bih.button.backtotop.text

ยาและการรักษาโรคไตเรื้อรัง

.

การรักษาโรคไตเรื้อรัง

รูปแบบของการรักษาโรคไตเรื้อรังขึ้นอยู่กับระยะของโรคและปัญหาด้านสุขภาพอื่นๆ ซึ่งแพทย์จะแนะนำให้ปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้

  • ควบคุมความดันโลหิต แพทย์อาจสั่งจ่ายยาเพื่อควบคุมความดันโลหิต ร่วมกับแนะนำให้ลดน้ำหนักส่วนเกินและจำกัดปริมาณเกลือในอาหาร โดยเป้าหมายของความดันโลหิตที่ดีคือ 130/80 มม.ปรอท
  • ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ โดยค่าน้ำตาลสะสม (HbA1C) ควรต่ำกว่า 7% ทั้งนี้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอย่างเข้มงวดจะช่วยชะลอการเสื่อมของไตได้
  • ควบคุมการรับประทานอาหารอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะโปรตีน แพทย์อาจแนะนำให้ปรึกษาโภชนากรหรือผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารซึ่งจะช่วยวางแผนการรับประทานอาหารที่ถูกต้อง ในปริมาณที่เหมาะสม และเพื่อควบคุมน้ำหนักได้ดี
  • รักษาภาวะโลหิตจาง ผู้ป่วยโรคไตอาจมีภาวะโลหิตจางร่วมด้วย แพทย์จะทำการรักษาภาวะโลหิตจางด้วยการให้ยาที่จะช่วยสร้างฮอร์โมนที่เรียกว่า อีพีโอ (erythropoiesis หรือ EPO) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดงให้กับร่างกาย เมื่อร่างกายมีฮอร์โมนอีพีโอไม่เพียงพอก็จะเกิดภาวะโลหิตจางในผู้ป่วยโรคไต ร่วมกับการให้ยาธาตุเหล็กเพื่อช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดง หากไม่มีธาตุเหล็กเพียงพอแล้ว การรักษาก็จะไม่ได้ผล
  • ป้องกันโรคเกี่ยวกับกระดูก โดยการรักษาระดับแคลเซียมและฟอสฟอรัสให้มีความสมดุล ฟอสฟอรัสเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นสำหรับเลือด เมื่อไตไม่สามารถทำงานได้ตามปกติแล้วจะเกิดการสะสมฟอสฟอรัสเป็นจำนวนมากในกระแสเลือด ซึ่งนำไปสู่การสูญเสียแคลเซียม ทำให้กระดูกเปราะบางและแตกหักง่าย ดังนั้น แพทย์อาจแนะนำให้จำกัดการรับประทานอาหารที่มีฟอสฟอรัส รับประทานยาที่ช่วยลดการดูดซึมของฟอสเฟต โดยรับประทานร่วมกับอาหารหรืออาหารว่าง และรับประทานวิตามินดีเสริม เพื่อช่วยป้องกันโรคเกี่ยวกับกระดูก
  • ออกกำลังกาย โดยต้องรับการพิจารณาจากแพทย์แล้วเท่านั้น
  • ป้องกันโรคหัวใจ ซึ่งหมายรวมถึงการรักษาโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และภาวะโลหิตจาง และลดระดับคอเลสเตอรอลด้วยหากว่าสูงเกินไป
  • หยุดสูบบุหรี่ หากยังสูบบุหรี่ ควรหยุดสูบ เนื่องจากการสูบบุหรี่ทำให้โรคหัวใจและโรคไตแย่ลง
  • เลิกรับประทานยาสมุนไพร เนื่องจากมีผลการการทดลองจากประเทศไต้หวันพบว่า ผู้ที่รับประทานยาสมุนไพรมีการเกิดโรคไตวายมากกว่าผู้ที่ไม่ได้รับประทานถึง 200-300%
  • พบแพทย์เป็นประจำ เพื่อทำการตรวจการทำงานของไต โปรตีนในปัสสาวะ สารอาหารที่ได้รับ รวมถึงประเมินภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากการเสื่อมของไต ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ถึงเรื่องผลการตรวจและจดบันทึกไว้

ผู้ป่วยโรคไตอาจได้รับยาหลายรายการ โดยมีเป้าหมายเพื่อชะลอการเสื่อมของไต และป้องกันและรักษาภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

การชะลอการเสื่อมของไต

  • ควบคุมการดำเนินของโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น ค่าความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือด และ fasting blood sugar ควรน้อยกว่า 130/85 มม.ปรอท และ 130 มก./ดล. ตามลำดับ
  • จำกัดอาหารโปรตีน
  • ใช้ยาเพื่อลดโปรตีนในปัสสาวะและควบคุมความดันโลหิต

การป้องกันและรักษาภาวะแทรกซ้อน

เนื่องจากไตทำหน้าที่ในการควบคุมสมดุลน้ำและเกลือแร่ ผลิตฮอร์โมนที่ช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดง ควบคุมสมดุลเกลือแร่แคลเซียมและฟอสฟอรัสที่มีส่วนในการสร้างและสลายของมวลกระดูก ผู้ป่วยที่มีระดับการทำงานของไตลดลงอยู่ในระยะที่ 3 ถึง 5 อาจพบภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนี้
  • ภาวะแทรกซ้อนทางโรคหลอดเลือดหัวใจ ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังมีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ เช่น ความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจวาย ไขมันในเลือดสูง ผู้ป่วยอาจได้รับยาหลายชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาลดไขมันในเลือด และยาป้องกันหลอดเลือดอุดตัน เพื่อควบคุมการดำเนินไปของโรคให้อยู่ตามเกณฑ์เป้าหมาย
  • ภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง เนื่องจากการที่ไตทำงานลดลงทำให้ไม่สามารถขจัดโพแทสเซียมออกทางปัสสาวะได้ ผู้ป่วยอาจมีอาการหัวใจเต้นผิดปกติ กล้ามเนื้ออ่อนแรง อ่อนเพลีย ผู้ป่วยควรเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น มะละกอ ลูกพรุน ผลไม้อบแห้ง กล้วย มะนาว องุ่น เป็นต้น ควบคู่ไปกับยาที่ใช้เพื่อลดระดับโพแทสเซียมในเลือด ซึ่งยาจะทำหน้าที่แลกเปลี่ยนโซเดียมหรือแคลเซียมที่อยู่ในยากับโพแทสเซียมในลำไส้และขับออกทางอุจจาระ โดยยามีผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยคือ ท้องผูก
  • ภาวะน้ำเกิน เนื่องจากไตไม่สามารถขจัดน้ำส่วนเกินออกจากร่างกายได้เท่ากับในคนปกติ อาจมีอาการแสดงคือบวมที่ขา หรืออาจทำให้เกิดภาวะน้ำคั่งที่ปอดได้ ผู้ป่วยควรจำกัดปริมาณเกลือที่รับประทานร่วมกับการใช้ยาขับปัสสาวะ
  • ภาวะโลหิตจาง ไตทำหน้าที่สร้างฮอร์โมน erythropoietin ที่กระตุ้นไขกระดูกให้สร้างเม็ดเลือดแดง ผู้ป่วยอาจได้รับฮอร์โมน erythropoietin ในรูปแบบฉีดเข้าใต้ผิวหนังร่วมกับธาตุเหล็กในรูปแบบรับประทานหรือแบบฉีด
  • ภาวะฟอสเฟตในเลือดสูง เกิดจากการที่ไตไม่สามารถขจัดฟอสเฟตออกจากร่างกาย อาจทำให้เกิดการคั่งของเกลือแคลเซียมฟอสเฟตและไปสะสมตามบริเวณต่างๆ ของหลอดเลือด ทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดตามมาได้ ผู้ป่วยควรจำกัดอาหารที่มีฟอสเฟตสูง เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ ถั่วเมล็ดแห้ง นม ผลิตภัณฑ์จากนม เครื่องดื่มโคลา เป็นต้น ร่วมกับการใช้ยาจับฟอสเฟต เช่น calcium carbonate, calcium acetate, aluminium hydroxide เป็นต้น
  • ภาวะฮอร์โมนพาราไทรอยด์สูง ภาวะฟอสเฟตในเลือดสูงและแคลเซียมในเลือดต่ำมักพบในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตลดลงเป็นเวลานาน ภาวะดังกล่าวนี้สามารถกระตุ้นต่อมพาราไทรอยด์ให้หลั่งฮอร์โมนพาราไทรอยด์มากขึ้น ส่งผลให้มีการสลายของมวลกระดูก และทำให้เกิดความผิดปกติของกระดูกอื่นๆ ตามมา ผู้ป่วยอาจได้รับยา เช่น calcitriol, cinacalcet เพื่อลดฮอร์โมนพาราไทรอยด์และควบคุมเพื่อไม่ให้มีภาวะความผิดปกติของกระดูกอื่นๆ ตามมา
