bih.button.backtotop.text

โรคกระดูกพรุน

โรคกระดูกพรุน เป็นภาวะที่กระดูกทั่วร่างกายมีมวลกระดูกลดน้อยลงและมีการเสื่อมสลายของเนื้อเยื่อกระดูก จนทำให้กระดูกเปราะบางและแตกหักง่ายกว่าปกติ

โรคกระดูกพรุน
โรคกระดูกพรุน เป็นภาวะที่กระดูกทั่วร่างกายมีมวลกระดูกลดน้อยลงและมีการเสื่อมสลายของเนื้อเยื่อกระดูก จนทำให้กระดูกเปราะบางและแตกหักง่ายกว่าปกติ เซลล์กระดูกมีทั้งเซลล์เสริมสร้างกระดูกใหม่และเซลล์ทำลายกระดูกเก่า โดยกระบวนการของการสร้างกระดูกใหม่และการทำลายกระดูกเก่าเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นและดำเนินไปพร้อมๆ กันอย่างต่อเนื่อง

ในการเจริญเติบโตของคนเราจะมีการสะสมเพิ่มปริมาณของมวลกระดูกอยู่ตลอดเวลา เห็นได้จากการที่เด็กโตขึ้นสูงใหญ่ขึ้น การสะสมของมวลกระดูกจะเร็วหรือช้าต่างกันในแต่ละช่วงอายุ ในช่วงก่อนเข้าสู่วัยรุ่นจะมีการเจริญและสะสมมวลกระดูกมากและเร็วที่สุด หลังจากนั้นการสะสมของมวลกระดูกจะเริ่มช้าลง จนเมื่อเข้าสู่ช่วงที่เป็นผู้ใหญ่เต็มที่อายุ 25-30 ปี การสะสมของมวลกระดูกจะหยุดลง มวลกระดูกจะคงที่อยู่เช่นนั้นช่วงเวลาหนึ่ง จนถึงช่วงอายุประมาณ 35-40 ปี ระดับมวลกระดูกจะเริ่มลดลงอย่างช้าๆ ประมาณร้อยละ 0.5-1 ต่อปีทั้งในเพศหญิงและเพศชาย แต่ในเพศหญิงภาวะหมดประจำเดือนจะเป็นตัวเร่งทำให้เกิดการสูญเสียมวลกระดูกเร็วขึ้นถึงร้อยละ 3-5 ต่อปี
 
  • การไม่ได้รับแคลเซียมที่เพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวัยเด็กและวัยหนุ่มสาว ซึ่งเป็นช่วงที่ควรสร้างความหนาแน่นของกระดูกมากที่สุด
  • กรรมพันธุ์ ซึ่งควรจะพิจารณาถึงบุคคลในครอบครัว เช่น พ่อ แม่ ปู่ ยา ตา ยาย ถ้าท่านเหล่านั้นมีประวัติของโรคกระดูกพรุนอย่างชัดเจน โอกาสที่บุตรหลานจะเกิดภาวะกระดูกพรุนก็มากขึ้น นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับลักษณะในการรับประทานอาหารและการออกกำลังกาย
  • การใช้ยาสำหรับโรคบางอย่างที่ส่งผลต่อการลดความหนาแน่นของกระดูก เช่น สเตียรอยด์สำหรับโรคไขข้ออักเสบและโรคหืด ยาเฮปารินเพื่อละลายลิ่มเลือด รวมถึงการรักษาโดยการฉายรังสีหรือการให้สารเคมีก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่มีการทำลายเซลล์กระดูก ซึ่งนำไปสู่โรคกระดูกพรุน
  • การสูบบุหรี่และการดื่มสุราเป็นประจำจะลดประสิทธิภาพการดูดซึมธาตุแคลเซียมในร่างกาย ทำให้กระดูกเสื่อมและหดลงเร็ว
  • การดื่มกาแฟมากๆ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น โค้ก ชา เป็นต้น ทำให้กระดูกเสื่อมง่ายขึ้น 
  • การลดลงของฮอร์โมนเพศหญิงในหญิงวัยหมดประจำเดือนและฮอร์โมนเพศชายในชายวัยทอง ทำให้ประสิทธิภาพในการดูดซึมแคลเซียมในร่างกายลดลง เป็นสาเหตุให้เกิดโรคกระดูกพรุนเพิ่มขึ้น
  • การรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมต่ำในวัยชราเป็นสาเหตุให้เกิดโรคกระดูกพรุนเพิ่มขึ้น
  • การไม่เคลื่อนไหวหรือออกกำลังกายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยชราจะทำให้โรคกระดูกพรุนเกิดขึ้นรุนแรง การขาดการออกกำลังกายและการสูญเสียความแข็งแรงของกระดูกมักเกิดขึ้นในช่วงที่ไม่ได้เคลื่อนไหว เช่น ในขณะนั่งรถเข็นหรือนอนพักฟื้น
  • การขาดวิตามินดี เนื่องจากวิตามินดีมีความจำเป็นในการดูดซึมแคลเซียมไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเมื่อได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ
เนื่องจากโรคกระดูกพรุนมักไม่แสดงอาการจนกว่าจะเกิดกระดูกหัก จึงควรทราบว่ามีปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้างที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน ทั้งนี้มีปัจจัยเสี่ยงอยู่ 2 ประเภท คือ ปัจจัยเสี่ยงที่ปรับเปลี่ยนได้และปัจจัยเสี่ยงที่ปรับเปลี่ยนไม่ได้ ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงหลายปัจจัยจะมีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคกระดูกพรุนและมีโอกาสสูงที่จะเกิดกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน

