bih.button.backtotop.text

การปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคที่มีชีวิต

การปลูกถ่ายไต คือ การรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย โดยการรับไตจากผู้อื่น ซึ่งแหล่งที่มาของไตแบ่งออกเป็นจากผู้บริจาคที่เสียชีวิตหรือที่ยังมีชีวิตอยู่ ทั้งนี้ผู้บริจาคที่มีชีวิตจะต้องเป็นสมาชิกในครอบครัวและมีผลเลือดเข้ากันได้ การปลูกถ่ายไตในลักษณะนี้เรียกว่า การปลูกถ่ายไตแบบผู้บริจาคมีชีวิต ซึ่งผู้บริจาคไตสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ตามปกติด้วยไตที่เหลืออยู่หนึ่งข้าง

การปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคที่มีชีวิต
คือ การปลูกถ่ายไตให้กับผู้ซึ่งป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ไตที่นำมาปลูกถ่ายให้นั้นได้มาจากผู้บริจาคไตที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยผู้บริจาคจะต้องมีความสัมพันธ์กับผู้รับบริจาคข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้
  1. มีความสัมพันธ์ทางสายเลือด ได้แก่ บิดาหรือมารดา บุตร พี่น้องที่เกิดจากบิดามารดาเดียวกัน หรือพี่น้องต่างบิดาหรือมารดา ลุง ป้า น้า อา หลาน หรือลูกพี่ลูกน้อง (พิสูจน์ได้โดยหลักฐานทางกฎหมายและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ได้แก่ human leucocyte antigen (HLA) และ/หรือ DNA)
  2. คู่สมรส ซึ่งเป็นภรรยาหรือสามีที่ถูกต้องตามกฎหมายกับผู้รับบริจาค และจดทะเบียนสมรสกันมาไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือมีข้อเท็จจริงว่าอยู่กินฉันสามีภรรยาอย่างเปิดเผยจนถึงวันผ่าตัดปลูกถ่ายไตไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือหากมีบุตรร่วมกัน ระยะเวลาการสมรส 3 ปีนั้นสามารถยกเว้นได้โดยอาจใช้การตรวจ DNA ยืนยันการเป็นบุตรของคู่สมรส
การบริจาคไตข้างหนึ่งเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย
หากผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายไม่ได้รับรักษาด้วยการผ่าตัดปลูกถ่ายไต ผู้ป่วยจำเป็นจะต้องได้รับการบำบัดทดแทนไตด้วยการฟอกเลือด หรือล้างไตทางช่องท้องไปตลอดชีวิต

ความเสี่ยง/ภาวะที่ไม่พึงประสงค์ต่อผู้บริจาคไต
ทางด้านร่างกาย

  • อาการแทรกซ้อนจากการดมยาสลบ
  • เสียเลือด มีเลือดออกมาก
  • อาการแทรกซ้อนทางหลอดเลือดหัวใจ เช่น ความดันโลหิตสูง
  • ปัญหาทางเดินอาหาร เช่น ท้องผูก รู้สึกอึดอัดแน่นท้อง
  • อาการเจ็บปวดหรือการติดเชื้อบริเวณแผลผ่าตัด
  • ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะหรืออาการแทรกซ้อนอันเนื่องมาจากการใช้สายสวนปัสสาวะ
  • ผู้บริจาคเมื่อผ่าตัดนำไตออกข้างหนึ่งแล้ว ไตข้างที่เหลืออยู่สามารถทำงานทดแทนข้างที่ถูกนำออกไปได้ ความเสี่ยงจะมีมากขึ้นเมื่อไตที่เหลืออีกข้างหนึ่งได้รับความเสียหาย
  • การเสียชีวิตระหว่างการผ่าตัดนั้นอาจเกิดขึ้นได้ แม้จะเกิดขึ้นไม่มากก็ตาม

ทางด้านจิตใจ
การผ่าตัดปลูกถ่ายไตอาจก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านจิตใจได้ ทั้งกับผู้บริจาคและผู้รับบริจาค โดยอาจเป็นผลมาจากความกังวล ความเครียด ความหดหู่ใจ ความโกรธ หรือความผิดหวัง ปัญหาเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้แต่พบไม่บ่อย
 

ในปัจจุบันการผ่าตัดปลูกถ่ายไตได้รับการยอมรับว่าเป็นวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ซึ่งแหล่งที่มาของไตแบ่งออกเป็นจากผู้บริจาคที่เสียชีวิตหรือที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยผู้บริจาคที่มีชีวิตจะได้รับการประเมินอย่างครอบคลุมก่อนการบริจาค และจะได้รับอนุญาตให้บริจาคไตได้เมื่อมีสภาวะร่างกายที่สมบูรณ์เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีความประสงค์บริจาคอวัยวะมีอิสระในการตัดสินใจที่จะบริจาคหรือยกเลิกการบริจาคอวัยวะได้ทุกระยะเวลา
แก้ไขล่าสุด: 16 มิถุนายน 2564

Related conditions

Doctors Related

Related Centers

ศูนย์ไตเทียม

ดูเพิ่มเติม

ศูนย์โรคไต

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 9.10 of 10, จากจำนวนคนโหวต 122 คน

บทความที่เกี่ยวข้อง