bih.button.backtotop.text

การผ่าตัดก้อนเนื้องอกที่มดลูก

คือ การตัดเนื้องอกที่มดลูกออกโดยยังเหลือตัวมดลูกไว้ เป็นทางเลือกหลักในการรักษาผู้ป่วยเนื้องอกมดลูกด้วยการผ่าตัด

ชนิด
ในรายที่ยังต้องการมีบุตรหรือไม่ต้องการตัดมดลูกทิ้ง สามารถทำได้หลายทางดังนี้
  1. การเปิดหน้าท้องและทำการตัดก้อนเนื้อนั้นออก (open myomectomy) เป็นการผ่าตัดเปิดหน้าท้องคล้ายคลึงกับการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องแต่แผลจะเล็กกว่า โดยแพทย์จะนำก้อนเนื้องอกนั้นออกจากมดลูกโดยการแยกกล้ามเนื้อมดลูกแล้วตัดก้อนเนื้องอกออก แพทย์จำเป็นต้องทำการผ่าตัดด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษเพื่อป้องกันเลือดออกมาก เนื่องจากในกล้ามเนื้อมดลูกนั้นมีเส้นเลือดหล่อเลี้ยงอยู่มากมายและสามารถเกิดการกระทบกระเทือนได้ง่าย แพทย์จะทำการตัดก้อนเนื้อออกทางด้านหน้าของมดลูก (ด้านที่อยู่ติดกับกระเพาะปัสสาวะ) เพื่อหลีกเลี่ยงการกระทบกระเทือนที่อาจเกิดกับท่อนำไข่ ลำไส้ และหลีกเลี่ยงปัญหาการมีบุตรยากที่อาจเกิดตามมา ผู้ป่วยจะมีความเสี่ยงต่อปัญหาดังกล่าวเพิ่มขึ้นหากแพทย์นำก้อนเนื้อออกผ่านทางด้านหลังของมดลูก นอกจากนั้นแพทย์จะทำการผ่าตัดโดยระมัดระวังการก่อตัวของพังผืดให้มากที่สุด
  2. การผ่าตัดเนื้องอกที่มดลูกโดยส่องกล้องผ่านทางหน้าท้อง (laparoscopic myomectomy) เป็นการผ่าตัดโดยการเจาะผ่านช่องท้องหรือผิวหนังใกล้บริเวณที่ต้องการจะทำการผ่าตัด เพื่อสอดอุปกรณ์ผ่าตัดและกล้องขนาดเล็กเพื่อบันทึกภาพและส่งมายังจอรับภาพ ซึ่งทำหน้าที่แทนตาของศัลยแพทย์รวมถึงอุปกรณ์อื่นๆ
  3. การผ่าตัดเนื้องอกที่มดลูกโดยผ่านกล้องส่องในโพรงมดลูก (hysteroscopic myomectomy) เป็นการผ่าตัดส่องกล้องผ่านปากมดลูกเข้าไปในโพรงมดลูก
  4. การผ่าตัดเนื้องอกที่มดลูกผ่านทางช่องคลอด (vaginal myomectomy) คือ การดึงเนื้องอกมดลูกออกมาทางช่องคลอด
  5. การผ่าตัดเนื้องอกที่มดลูกโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยในการผ่าตัด (robotic-assisted myomectomy) เป็นการผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยในการผ่าตัด ลักษณะคล้ายกับการผ่าตัดส่องกล้องผ่านทางหน้าท้อง
หลังจากปรึกษาแพทย์แล้วว่าท่านควรผ่าตัดเนื้องอกที่มดลูก แพทย์จะนัดวันเวลาสำหรับการผ่าตัดและท่านจะได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวก่อนผ่าตัดดังต่อไปนี้
  1. การมาถึงโรงพยาบาลและพบเจ้าหน้าที่ก่อนเวลานัดผ่าตัดคลอดอย่างน้อย 4 ชั่วโมง
  2. การงดน้ำงดอาหาร 8 ชั่วโมงก่อนผ่าตัดตามที่แพทย์แนะนำเพื่อให้กระเพาะอาหารว่าง ไม่เกิดการสำลักอาหารขณะดมยาสลบ และควรนอนพักผ่อนให้เพียงพอ
  3. ไม่แต่งหน้า ทาปาก ทาเล็บ เพื่อแพทย์จะดูการไหลเวียนของเลือดขณะทำการผ่าตัดและการประเมินหลังผ่าตัด
  4. ไม่ควรนำเครื่องประดับหรือสิ่งของราคาแพงมาด้วย เพื่อป้องกันการสูญหาย ในรายที่ใส่ฟันปลอม คอนแทคเลนส์ ให้ถอดก่อนเข้าห้องผ่าตัด
