bih.button.backtotop.text

การผ่าตัดส่องกล้องเอ็นโดสโคปแก้ปัญหากระดูกสันหลังทับเส้นประสาท อีกหนึ่งทางเลือกของคนกลัวการผ่าตัดใหญ่

การผ่าตัดส่องกล้องเอ็นโดสโคปแก้ปัญหากระดูกสันหลังทับเส้นประสาท อีกหนึ่งทางเลือกของคนกลัวการผ่าตัดใหญ่

หากท่านผู้อ่านมีอายุเกิน 60ปีขึ้นไป หรือมีคนใกล้ชิดที่มีอาการชาขา หรือปวดขาขณะที่เดิน เดินได้ระยะทางสั้นลงเรื่อยๆ ต้องนั่งพักบ่อยๆ บทความนี้อาจช่วยท่านได้นะครับ

โรคนี้เป็นอย่างไร

Juvenile-1.jpg

ภาพ: กระดูกสันหลังที่เสื่อมลงจนทำให้เกิดการเบียดทับเส้นประสาท (สีเหลือง)

กระดูกสันหลังของเรามีโพรงประสาทที่มีลักษณะเหมือนท่อน้ำ โดยมีเส้นประสาทอาศัยอยู่ข้างใน ซึ่งเส้นประสาทบริเวณเอวนี้ก็จะทำหน้าที่บังคับกล้ามเนื้อขา และรับความรู้สึกของขาและเท้า เมื่อเราอายุมากขึ้น กระดูกก็มีการเสื่อมลงตามธรรมชาติ ร่างกายจะพยายามรักษาตัวเองด้วยการทำให้ตัวเองใหญ่ขึ้น หนาขึ้น เพื่อให้ตัวเองแข็งแรงขึ้น แต่การที่กระดูกและเส้นเอ็นใหญ่ขึ้นนี้กลับไม่ได้มีแต่ข้อดี เพราะมันทำให้โพรงของเส้นประสาทนั่นตีบแคบลงไปด้วยนั่นเอง

อาการของโรคนี้จะทำให้เกิดอาการชาขา ปวดขา หรือหนักขา ในเวลาที่มีการเดินไกลๆ พอได้นั่งพักงอตัวให้โพรงประสาทใหญ่ขึ้น อาการก็จะดีขึ้นและก็จะเดินต่อได้ใหม่ เนื่องจากการตีบของโพรงประสาทนี้ดำเนินไปอย่างช้ามากๆ ในช่วงแรกอาจมีอาการน้อยหรือแทบไม่มีอาการเลยก็เป็นได้ เมื่อโพรงประสาทแคบมากๆ เข้าก็จะทำให้ระยะที่เดินได้สั้นลงเรื่อยๆ เดินได้แค่ไม่กี่ก้าวก็ต้องพักแล้ว

โรคนี้จริงๆ แล้วเป็นโรคที่ไม่อันตราย และพบได้บ่อยมาก โดยเฉพาะเมื่อโลกของเรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เรายิ่งจะได้พบโรคนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างแน่นอน

การรักษา

โรคนี้เป็นโรคของความเสื่อม และไม่อันตราย เราจึงมักจะเริ่มการรักษาด้วยการรักษาแบบไม่ผ่าตัดก่อนเสมอ นอกเสียจากมาตรวจพบในวันที่มีอาการหนักแล้ว คนไข้สามารถเริ่มจากการรับประทานยาและการกายภาพบำบัดก่อนได้หากอาการไม่ได้รุนแรงนัก แล้วจึงมาตามดูผลการรักษาเป็นระยะๆ

เมื่อไรควรพิจารณาผ่าตัด

Juvenile-2.jpg
 

ภาพ: กระดูกสันหลังทับเส้นประสาททำให้เกิดอาการชาขา ปวดขาขณะเดิน
ทำให้ระยะทางที่เดินได้สั้นลงเรื่อยๆ ต้องนั่งพักบ่อยๆ

โรคนี้ถึงแม้ไม่อันตราย แต่สามารถส่งผลต่อคุณภาพชีวิตได้มากพอสมควร คำถามสำคัญที่ผมใช้ช่วยคนไข้เพื่อตัดสินใจคือ ตอนนี้มีกิจกรรมอะไรที่อยากทำ แต่ทำไม่ได้เพราะอาการปวดนี้มาขัดขวางหรือไม่ และได้ลองรักษามาก่อนแต่ไม่เป็นผลใช่หรือไม่ ถ้าคำตอบคือใช่ บางทีการผ่าตัดที่แผลเล็กเท่าปลายนิ้วก้อยอาจช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้

