bih.button.backtotop.text

การรักษาโรคหลอดเลือดสมองด้วยวิธี Mechanical Thrombectomy

การรักษาโรคหลอดเลือดสมองด้วยวิธี Mechanical Thrombectomy โดยใช้เครื่องเอกซเรย์หลอดเลือดชนิดสองระนาบ

การรักษาโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันระยะเฉียบพลัน (ischemic stroke) ผ่านสายสวนหลอดเลือดสมองด้วยวิธี mechanical thrombectomy ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนและความพิการเนื่องจากความเสียหายของสมองได้ 

การรักษาด้วยวิธี Mechanical Thrombectomy คืออะไร

การรักษาโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันด้วยวิธี mechanical thrombectomy เป็นทางเลือกที่เพิ่มขึ้นในการรักษาผู้ป่วยที่มีลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดสมองเส้นใหญ่นอกเหนือจากการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดเพียงอย่างเดียว โดยส่วนใหญ่การรักษาด้วยวิธี mechanical thrombectomy จะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยที่มาถึงโรงพยาบาลภายในระยะเวลา 6 ชั่วโมง 

การรักษาด้วยวิธี mechanical thrombectomy เป็นการนำเอาลิ่มเลือดที่อุดตันในหลอดเลือดสมองออกผ่านทางสายสวน เพื่อเปิดหลอดเลือดให้เลือดสามารถไปเลี้ยงสมองได้ โดยเป็นเป็นหัตถการที่ต้องใช้ความละเอียดในสูงซึ่งจะได้ผลดีเมื่อทำงานในเครื่องเอกซ์เรย์สองระนาบ (biplane angiography system) เป็นเครื่องเอกซเรย์สำหรับใช้ในการตรวจวินิจฉัยทางรังสีวิทยาระบบหลอดเลือดโดยเฉพาะ ทำงานด้วยระบบการสร้างภาพแบบสองระนาบ คือ จากหน้าไปด้านหลังและจากด้านข้างโดยเป็นการจับภาพพร้อมกัน ทำให้ระยะเวลาที่ใช้ในการทำหัตถการสั้นลง ภาพที่ได้มีรายละเอียดและความคมชัดสูง สามารถสร้างภาพ 3 มิติของหลอดเลือดและภาพตัดขวางในบริเวณที่ต้องการได้ แพทย์จึงมองเห็นสายสวนและพยาธิสภาพของหลอดเลือดที่มีขนาดเล็กมากได้อย่างชัดเจน โดยไม่จำเป็นต้องใช้สารทึบรังสีปริมาณมาก ผู้ป่วยจึงได้รับผลข้างเคียงน้อยลง และการรักษาเป็นไปอย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่ควรได้รับการรักษาด้วยวิธี mechanical thrombectomy จะต้องมีข้อบ่งชี้ดังนี้ คือ

  • ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำแล้ว แต่ยังมีอาการผิดปกติ 
  • ผู้ป่วยมีลิ่มเลือดอุดตันอยู่ในหลอดเลือดสมองเส้นใหญ่
  • ผู้ป่วยมีข้อห้ามบางประการของการให้ยาละลายลิ่มเลือด หรือมีภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ 
การรักษาโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันด้วยวิธี mechanical thrombectomy ร่วมกับเครื่องเอกซเรย์หลอดเลือดชนิดสองระนาบ เป็นการรักษาที่ก้าวหน้าและมีประสิทธิภาพ โดยสามารถลดภาวะแทรกซ้อน อัตราความพิการ และอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยลงได้อย่างมีนัยสำคัญ ในผู้ป่วยที่มีลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดสมองเส้นใหญ่ 
โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่เกิดอย่างฉับพลัน หากผู้ป่วยมีอาการที่เป็นสัญญาณเตือนของโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน ซึ่งได้แก่ เวียนศีรษะ แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีกหรือทั้ง 2 ข้าง พูดไม่ชัด ลิ้นแข็ง ฟังไม่เข้าใจ มองเห็นภาพซ้อน ทรงตัวไม่อยู่ ควรนำส่งโรงพยาบาลทันที

