bih.button.backtotop.text

One World, One Home, One Heart

เนื่องในโอกาสวันที่ 29 กันยายน 2555 ที่จะถึงนี้เป็น "วันหัวใจโลก (World Heart Day 2012)" ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทุกคนตื่นตัวในการดูแลสุขภาพหัวใจของตนเอง รวมถึงคนในครอบครัว โดยการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เพื่อให้ตระหนักถึงอันตรายจากโรคหัวใจและหลอดเลือด ทราบวิธีการป้องกันและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่จะช่วยให้หัวใจมีสุขภาพที่ดี HealthSpot ขอเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมรณรงค์ให้ความรู้ เพื่อการมีสุขภาพหัวใจที่ดีไปยาวนาน

 

เนื่องในโอกาสวันที่ 29 กันยายน 2555 ที่จะถึงนี้เป็น "วันหัวใจโลก (World Heart Day 2012)" ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทุกคนตื่นตัวในการดูแลสุขภาพหัวใจของตนเอง รวมถึงคนในครอบครัว โดยการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เพื่อให้ตระหนักถึงอันตรายจากโรคหัวใจและหลอดเลือด ทราบวิธีการป้องกันและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่จะช่วยให้หัวใจมีสุขภาพที่ดี
 
HealthSpot ขอเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมรณรงค์ให้ความรู้ เพื่อการมีสุขภาพหัวใจที่ดีไปยาวนาน
 

กิจกรรมเนื่องในวันหัวใจโลก

ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จัดกิจกรรม “เสริมสร้างหัวใจให้แข็งแรง” ในวันศุกร์ที่ 28 กันยายน 2555 เวลา 10.00-14.00 น. ณ สกายล็อบบี้ ชั้น 10 อาคารบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล คลินิก โดยมีกิจกรรมการบรรยายให้ความรู้เรื่อง “การสร้างภูมิคุ้มกันหัวใจให้ห่างไกลภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย” พร้อมสาธิตเมนูอาหารเพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ วิธีออกกำลังกายเพื่อสุขภาพหัวใจ ให้บริการประเมินความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ และคำปรึกษาเกี่ยวกับโรคหัวใจ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย


 

โรคหัวใจ หนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี และภาวะหนึ่งซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตที่สำคัญ คือ "ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน"
 
ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (acute myocardial infarction) เป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดอย่างรุนแรงและเฉียบพลัน โดยสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการปริแตกของคราบไขมันที่ก่อตัวสะสมเกาะอยู่ตามผนังหลอดเลือดแดงโคโรนารี ส่งผลให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือด
 
อาการแสดงของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันที่สามารถสังเกตได้ ได้แก่ เจ็บหน้าอกรุนแรงอย่างทันทีทันใด โดยจะเจ็บแน่นบริเวณทรวงอกซ้ายหรือกระดูกลิ้นปี่ร้าวไปที่หัวไหล่และแขนซ้าย ระยะเวลาในการเจ็บครั้งหนึ่งนานเกิน 30 นาทีและอาการไม่บรรเทาลงเมื่อใช้ยาอมใต้ลิ้น โดยอาการเจ็บแน่นหน้าอกมักเกิดร่วมกับอาการช็อก เหงื่อออกท่วมตัว ตัวเย็น ใจสั่น หน้ามืด เป็นลม หมดสติ นอกจากนี้อาจมีอาการอื่นๆ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เหนื่อยหอบ ไอ และ/หรือมีอาการเขียวร่วมด้วย หากมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้น ควรรีบพบแพทย์ทันที
 
ทั้งนี้ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันมีทั้งปัจจัยที่แก้ไขได้และปัจจัยที่แก้ไขไม่ได้ โดยปัจจัยเสี่ยงที่แก้ไขไม่ได้ ได้แก่ อายุ มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงของการเกิดโรคและทำให้โรคมีความรุนแรง ในเพศชายอายุมากกว่า 45 ปี และในเพศหญิงอายุมากกว่า 55 ปี เพศ เพศชายจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมากกว่าเพศหญิง และมีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจก่อนอายุ 50 ปี  
 
สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่แก้ไขได้ ได้แก่ การสูบบุหรี่ ความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคอ้วน การขาดการออกกำลังกาย และความเครียด ซึ่งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เหล่านี้ส่งผลทำให้เกิดหลอดเลือดแดงแข็งตัว เป็นเหตุให้ขาดเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ    
 
จะเห็นได้ว่า ปัจจัยเสี่ยงที่แก้ไขได้ส่วนใหญ่แล้วล้วนเกิดจากพฤติกรรมสุขภาพทั้งสิ้น ดังนั้นเพื่อสุขภาพที่ดีของหัวใจและป้องกันการเกิดโรค สามารถเริ่มต้นได้จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ด้วยการงดสูบบุหรี่ เลือกรับประทานอาหารสุขภาพที่ดีต่อหัวใจ ออกกำลังกายและทำกิจกรรมเพื่อเคลื่อนไหวร่างกายสม่ำเสมอ รวมถึงหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำ 


 

For more information please contact:
Last modify: April 05, 2022