ไม่อยากผ่าตัดใหญ่ ทำอย่างไร

การผ่าตัดผ่านกล้องปัจจุบันถือเป็นมาตรฐานของการผ่าตัดโรคนี้แล้วในโรงพยาบาลใหญ่ที่มีแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกสันหลังโดยตรง สำหรับเทคนิคที่แผลผ่าตัดจะเล็กที่สุดก็คือการผ่าตัดผ่านกล้องเอ็นโดสโคป โดยที่แผลจะมีขนาดประมาณ 5มิลลิเมตร เนื่องจากไม่มีการเลาะกล้ามเนื้อออกจากกระดูกเลย ผู้ป่วยจึงฟื้นตัวได้เร็ว เดินได้ทันทีหลังผ่าตัดและพักฟื้นในโรงพยาบาลเพียงแค่ 1คืนก็สามารถกลับบ้านแล้ว

 

ผ่าตัดแผลเล็กนิดเดียวอันตรายกว่าผ่าตัดเปิดแผลใหญ่หรือไม่

กล้องเอ็นโดสโคปที่เราใช้ในปัจจุบันมีความละเอียด 4K โดยมีใยแก้วนำแสงอยู่ที่ปลายของกล้อง ขณะผ่าตัดจึงเปรียบเสมือนว่าตาของแพทย์เข้าไปอยู่ในตัวของคนไข้ ภาพที่เห็นจึงชัดเจนกว่าผ่าตัดด้วยตาเปล่า และทำให้การผ่าตัดปลอดภัยกว่านั่นเอง

การผ่าตัดทำอย่างไร

Juvenile-3.jpg

ภาพ: การผ่าตัดสามารถทำผ่านกล้องเอ็นโดสโคป 4K
ทำให้เห็นรายละเอียดชัดเจนผ่านแผลผ่าตัดขนาดราวปลายนิ้วก้อย

 

แพทย์จะสอดเครื่องมือเล็กๆ ผ่านกล้องเอ็นโดสโคปเข้าไปเพื่อเจียระไนข้อกระดูกบางส่วนและเล็มเส้นเอ็นที่มีความหนาผิดปกติออกเพื่อให้โพรงประสาทกว้างขึ้นไม่ให้เส้นประสาทโดนทับ ส่วนใหญ่ใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมงซึ่งอาจมีความแตกต่างกันบ้างขึ้นกับความรุนแรงของการกดทับเส้นประสาท

 

ผลการผ่าตัดเป็นอย่างไร

Juvenile-4.jpg

ภาพเปรียบเทียบโพรงประสาทก่อน (ซ้าย) และหลังการผ่าตัด (ขวา)

 

เนื่องจากอาการเจ็บแผลผ่าตัดจะน้อยมาก คนไข้จึงสามารถรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงของอาการปวดเส้นประสาทได้ในทันทีหลังผ่าตัด เริ่มกิจวัตรประจำวันตามปกติได้ทันทีและออกจากโรงพยาบาลได้ในวันถัดไป

 

เกี่ยวกับผู้เขียน

Juvenile-5.jpg

หมอเข้ม หรือ น.พ. วิธวินท์ เกสรศักดิ์ เรียนจบเฉพาะทางทางด้านประสาทศัลยศาสตร์ ที่ร.พ. รามาธิบดี และได้ไปเรียนต่อยอดด้านการผ่าตัดกระดูกสันหลังด้วยการส่องกล้องเอ็นโดสโคปที่ประเทศเยอรมนี และประเทศอังกฤษ ปัจจุบันนอกจากหมอเข้มจะทำงานเป็นศัลยแพทย์ด้านกระดูกสันหลังประจำที่ร.พ. บำรุงราษฎร์ แล้วยังเป็นแพทย์ผู้ฝึกสอนการผ่าตัดด้วยเทคนิคเอ็นโดสโคปในประเทศเยอรมนี และเป็นผู้บรรยายอิสระให้กับ AOspine ซึ่งเป็นองค์กรการศึกษาแบบไม่แสวงผลกำไรในระดับนานาชาติอีกด้วย


 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs