จะทำอย่างไรหากความเจ็บป่วยของผู้ใหญ่ในบ้านต้องกลายเป็นฝันร้ายของคนทั้งครอบครัว?
หลายคนคิดว่า
อัลไซเมอร์เป็นเพียงอาการหลงๆ ลืมๆ และเปล่าประโยชน์ที่จะรักษา แต่ความเป็นจริงก็คือ นอกเหนือจากปัญหาเรื่องความจำแล้ว ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ยังมีพฤติกรรมและอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจนส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตทั้งของตัวเองและคนรอบข้าง
และแม้ปัจจุบันจะยังไม่มียาสำหรับการรักษาโรคอัลไซเมอร์ให้หายขาด แต่แพทย์สามารถช่วยให้ผู้ป่วยและผู้ดูแลมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขมากขึ้นได้
การวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์
เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการหลงลืม ขั้นตอนแรกของการวินิจฉัยโรคคือดูว่าผู้ป่วยเข้าข่ายมีภาวะสมองเสื่อมหรือไม่โดยแพทย์จะซักประวัติจากผู้ป่วย ญาติ หรือผู้ดูแลที่สามารถให้ข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับความสามารถในชีวิตประจำวัน และพฤติกรรมที่บ่งบอกถึงความถดถอยด้านการทำงานของสมอง พร้อมทั้งให้
ผู้ป่วยเข้ารับการทดสอบสมรรถภาพของสมองโดยการตอบคำถามเกี่ยวกับความจำ สมาธิ การตัดสินใจ ทิศทาง การใช้ภาษา และการคำนวณ เป็นต้น จากนั้นจึงเป็นการตรวจคัดกรองหาสาเหตุของภาวะสมองเสื่อมว่ามาจากโรคที่รักษาได้หรือไม่ โดยการเจาะเลือดตรวจ และเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (MRI) หากไม่พบสาเหตุอื่นประกอบกับผู้ป่วยมีอาการและการทดสอบทางสมองเข้าเกณฑ์การวินิจฉัยของโรคอัลไซเมอร์ จึงจะวินิจฉัยได้ว่าผู้ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์
นอกจากนี้แพทย์ยังสามารถระบุแยกย่อยออกไปได้อีกว่า ผู้ป่วยเป็น
โรคภาวะสมองเสื่อมอื่นๆ ที่รักษาไม่หายขาดนอกเหนือจากอัลไซเมอร์หรือไม่ ซึ่งโรคเหล่านี้มีอาการแตกต่างกัน แต่การรักษาไม่ต่างกัน เพื่อให้ผู้ป่วยและผู้ดูแลเตรียมตัวได้ว่าจะต้องเจอกับอาการอย่างใดบ้าง
ไม่หายแต่ควบคุมดูแลได้
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคอัลไซเมอร์ให้หายขาด สมองจะค่อยๆ เสื่อมลงไปโดยไม่สามารถฟื้นคืนกลับมาได้ แต่การนำผู้ป่วยมาพบแพทย์ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นจะช่วยยืดระยะเวลาการดำเนินโรค เพิ่มคุณภาพชีวิตของทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแล และป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเป้าหมายหลักของการรักษาโรคอัลไซเมอร์
สำหรับวิธีการดูแลรักษาผู้ป่วยมี 2 รูปแบบ คือ
การรักษาด้วยการใช้ยา โดยเป็นยาที่ช่วยควบคุมอาการต่างๆ ให้น้อยลงชั่วคราวแต่อาจไม่ช่วยในเรื่องของความจำมากนัก ยาดังกล่าวจะเข้าไปยับยั้งเอนไซม์ที่มาทำลายสารสื่อประสาทอะซีติลโคลีน เพื่อเพิ่มหรือปรับระดับของสารแอซิติลโคลีนไม่ให้ลดลงมากจนเกินไป ผู้ป่วยจึงสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติ มีความสุขสดชื่นขึ้น ขณะเดียวกันผู้ดูแลก็ดูแลได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการทางพฤติกรรมที่ค่อนข้างรุนแรง เช่น ก้าวร้าวมาก แพทย์อาจพิจารณาให้ยาทางจิตเวชควบคู่กันไปด้วย
การรักษาโดยไม่ใช้ยา เป็นการดูแลสมองและสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย อาทิ
- จัดให้ผู้ป่วยออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ มีการศึกษาพบว่าการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ (cardio exercise) ที่เน้นการเสริมสร้างความแข็งแรงของหัวใจและปอด เช่น การเดิน วันละ 20 นาที 4 วันต่อสัปดาห์จะช่วยให้สมองสดชื่นและยืดระยะเวลาการดำเนินโรคได้
- มีกิจกรรมให้ผู้ป่วยได้ออกไปนอกบ้านเป็นระยะๆ เพื่อพบปะผู้คน พูดคุยกับเพื่อนฝูง ญาติพี่น้องคนอื่นๆ นอกเหนือจากสมาชิกในบ้าน
- ดูแลให้ผู้ป่วยได้นอนหลับอย่างมีคุณภาพตามสุขลักษณะการนอน เช่น ไม่ดื่มสารคาเฟอีนในช่วงเย็นหรือก่อนนอน ไม่ออกกำลังกายใกล้กับเวลานอน เข้านอนและตื่นนอนตรงเวลา ปรับความสว่างในห้องนอนให้มืดพอดี เพราะหากวงจรการนอนไม่ดีจะส่งผลต่อภูมิคุ้มกันของร่างกาย ความดันโลหิต น้ำหนัก และรวมถึงความจำด้วย
- ดื่มน้ำให้พอเพียง เพื่อป้องกันภาวะเลือดหนืดหรือเลือดข้นซึ่งทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก สมองไม่สดชื่น หากไม่มีข้อห้าม เช่น มีโรคหัวใจหรือโรคไต ควรดื่มน้ำวันละ 2 ลิตรเป็นอย่างน้อย
ให้ความสำคัญกับสภาพจิตใจของผู้ป่วยและผู้ดูแล
เพราะโรคอัลไซเมอร์ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนทั้งครอบครัว การดูแลสภาพจิตใจของทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแลจึงสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน ซึ่งแพทย์แนะนำแนวทางคร่าวๆ ไว้ดังนี้
- ผู้ดูแลต้องทำความเข้าใจและยอมรับว่าอาการต่างๆ ของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์นั้นเกิดขึ้นเนื่องจากโรคที่ผู้ป่วยเป็นไม่ใช่แกล้งทำ
- ดูแลด้วยความโอบอ้อมอารี ไม่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง อับอาย หรือหงุดหงิด หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าและการโต้เถียงเพราะไม่มีประโยชน์ แต่ควรพูดคุยในเรื่องที่ทำให้มีความสุข
- ผู้ดูแลต้องดูแลร่างกายและจิตใจของตนเองด้วย เพราะการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ตลอดเวลาอาจก่อให้เกิดความเครียดหรือปัญหาด้านอารมณ์ได้ ฉะนั้น หากเครียดหรือรู้สึกแย่ควรหยุดพักให้ผู้อื่นมาดูแลแทน เมื่อสภาพร่างกายและจิตใจพร้อมแล้วจึงค่อยกลับมาทำหน้าที่ผู้ดูแลใหม่
ความเข้าใจโรคและเข้าใจผู้ป่วยนี้จะช่วยเปลี่ยนช่วงเวลาของฝันร้ายให้กลายเป็นความทรงจำที่ดีของครอบครัวได้ไม่ยาก
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 17 มีนาคม 2566