ปัจจัยเสี่ยงที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะกระดูกพรุน
 
ปัจจัยเสี่ยงที่ปรับเปลี่ยนได้ ปัจจัยเสี่ยงที่ปรับเปลี่ยนไม่ได้
  • รับประทานอาหารแคลเซียมไม่เพียงพอ
  • ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย
  • สูบบุหรี่เป็นประจำ
  • ดื่มสุราปริมาณมากเป็นประจำ
  • ดื่มกาแฟปริมาณมากเป็นประจำ
  • มีภาวะขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนก่อนเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน
  • มีดัชนีมวลกายต่ำกว่า 19 กิโลเมตร/ตารางเมตร
  • มีอายุมาก (ตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป)
  • เป็นเพศหญิง
  • เป็นผู้หญิงผิวขาว ชาวเอเซีย
  • หมดประจำเดือนเร็วก่อนอายุ 45 ปี
  • มีโครงร่างเล็ก
  • มีภาวะขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนก่อนเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน
  • มีพยาธิสภาพต้องผ่าตัดเอารังไข่ออกก่อนวัยหมดประจำเดือน
แพทย์จะวินิจฉัยโรคกระดูกพรุนโดยทำการทดสอบที่เรียกว่า bone mineral density test ซึ่งเป็นการตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูก สามารถวินิจฉัยโรคกระดูกพรุนโดยตรงและได้ผลถูกต้องแม่นยำ การทำทดสอบนี้ซ้ำๆ ในช่วงระยะเวลาหนึ่งจะสามารถบอกได้ถึงอัตราการสูญเสียสารแร่ในกระดูกหรืออัตราของการได้รับสารแร่กลับคืน
 
ผลของการตรวจจะได้ออกมาเป็นตัวเลขที่มีความหมายดังนี้
  • T-score เท่ากับ 0.0 คือ ค่าเฉลี่ยปกติโดยทั่วไปสำหรับผู้ใหญ่
  • T-score อยู่ระหว่าง -1.0 ถึง +1.0 หมายถึงผลปกติ
  • T-score อยู่ระหว่าง -1.0 ถึง -2.5 หมายถึงมีภาวะกระดูกบางผิดปกติแต่ยังไม่นับว่ากระดูกพรุน
  • T-score น้อยกว่า -2.5 หมายถึงเป็นโรคกระดูกพรุน
การดำเนินของโรคกระดูกพรุนจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งหากทราบตั้งแต่ระยะแรกเริ่มก็สามารถชะลอหรือป้องกันไม่ให้กระดูกพรุนมากขึ้นได้ แต่เนื่องจากโรคกระดูกพรุนส่วนใหญ่จะไม่มีอาการใดๆ ปัญหาที่พบคือผู้ป่วยจะมาพบแพทย์เมื่อกระดูกหักแล้ว ซึ่งหมายถึงมีการดำเนินโรคไปมากพอสมควรแล้วนั่นเอง
 
