bih.button.backtotop.text

รังสีรักษาเฉพาะจุด: อีกก้าวกระโดดของเทคโนโลยีรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก

          การศึกษาใหม่ล่าสุดนำมาซึ่งการใช้รังสีรักษาและยารักษามะเร็งเฉพาะจุดแบบใหม่ จุดประกายความหวังให้ผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากทั้งชนิดที่ไวและไม่ไวต่อฮอร์โมน มะเร็งระยะแพร่กระจายอาจไม่ใช่ทางตันในการรักษาอีกต่อไป และความก้าวหน้าทางการแพทย์อันไม่หยุดยั้งจะนำมาซึ่งความหวังใหม่ที่เส้นขอบฟ้าเสมอ
 
          มะเร็งต่อมลูกหมากถือเป็นมะเร็งในเพศชายที่พบมากเป็นอันดับสองรองจากมะเร็งปอด โดยผู้ป่วยมักจะมาพบแพทย์ด้วยปัญหาการปัสสาวะที่ผิดปกติ แนวทางการวินิจฉัยหลักคือการเจาะเลือดตรวจหาสาร PSA ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่ง หากค่า PSA เกินกว่ากำหนด แพทย์ก็จะตรวจยืนยันระยะของโรคด้วยวิธีการอื่นๆ ต่อไป

          การตัดต่อมลูกหมากออกถือเป็นวิธีการที่นิยมในผู้ป่วยมะเร็งขั้นต้น และเนื่องจากมะเร็งต่อมลูกหมากอาศัยฮอร์โมนเพศชาย (androgen) ในการเติบโต แพทย์จึงอาจแนะนำให้ตัดลูกอัณฑะออก เพื่อกำจัดแหล่งผลิตฮอร์โมนดังกล่าวเสียแต่ต้น นอกจากนี้ผู้ป่วยยังอาจได้รับยากดฮอร์โมน เคมีบำบัด หรือรังสีรักษา ไม่ว่าจะด้วยการฉายรังสีหรือการฝังแร่ร่วมด้วย

          อย่างไรก็ตาม การลดฮอร์โมน อันถือเป็นวิธีรักษาหลักนั้น แทบจะไม่ได้ผลในกรณีของ “มะเร็งต่อมลูกหมากที่ดื้อต่อการรักษาด้วยการลดฮอร์โมน” (castrate-resistant prostate cancer [CRPC]) ซึ่งยังคงลุกลามได้แม้ระดับฮอร์โมนในร่างกายจะต่ำมาก ส่งผลให้ผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวมีโอกาสรอดชีวิตต่ำตามไปด้วย แต่การศึกษาใหม่ล่าสุดซึ่งนำเอาหลักการของการรักษาแบบเฉพาะจุด (targeted therapy) มาประยุกต์เข้ากับการใช้รังสีฆ่าเซลล์มะเร็งที่ใช้การมายาวนาน ก็ให้ผลที่น่าตื่นเต้นเลยทีเดียว

          สารรังสีที่ใช้ในการศึกษานี้มีชื่อว่า lutetium-177 (177Lu)-PSMA-617 (Endocyte) ซึ่งประกอบด้วยสารรังสี (lutetium-177) กับโมเลกุลขนาดจิ๋วที่มีความจำเพาะต่อโปรตีนชนิดหนึ่งบนผิวเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากสูง เมื่อโมเลกุลดังกล่าวจับกับโปรตีนบนผิวเซลล์มะเร็ง มันจะเปิดทางให้ Lu-177 ปล่อยรังสีเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากเพื่อลดขนาดและหยุดการแพร่กระจายของเซลล์ได้โดยตรง และความจำเพาะเจาะจงนี้ ก็ทำให้เซลล์อื่นๆ ได้รับผลข้างเคียงน้อยตามไปด้วย โดยนพ.ฮอฟแมน จากศูนย์มะเร็ง Peter MacCallum แห่งออสเตรเลีย หัวหน้าทีมผู้วิจัย ถึงกับกล่าวว่า “ในการศึกษาครั้งนี้ เราได้รักษาผู้ป่วยที่ตามปกติแล้วทำได้เพียงรักษาแบบประคับประคอง (palliative care)” เลยทีเดียว

          แต่นอกเหนือจากรังสีรักษาเฉพาะจุดที่ยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาแล้ว เราก็ยังมี enzalutamide และ apalutamide ซึ่งเป็นยารักษามะเร็งเฉพาะจุด (targeted therapy) ที่ผ่านการอนุมัติให้ใช้ได้ทั้งในผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากทั้งที่ไวและที่ดื้อต่อการรักษาด้วยการลดฮอร์โมน ยาสองตัวนี้จะเข้าไปจับกับตัวรับแอนโดรเจนบนผิวเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมาก เพื่อขัดขวางไม่ให้เซลล์มะเร็งได้รับการกระตุ้นจากฮอร์โมนดังกล่าว และตายไปในที่สุด การศึกษาพบว่ายาทั้งสองตัวนี้สามารถชะลอความจำเป็นในการรักษาด้วยเคมีบำบัดออกไปได้ และยืดอายุของผู้ป่วยได้อย่างมีนัยสำคัญ
ข่าวสารล่าสุดเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า มะเร็งต่อมลูกหมากระยะแพร่กระจาย โดยเฉพาะที่ดื้อต่อการรักษาด้วยการลดฮอร์โมน อาจไม่ใช่ทางตันในการรักษาอีกต่อไป และความก้าวหน้าทางการแพทย์อันไม่หยุดยั้งจะนำมาซึ่งความหวังใหม่ที่เส้นขอบฟ้าเสมอ

 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

รังสีรักษาเฉพาะจุด: อีกก้าวกระโดดของเทคโนโลยีรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก
คะแนนโหวต 8 of 10, จากจำนวนคนโหวต 9 คน

Related Health Blogs