bih.button.backtotop.text

การฉีดโบทูลินัมท็อกซินรักษาโรคทางระบบประสาท

เมื่อพูดถึง “โบทูลินัมท็อกซิน” หลายๆ คนคงคุ้นเคยชื่อนี้กันอยู่บ้างแล้วจากการนำมาใช้เสริมความงาม แต่ทราบหรือไม่ว่าโบทูลินัมท็อกซินยังสามารถนำมาใช้ในการรักษาโรคได้ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือโรคทางระบบประสาท
 
โบทูลินัมท็อกซิน (Botulinum toxin) เป็นสารพิษที่สกัดมาจากแบคทีเรียคลอสตริเดียมโบทูลินัม (Clostridium botulinum) ซึ่งได้มีการพัฒนาสกัดเอาสารพิษชนิดนี้มาใช้ในการรักษาโรค ในปี ค.ศ.1870 คุณหมอชาวเยอรมันชื่อมุลเลอร์ได้ตั้งชื่อสารพิษชนิดนี้ว่า โบทูลินัมท็อกซิน มาจากคำภาษาละตินว่าซอสเซจหรือไส้กรอก ซึ่งเป็นต้นตอที่สำคัญของการเกิดอาหารเป็นพิษ
 
ในปัจจุบันโบทูลินัมท็อกซินมี 7 ชนิด คือ ชนิด A ถึง G แต่ละชนิดจะแตกต่างกันตามกลไกในการสลายโปรตีนต่างชนิดกัน ในการรักษาขณะนี้ใช้เฉพาะโบทูลินัมท็อกซินชนิด A และ B เท่านั้น โดยโบทูลินัมท็อกซินจะออกฤทธิ์สกัดกั้นการส่งผ่านกระแสประสาทบริเวณกล้ามเนื้อด้วยการลดการหลั่งสารอะเซติลโคลีน (acetylcholine) ทำให้การหดตัวของกล้ามเนื้อลดลง ระงับความเจ็บปวด และลดการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติที่ผิดปกติ ด้วยเหตุนี้จึงมีการนำโบทูลินัมท็อกซินมาใช้ในการรักษาโรคในระบบต่างๆ ของร่างกายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรคทางระบบประสาท ระบบผิวหนัง ตา หู คอ จมูก ระบบทางเดินอาหาร และระบบทางเดินปัสสาวะ
 
สำหรับโรคทางระบบประสาท การฉีดโบทูลินัมท็อกซินสามารถใช้ในการรักษาอาการปวด (เช่น อาการปวดหัวไมเกรนหรือปวดหัวบีบรัดชนิดเรื้อรัง อาการปวดต้นคอหรือหลัง) โรคของการเคลื่อนไหวผิดปกติ (เช่น อาการตากะพริบหรือตากระตุก อาการหน้ากระตุก โรคลิ้นไก่กระตุก โรคคอบิด โรคมือหรือเท้าบิด โรคลำตัวบิดหรือเอียง อาการสั่นที่ดื้อต่อยา ทิกส์ ฯลฯ) โรคมือเท้าเกร็งจากความผิดปกติของสมองหรือไขสันหลัง การกัดฟัน เหงื่อออกมากผิดปกติที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือรักแร้ หรือโรคน้ำลายออกมากผิดปกติ
 
จากผลการรักษาพบว่า โบทูลินัมท็อกซินสามารถลดอาการเจ็บปวด อาการเกร็งหรือกระตุกของกล้ามเนื้อ และความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติ ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม การฉีดโบทูลินัมท็อกซินอาจมีผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้ โดยขึ้นอยู่กับบริเวณที่ฉีด เช่น ฉีดที่บริเวณใบหน้าอาจทำให้เกิดรอยช้ำ บวม หนังตาตก ตาพร่า เห็นภาพซ้อน ปากเบี้ยว ปากแห้ง ฉีดที่บริเวณคออาจมีอาการปวดบริเวณที่ฉีด กล้ามเนื้อที่ฉีดอ่อนแรง กลืนลำบาก ปากแห้ง เสียงแหบ หรืออาจมีการกระจายของยาไปที่บริเวณอื่น ทำให้มีการกลืนลำบากหรือหายใจไม่สะดวก เป็นต้น
 
ดังนั้น แม้โบทูลินัมท็อกซินจะมีประโยชน์ในการนำมาใช้รักษาโรคต่างๆ มากมาย แต่ก็มีผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ ผู้ป่วยจึงควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนเข้ารับการรักษา เพื่อให้ได้รับผลการรักษาที่ดีและเพื่อความปลอดภัยของตัวผู้ป่วยเอง
 
เรียบเรียงโดย พญ.อรพร สิทธิ์บูรณะ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา ศูนย์ประสาทวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แก้ไขล่าสุด: 31 มีนาคม 2565

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs