตรชนิดซับซ้อนได้อย่างไร
การวินิจฉัยถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดขั้นตอนหนึ่งในการรักษาโรคฝีคัณฑสูตรชนิดซับซ้อน แพทย์จะวินิจฉัยด้วยการซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียด ร่วมกับการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (MRI) หรือการใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์ชนิดพิเศษตรวจบริเวณทวารหนัก โดยแพทย์จะหาสาเหตุของการเกิดฝีคัณฑสูตรที่ซ้ำซ้อน วิเคราะห์กายวิภาคของฝีคัณฑสูตร รวมถึงประเมินภาวะแทรกซ้อนในเรื่องความสามารถในการควบคุมการขับถ่ายอุจจาระเพื่อวางแผนการผ่าตัดได้อย่างถูกต้อง
วิธีการรักษาโรคฝีคัณฑสูตรชนิดซับซ้อน
การรักษาโรคฝีคัณฑสูตรที่ซับซ้อนไม่ได้มีเทคนิคที่ตายตัว แพทย์จะเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุด โดยดูจากพยาธิสภาพของคนไข้แต่ละราย และเลือกเทคนิคที่มีโอกาสประสบความสำเร็จสูงสุดโดยที่หูรูดไม่ถูกทำลายหรือถูกทำลายน้อยที่สุด เป็นการรักษาแบบเฉพาะบุคคล (personalized medicine) ที่มุ่งเน้นให้ผู้ป่วยหายขาดและไม่มีปัญหาการกลั้นอุจจาระ
ดูแลตัวเองอย่างไรหลังการผ่าตัด
ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดรักษาชนิดใด คนไข้พักฟื้นที่โรงพยาบาลเพียงหนึ่งคืน ไม่ต้องทำแผล สามารถถ่ายอุจจาระได้เลยในวันแรก พักฟื้นที่บ้านโดยเฉลี่ย 4-5 วันก็สามารถกลับไปทำงานและใช้ชีวิตตามปกติได้
ศูนย์ศัลยกรรมลำไส้และทวารหนัก โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีทีมศัลยแพทย์ผู้ชำนาญเฉพาะทางด้านศัลยศาสตร์ลำไส้ใหญ่และทวารหนักที่พร้อมให้การวินิจฉัยและผ่าตัดรักษาโรคฝีคัณฑสูตรที่ซับซ้อนอย่างเหมาะสมกับคนไข้แต่ละรายมากที่สุด
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 12 พฤศจิกายน 2567