การผ่าตัดปลูกถ่ายไต คือ การรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย โดยการรับไตจากผู้อื่น ซึ่งแหล่งที่มาของไตแบ่งออกเป็นจาก ผู้บริจาคที่เสียชีวิตหรือที่ยังมีชีวิตอยู่ ทั้งนี้ผู้บริจาคที่มีชีวิตจะต้องเป็นสมาชิกในครอบครัวและมีผลเลือดเข้ากันได้ การผ่าตัดปลูกถ่ายไตในลักษณะนี้เรียกว่า การผ่าตัดปลูกถ่ายไตแบบผู้บริจาคมีชีวิต ซึ่งผู้บริจาคไตสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ตามปกติด้วยไตที่เหลืออยู่หนึ่งข้าง
การผ่าตัดปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคที่มีชีวิต (Living Donor)
ปลูกถ่ายเร็วกว่า ถ้ารับไตจากญาติหรือคู่สมรส
ในกรณีที่ผู้ป่วยรับไตจากผู้บริจาคที่ยังมีชีวิตอยู่ ผู้บริจาคจะต้องมีความสัมพันธ์กับผู้รับบริจาคข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้
1. มีความสัมพันธ์ทางสายเลือด ได้แก่ บิดาหรือมารดา บุตร พี่น้องที่เกิดจากบิดามารดาเดียวกัน หรือพี่น้องต่างบิดาหรือมารดา ลุง ป้า น้า อา หลาน หรือลูกพี่ลูกน้อง
2. สามี/ภรรยาที่จดทะเบียนสมรสกันมาไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือมีบุตรด้วยกันอย่างน้อย 1 คน
การผ่าตัดปลูกถ่ายไตในกรณีนี้สามารถทำได้ทันทีที่ผู้ป่วยและผู้บริจาคมีความพร้อม และทำได้ตั้งแต่ผู้ป่วยยังไม่เริ่มฟอกเลือดหรือล้างไต
โดยผู้บริจาคจะต้องรับการตรวจอย่างละเอียด คือ
- การตรวจร่างกาย
- การตรวจเลือด เพื่อดูชนิดและการเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อ (HLA typing and cross matching)
- ตรวจหาไวรัสหรือโรคติดเชื้ออื่นๆ เช่น ไวรัสตับอักเสบเอ บี ซี เชื้อซิฟิลิส เชื้อไวรัสเอชไอวี
- เข้ารับการเอกซเรย์ อัลตราซาวนด์ และการตรวจวินิจฉัยพิเศษอื่นๆ ตามที่แพทย์กำหนด
- ตรวจประเมินสภาพจิตใจและจิตสังคมโดยจิตแพทย์ เพื่อดูความพร้อมและความสมัครใจของการบริจาค
หากไม่พบปัญหาใดๆ ผู้บริจาคก็จะสามารถบริจาคไต 1 ข้างให้กับผู้ป่วยได้ ซึ่งเมื่อบริจาคไตแล้ว ผู้บริจาคสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ตามปกติด้วยไตอีกข้างที่เหลืออยู่ โดยระดับของเสียในเลือดยังคงอยู่ในเกณฑ์ปกติ
การผ่าตัดปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคที่มีชีวิต มีข้อดีมากกว่าการรับบริจาคจากผู้เสียชีวิต เพราะ
- ไม่ต้องใช้เวลาในการรอไตนาน
- สามารถวางแผนการผ่าตัดได้
- มีอัตราการปลูกถ่ายที่ประสบผลสำเร็จมากกว่า เนื่องจากเนื้อเยื่อเหมือนกันมากกว่า ช่วงเวลาที่ไตขาดเลือดก่อนนำมาปลูกถ่ายค่อนข้างสั้น หลังผ่าตัดไตมักจะทำงานทันที โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ น้อยกว่า และไตสามารถทำงานต่อไปได้ยาวนานกว่า
การผ่าตัดปลูกถ่ายไตจากผู้เสียชีวิต (Deceased Donor)
แน่นอนว่าการผ่าตัดปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคที่มีชีวิตอยู่นั้นมีข้อดีมากมาย แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ได้มีญาติที่พร้อมจะบริจาคไตให้ได้ ทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่จึงเป็นการสมัครขอรับไตบริจาคจากผู้เสียชีวิตสมองตายจากศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้
- ติดต่อลงทะเบียนสมัครรอรับไตบริจาค กับโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองจากศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทยว่าสามารถผ่าตัดปลูกถ่ายไตได้ โดยเลือกลงทะเบียนเพียงแห่งใดแห่งหนึ่งเท่านั้น
- โรงพยาบาลจะนัดหมายตรวจร่างกายโดยละเอียด เพื่อประเมินความพร้อมและตรวจดูชนิดของเนื้อเยื่อ (HLA Typing)
- โรงพยาบาลนำข้อมูลผู้ป่วยส่งไปยังศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย เพื่อรอการติดกลับเมื่อถึงคิวที่จะได้รับไตบริจาค โดยผู้ป่วยจะได้รับไตจาก 2 กรณีคือ
- พิจารณาตามเกณฑ์ best match หรือการจัดสรรไตให้กับผู้ป่วยที่มีคะแนนสูงสุดจากการคำนวณตามเกณฑ์การจัดสรรไตของศูนย์รับบริจาคอวัยวะ ซึ่งประกอบด้วยปัจจัยต่างๆ เช่น ความเหมือนกันของเนื้อเยื่อ อายุ ระยะเวลาการฟอกเลือดหรือล้างไต เป็นต้น
- ได้รับไตที่จัดสรรให้กับผู้ป่วยของโรงพยาบาลที่เป็นทีมทำผ่าตัดนำอวัยวะออก (procurement team)
- ผู้ป่วยจะต้องเตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอเพื่อไม่ให้พลาดโอกาสที่จะได้รับการเปลี่ยนไต เช่น ต้องดูแลร่างกายให้แข็งแรง เข้ารับการฟอกเลือดหรือล้างไตตามแผนการรักษาปกติ รวมถึงวางแผนการเดินทางมายังโรงพยาบาลทันทีที่ได้รับการติดต่อสำหรับการผ่าตัดด่วน
เรียบเรียงโดย
ศูนย์โรคไต โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 24 กุมภาพันธ์ 2566