Gen Z (อายุ 24 ปีและต่ำกว่า) เป็นวัยหนุ่มสาวในช่วงเริ่มต้น เป็นช่วงเวลาแห่งความสนุกสนานและการเริ่มวางแผนอนาคต ในวัยนี้การดูแลรักษาสุขภาพกับการป้องกันก่อนเกิดโรคเป็นเรื่องที่ควรให้ความใส่ใจ เพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรงอย่างยืนยาว ถึงแม้ Gen Z จะมีปัญหาสุขภาพน้อยกว่าวัยอื่น ๆ แต่อาจเป็นวัยที่เริ่มมีปัญหาสุขภาพจากการใช้ชีวิตและความเครียดจากปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ได้
ปัญหาสุขภาพที่มาพรัอมกับเทคโนโลยี
Gen Z เป็น gen แรกที่เรียกได้ว่าเป็น “digital natives” เพราะเกิดขึ้นมาพร้อมกับโลกที่มีเทคโนโลยีใช้อย่างแพร่หลาย ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมีผลกระทบกับ Gen Z ทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ ถึงแม้เทคโนโลยีจะช่วยให้หาข้อมูลความรู้ได้ง่ายแต่การใช้การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นเวลานาน ๆ อาจทำให้ Gen z เกิดภาวะเจ็บป่วยต่าง ๆ ได้ เช่น อาการตาล้า ตาแห้ง เป็นโรคไหล่ห่อคอตก การอักเสบของพังผืดบริเวณข้อมือ หูอื้อหรือสูญเสียการได้ยินจากการใช้หูฟังเสียงดังเป็นเวลานาน
ปัญหาสุขภาพจิตจากปัจจัยแวดล้อม
ผลการสำรวจของสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (American Psychological Association) พบว่า Gen Z มีความเครียดและความวิตกกังวลสูงกว่าวัยอื่น ๆ เนื่องจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น การอยู่กับหน้าจอมากเกินไปทำให้รู้สึกโดดเดี่ยว การเสพข่าวสารในแง่ลบมากเกินไป ปัญหาทางเศรษฐกิจและการเกิดโรคระบาดที่ส่งผลกระทบต่อประสบการณ์การเรียนและการเข้าสังคม
ปัญหาสุขภาพจากการใช้ชีวิต
ถึงแม้ Gen Z จะให้ความสำคัญกับการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพมากกว่า gen อื่น ๆ แต่ก็มีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น อาหารจานด่วน การบริโภคอาหารจานด่วนบ่อยครั้งทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคหลอดเลือดหัวใจมากขึ้น นอกจากนี้จากการศึกษาเรื่องการนอนหลับในประเทศอังกฤษและประเทศอเมริกาพบว่ามี Gen Z เพียง 35% เท่านั้นที่นอนหลับมากกว่า 7 ชั่วโมงต่อคืน สาเหตุจากการอยู่กับหน้าจอมากเกินไปและความวิตกกังวลต่าง ๆ
Gen Z ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพ อย่างไรก็ตามการปรับรูปแบบการใช้ชีวิตบางอย่าง การรับรู้ความเสี่ยงด้านสุขภาพ รวมถึงการวางแผนป้องกันโรคแต่เนิ่น ๆ สามารถลดปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้
✔️ ใช้เทคโนโลยีอย่างสมดุล
ด้วยการทำดิจิทัลดีท็อกซ์หรือการลดการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และหันไปทำกิจกรรมอย่างอื่น เช่น การพบปะเพื่อนแบบเห็นหน้า การออกกำลังกาย การอยู่กับธรรมชาติ การทำสมาธิ จะช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวลได้ดี นอกจากนี้การพักสายตาจากหน้าจออย่างน้อย 1 ชั่วโมงก่อนเข้านอน จะทำช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น และเป็นการป้องกันอันตรายจากการใช้สายตาและการใช้หูฟังมากเกินไป
✔️ ดูแลสุขภาพจิต
Gen Z ยอมรับและเปิดเผยถึงปัญหาสุขภาพจิตมากกว่าวัยอื่น ๆ แต่ก็มีแนวโน้มที่จะแสวงหาความช่วยเหลือทางด้านสุขภาพจิตน้อยกว่าวัยอื่น การเรียนรู้ในการจัดการกับความเครียดและความวิตกกังวล รวมถึงการขอความช่วยเหลือจากครอบครัวและผู้เชี่ยวชาญจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะซึมเศร้าได้
✔️ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต
ถึงแม้ Gen Z จะต้องการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และหลายคนเลือกรับประทานเนื้อน้อยลง แต่ก็ยังชอบรับประทานของหวานและขนมขบเคี้ยว ควรเลือกรับประทานอาหารที่หลากหลายมีประโยชน์ครบ 5 หมู่ รวมถึงควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 7-9 ชั่วโมงต่อวัน หากมีปัญหาการนอนไม่หลับเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจร่างกายและรักษา
✔️ วางแผนป้องกันโรคแต่เนิ่น ๆ
ทำได้หลายวิธีตั้งแต่การตรวจร่างกายประจำปีและการตรวจยีนเพื่อค้นหาความเสี่ยงของโรคร้าย รวมถึงตรวจยีนแพ้ยาเพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงจากการแพ้ยารุนแรง