  • ภาวะเลือดเป็นกรด เกิดจากการสะสมสารอินทรีย์ต่างๆ ในร่างกาย ซึ่งหากร่างกายมีภาวะนี้อยู่เป็นระยะเวลานาน อาจทำให้เกิดการเสื่อมสลายของมวลกระดูก รวมถึงการสูญเสียมวลเนื้อเยื่อของร่างกายตามมาได้ ผู้ป่วยอาจได้รับยาที่ใช้เพื่อควบคุมภาวะเลือดเป็นกรด
  • ผู้ป่วย ญาติ หรือผู้ดูแล ควรแจ้งให้แพทย์และทีมรักษาทราบถึงรายการยา อาหารเสริม วิตามิน สมุนไพรที่ผู้ป่วยได้รับอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากยาและสมุนไพรบางชนิดอาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยารักษาโรคไตที่ผู้ป่วยใช้อยู่ หรืออาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อไตได้ ส่วนวิตามินบางรายการอาจเกิดการสะสมในร่างกายเนื่องจากไตไม่สามารถทำหน้าที่ขจัดวิตามินเหล่านั้นออกได้ตามปกติ
  • ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการซื้อยา อาหารเสริม วิตามิน และสมุนไพรมารับประทานเอง ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนทุกครั้ง
  • ในแต่ละครั้งที่เข้าพบแพทย์ อาจมีการปรับเปลี่ยนขนาดยาที่ได้รับอยู่เดิม ดังนั้นผู้ป่วย ญาติ และผู้ดูแลควรสอบถามแพทย์และเภสัชกรถึงระยะเวลาการรับประทานยาและขนาดยาที่ปรับเปลี่ยนไปในแต่ละครั้ง และควรยึดวิธีการรับประทานยาตามการใช้ยาครั้งใหม่ เพื่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการรักษา
  • ชื่อยาและขนาดยาที่ใช้ ยาบางรายการแพทย์จะพิจารณาปรับขนาดยาตามค่าการทำงานของไต หากผู้ป่วยโรคไตได้รับยาที่ถูกขจัดออกโดยไตในขนาดเท่ากับคนปกติ อาจเกิดการสะสมของยาในร่างกายจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงจากยาและเกิดพิษต่อไตตามมาได้ ผู้ป่วยจึงควรให้ความสำคัญกับชื่อยา ลักษณะเม็ดยา ขนาดยา และวิธีที่รับประทานต่อวันเพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาของผู้ป่วยเอง
  • วัตถุประสงค์ของการใช้ยา ยาบางชนิดมีหลายข้อบ่งใช้ ผู้ป่วยควรทราบข้อบ่งใช้และยาที่มีความจำเพาะเจาะจงต่อตนเอง ตลอดจนผลที่คาดหวังจากการใช้ยา
  • วิธีการรับประทานยาและข้อควรระวัง ยาบางรายการมีวิธีการรับประทานยาที่แตกต่างไป ยาบางรายการมีขนาดและระยะเวลารับประทานซึ่งแพทย์ได้พิจารณาจากผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ อาจมีการปรับขนาดยาลงหรือเพิ่มขนาดยามากขึ้นในแต่ละครั้งที่ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจรักษา ผู้ป่วยจึงควรสอบถามข้อมูลจากแพทย์และเภสัชกรให้ละเอียด
ควรสอบถามแพทย์และเภสัชกร เนื่องจากยาแต่ละรายการมีข้อควรปฏิบัติแตกต่างกันไป โดยทั่วไปหากลืมรับประทานยา ควรรับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่ถ้าหากใกล้เวลารับประทานยามื้อถัดไปให้ข้ามไปมื้อถัดไปได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

Related conditions

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์รักษาที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์ไตเทียม

ดูเพิ่มเติม

ศูนย์โรคไต

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 9.28 of 10, จากจำนวนคนโหวต 80 คน

บทความที่เกี่ยวข้อง