โรคกระดูกพรุนอาจไม่ใช่โรคที่เป็นสาเหตุแห่งการเสียชีวิตโดยตรง แต่เป็นจุดเริ่มต้นของโรคที่จะตามมาอีกหลายโรคโดยเฉพาะกระดูกหัก จากข้อมูลของคนไทยพบว่าภายหลังจากที่กระดูกสะโพกหัก ผู้ป่วยประมาณ 1 ใน 6 มักเสียชีวิตภายในปีแรก และจากการติดตามผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักเป็นเวลา 5 ปี พบว่ากระดูกสะโพกหักเป็นสาเหตุที่ทำให้อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยสูงถึงประมาณ 30% ของผู้ป่วยทั้งหมด เพราะเมื่อกระดูกพรุนและเกิดกระดูกหักตามมา โดยเฉพาะกระดูกสะโพก ผู้ป่วยจะเดินไม่ได้และจะเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ตามมา คุณภาพชีวิตก็ลดลง เป็นภาระต่อผู้ดูแล เพราะฉะนั้นผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงชัดเจนจึงควรให้ความสนใจกับโรคกระดูกพรุนและหาวิธีการป้องกันตั้งแต่ยังไม่เกิดโรค
การรักษาโรคกระดูกพรุน แบ่งเป็น 2 วิธี ได้แก่ 
  • การรักษาด้วยยา ปัจจุบันยาที่ใช้รักษาโรคกระดูกพรุนมีหลายชนิด เช่น ยาต้านการสลายกระดูก (anti-resorptive drug) ยาเพิ่มการสร้างกระดูก (bone forming agent) และยาที่ออกฤทธิ์ทั้งต้านการสลายกระดูกและเพิ่มการสร้างกระดูก และการให้แร่ธาตุเสริมต่างๆ การรักษาโรคกระดูกพรุนจำเป็นต้องรับการรักษาเป็นระยะเวลานาน ผู้ที่พบว่ามีโรคกระดูกพรุนควรปรึกษาแพทย์เพื่อเลือกการรักษาที่เหมาะสมและติดตามผลการรักษากับแพทย์เป็นระยะ
  • การรักษาโดยไม่ใช้ยา ปฏิบัติเช่นเดียวกันกับการป้องกันโรคกระดูกพรุน
  • ออกกำลังกายโดยการลงน้ำหนักและมีการใช้แรงต้าน เช่น วิ่งเหยาะ เดินสลับวิ่ง เต้นแอโรบิก เดินขึ้นบันได ยกน้ำหนัก วอลเลย์บอล ฟุตบอล บาสเกตบอล กระโดดเชือก เป็นต้น ในกรณีผู้สูงอายุไม่ควรวิ่งหรือเล่นกีฬาหนักๆ แต่ควรออกกำลังกายที่เบาลง ได้แก่ เดินเร็วๆ เดินขึ้นบันได รำมวยจีน รำจี้กง รำไท่จี๋ และควรออกกำลังกายครั้งละอย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้งเป็นอย่างน้อย
  • รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมตามคำแนะนำของกรมอนามัย โดยให้ได้แคลเซียม 1,000 มิลลิกรัมต่อวันสำหรับผู้ที่มีอายุน้อยกว่าหรือเท่ากับ 50 ปี และ 1,200 มิลลิกรัมต่อวันสำหรับผู้ที่มีอายุ 51 ปีขึ้นไป หากไม่สามารถรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมได้มากพอก็ให้รับประทานยาเม็ดแคลเซียมแทนหรือรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียม
  • รับแสงแดดอย่างพอเพียงเพื่อให้ผิวหนังสร้างวิตามินดี ซึ่งจะช่วยให้ลำไส้ดูดซึมแคลเซียมได้ มีรายงานว่าการรับแสงแดดเพียง 30 นาที ผิวหนังจะสามารถสร้างวิตามินดีให้กับร่างกายได้ถึง 200 ยูนิต โดยเวลาที่เหมาะสม คือ 8.00-10.00 น. และ 15.00-17.00 น. หรืออาจต้องรับประทานวิตามินดีเสริมตามแผนการรักษาของแพทย์
  • ลดพฤติกรรมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน ปรับวิถีชีวิตให้มีกิจกรรมการเคลื่อนไหวทางกาย เช่น การเดินขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟต์
  • ควบคุมโรคเรื้อรังที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน เช่น ยาสเตียรอยด์ ยาหม้อ ยาชุด
  • ปรับสิ่งแวดล้อมเพื่อลดโอกาสการหกล้ม เช่น เก็บสายไฟไม่ให้เกะกะตามพื้นเพื่อมิให้สะดุดสายไฟ เช็ดพื้นที่เปียกน้ำทันที ติดแผ่นยางกันลื่นในพื้นห้องน้ำ ติดแสงไฟ เปลี่ยนแว่นสายตาหากมองภาพไม่ชัด
  • Faculty of Pharmacy, Madihol University. แคลเซียมกับโรคกระดูกพรุน ตอนที่ 1. Available from: https://pharmacy.mahidol.ac.th/en/knowledge/article/217/แคลเซียมกับโรคกระดูกพรุน-ตอนที่1/ [Accessed 4 February 2022].
  • American College of Rheumatology. Osteoporosis. Available from: https://www.rheumatology.org/I-Am-A/Patient-Caregiver/Diseases-Conditions/Osteoporosis [Accessed 4 February 2022].
  • Healthline. What Do You Want To Know about Osteoporosis? Available from: https://www.healthline.com/health/osteoporosis#risk-factors [Accessed 4 February 2022].
แก้ไขล่าสุด: 14 มกราคม 2568

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์รักษาที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์ต่อมไร้ท่อ เบาหวานและโภชนบำบัด

ดูเพิ่มเติม

คลินิกสุขภาพผู้สูงอายุนิวไลฟ์

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 9.90 of 10, จากจำนวนคนโหวต 140 คน

Related Health Blogs