เมื่อผู้ป่วยที่มีอาการของโรคหลอดเลือดสมองมาถึงโรงพยาบาล แผนกฉุกเฉินจะดำเนินการตามหลักเกณฑ์การปฏิบัติอย่างเร่งด่วนต่อผู้ป่วยที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (stroke code) ได้แก่ 

  1. แจ้งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาโรคหลอดเลือดสมอง แพทย์รังสีร่วมรักษาระบบประสาท นักเทคโนโลยีรังสี และบุคลากรที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมความพร้อมในการรักษา
  2. ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจร่างกาย และทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองเพื่อดูว่ามีภาวะสมองขาดเลือดหรือภาวะเลือดออกในสมอง โดยใช้เกณฑ์ประเมินอาการทางระบบประสาทเพื่อดูระดับความรุนแรงของโรค หรือ National Institute of Health Stroke Scale (NIHSS) 
  3. ในกรณีที่พบว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมองจากการอุดตันของลิ่มเลือด แพทย์จะขอคำยินยอมจากญาติเพื่อให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ หรือ tissue plasminogen activators (t-PA) ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานในการรักษาเมื่อผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลภายในเวลา 4.5 ชั่วโมงและไม่มีข้อห้ามในการใช้ยา
  4. หลังจากได้รับยาละลายลิ่มเลือดแล้ว หากมีข้อบ่งชี้ว่าผู้ป่วยควรได้รับการรักษาด้วยวิธี mechanical thrombectomy แพทย์จะดำเนินการทันทีเพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดกับสมองและความเสี่ยงที่ผู้ป่วยจะพิการ โดยการให้ยาระงับความรู้สึกเพื่อสอดสายสวน (catheter) จากบริเวณขาหนีบเข้าไปยังหลอดเลือดแดงในสมองในตำแหน่งที่มีลิ่มเลือดอุดตันอยู่ 
  5. เมื่อสายสวนไปถึงตำแหน่งที่ต้องการแล้ว แพทย์จะสอดอุปกรณ์สายสวนขยายหลอดเลือด อุปกรณ์ตาข่ายจับลิ่มเลือดออก (stent retriever devices) และ/หรือ สายสวนพิเศษซึ่งมีคุณสมบัติในการดูดลิ่มเลือดออกจากบริเวณที่ถูกตัด (aspiration device) เข้าไปในสายสวนโดยให้ผ่านลิ่มเลือด จากนั้นจึงให้ขดลวดกางออกจนถึงผนังหลอดเลือดแล้วลากเอาลิ่มเลือดออกมาตามสายสวน ซึ่งระหว่างการรักษานี้ เครื่องเอกซเรย์หลอดเลือดระบบดิจิทัลชนิดสองระนาบ จะช่วยให้แพทย์มองเห็นลักษณะทางกายวิภาคและพยาธิสภาพของหลอดเลือดได้อย่างชัดเจน
ภายหลังการรักษา ผู้ป่วยจำเป็นต้องพักในห้อง ICU เพื่อดูการตอบสนองต่อการรักษา และเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น จากนั้นจึงเป็นกระบวนการฟื้นฟูร่างกายและระบบประสาทโดยการทำกายภาพบำบัด เพื่อให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น ระยะเวลาตั้งแต่มีอาการจนกระทั่งได้รับการรักษา ขนาดพื้นที่ของเนื้อสมองที่เสียหาย พื้นที่ของเนื้อสมองที่ขาดเลือดแต่ยังไม่ตาย ภาวะที่มีหลอดเลือดข้างเคียงมาช่วยเลี้ยงบริเวณเนื้อสมองที่ขาดเลือด (leptomeningeal collateral vessel) รวมถึงอายุและโรคประจำตัวของผู้ป่วย 

นอกจากนี้ แพทย์จะพูดคุยกับผู้ป่วยถึงสาเหตุของการเกิดโรค เพื่อให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวและป้องกันการกลับมาเกิดโรคซ้ำอีก 

ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการสอดอุปกรณ์สายสวนทางหลอดเลือดแดงเพื่อดึงเอาลิ่มเลือดออก ได้แก่

  • เกิดภาวะสมองขาดเลือดจากหลอดเลือดสมองตีบในหลอดเลือดสมองอื่น
  • ภาวะเลือดออกในสมอง
  • ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการดมยาสลบและร่างกายมีปฏิกิริยาต่อสารทึบรังสี
  • ภาวะแทรกซ้อนจากการใช้อุปกรณ์ดึงเอาลิ่มเลือดออก ได้แก่ หลอดเลือดทะลุ หรือผนังหลอดเลือดฉีกขาด
  • เกิดภาวะหลอดเลือดโป่งพองเทียม
  • บริเวณตำแหน่งที่มีการสอดอุปกรณ์สายสวนทางหลอดเลือดมีก้อนเลือดเซาะใต้ผิวหนังเกิดขึ้น
  • เกิดภาวะหลอดเลือดสมองหดเกร็ง 
  • มีเลือดออก ติดเชื้อ หรือปวดบริเวณตำแหน่งที่มีการสอดอุปกรณ์สายสวนทางหลอดเลือด

จากการศึกษาพบว่า ผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีการนำอุปกรณ์ใส่เข้าไปทางหลอดเลือดแดงเพื่อดึงเอาลิ่มเลือดออก (Mechanical Thrombectomy) จะลดโอกาสเกิดความพิการได้ร้อยละ 20 (1.6 เท่า) เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาตามมาตรฐานแต่ไม่ได้รับการรักษาด้วยวิธีการนำอุปกรณ์ใส่เข้าไปทางหลอดเลือดแดงเพื่อดึงเอาลิ่มเลือดออก (Mechanical Thrombectomy)

  • ไม่แนะนำให้เดินทางโดยเครื่องบินในช่วงสองสัปดาห์แรกหลังเกิดภาวะสมองขาดเลือดจากโรคหลอดเลือดสมอง
  • แนะนำให้พักรักษาตัวใกล้โรงพยาบาล เผื่อในกรณีฉุกเฉินและเพื่อความสะดวกในการนัดติดตามดูอาการ
การเปิดหลอดเลือดแดงอุดตันในสมองด้วยวิธีการนำอุปกรณ์ใส่เข้าไปทางหลอดเลือดแดงเพื่อดึงเอาลิ่มเลือดออก (Mechanical Thrombectomy) มีโอกาสสำเร็จถึงร้อยละ 84 เมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ ซึ่งมีโอกาสที่จะเปิดหลอดเลือดได้ร้อยละ 46 อย่างไรก็ตามควรปรึกษาแพทย์ก่อนการทำหัตถการ
 
หากไม่ทำหัตถการนี้จะเกิดอะไรขึ้น
ผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่ในสมองอุดตันและไม่ได้รับการรักษาด้วยวิธีการนำอุปกรณ์ใส่เข้าไปทางหลอดเลือดแดงเพื่อดึงเอาลิ่มเลือดออก (Mechanical Thrombectomy) มีโอกาสน้อยที่หลอดเลือดอุดตันจะเปิดและมีโอกาสที่อาการจะฟื้นตัวจนสามารถช่วยเหลือตนเองได้น้อยกว่าผู้ที่ได้รับการรักษา
 

ในปัจจุบันยังไม่มีทางเลือกอื่นในการรักษาสำหรับผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ในการรักษาด้วยวิธีการนำอุปกรณ์ใส่เข้าไปทางหลอดเลือดแดงเพื่อดึงเอาลิ่มเลือดออก (Mechanical Thrombectomy)

แก้ไขล่าสุด: 09 กุมภาพันธ์ 2566

Related conditions

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์รักษาที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์โรคระบบประสาท

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 9.11 of 10, จากจำนวนคนโหวต 9 คน

บทความที่เกี่ยวข้อง