  5. แพทย์จะประเมินสุขภาพของท่านโดยการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จำเป็นก่อนการผ่าตัดและสั่งตรวจทดสอบอื่นเพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์ปอด ตรวจคลื่นหัวใจ เป็นต้น
  6. แพทย์จะแนะนำการรับประทานยา หากท่านมียาประจำที่รับประทานอยู่ซึ่งอาจจำเป็นต้องงดยาบางอย่าง เช่น ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด แอสไพริน สมุนไพรหรืออาหารเสริมที่อาจจะทำให้เลือดออกมากขึ้น ทั้งนี้แพทย์จะเป็นผู้พิจารณา หรือยาที่รับประทานประจำที่สามารถรับประทานได้ท่านอาจจิบน้ำได้เล็กน้อยพร้อมยา 
  7. ต้องงดสูบบุหรี่อย่างน้อยประมาณ 1 อาทิตย์ก่อนผ่าตัด
  8. ควรมีญาติเพื่อรับท่านกลับบ้านหรืออยู่เป็นเพื่อนขณะที่ท่านต้องนอนพักอยู่ต่อในโรงพยาบาล
  1. หลังจากการผ่าตัด พยาบาลจะดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดจนกระทั่งผู้ป่วยฟื้นตัวจากยาสลบ
  2. เจ้าหน้าที่จะนำผู้ป่วยไปยังห้องพักฟื้นและผู้ป่วยต้องพักรักษาตัวจนกว่าร่างกายจะพร้อมที่จะกลับบ้าน โดยปกติแล้วจะใช้เวลาประมาณ 2 วันหลังการผ่าตัดสำหรับการผ่าตัดส่องกล้องและการผ่าตัดผ่านช่องคลอด และ 4-5 วันหลังการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง หากผู้ป่วยมีอาการข้างเคียงจากยาสลบ เช่น ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน ผู้ป่วยควรแจ้งพยาบาลที่ดูแล เพื่อพยาบาลจะได้นำยามาให้ผู้ป่วยรับประทานเพื่อระงับอาการดังกล่าว
  3. ผู้ป่วยจะได้รับการสวนคาท่อปัสสาวะเพื่อสวนปัสสาวะจากกระเพาะปัสสาวะมาไว้ยังถุงที่อยู่ภายนอก และนำสายสวนปัสสาวะออกในช่วงหนึ่งถึงสองวันหลังการผ่าตัด
  4. ผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำการลดความวิตกกังวลในการทำให้ลำไส้ทำงาน พยาบาลจะทำการเช็กการเคลื่อนไหวของลำไส้ทุกวันจนเป็นปกติ และผู้ป่วยจะได้รับยาหากเกิดอาการข้างเคียงใดๆ
  5. ผู้ป่วยควรเริ่มขยับตัวหลังจากการผ่าตัดเพื่อป้องกันลิ่มเลือดอุดตันเส้นเลือดที่ขาซึ่งอาจส่งผลสืบเนื่องไปยังปอด ผู้ป่วยควรหายใจลึกๆ ประมาณสิบครั้งต่อชั่วโมง เพื่อให้เสมหะในปอดมีการเคลื่อนไหวและป้องกันการติดเชื้อ
  6. ผู้ป่วยควรงดสูบบุหรี่ เนื่องจากบุหรี่จะเพิ่มอัตราความเสี่ยงของการเกิดการติดเชื้อที่ปอดและอาการไอซึ่งเกิดการกระทบกระเทือนแผลในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดทางหน้าท้อง
  7. ผู้ป่วยอาจรู้สึกอ่อนเพลียหลังการผ่าตัด ไม่ควรกังวลและค่อยๆ เริ่มทำกิจกรรมต่างๆ ทีละเล็กทีละน้อย ตามปกติจะใช้เวลาประมาณ 6 สัปดาห์กว่าที่อาการจะเริ่มดีขึ้น และประมาณ 6 เดือนที่อาการทุกอย่างจะหายเป็นปกติ นอกจากนั้น ยังไม่ควรยกของหนักเกิน 2-3 กิโลกรัมในช่วง 6 สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัดเพื่อช่วยให้แผลด้านในหายเร็วขึ้น และมีเพศสัมพันธ์ได้ประมาณ 6 สัปดาห์หลังการผ่าตัด
  1. หลีกเลี่ยงการขับรถอย่างน้อย 1 เดือนหลังการผ่าตัด
  2. หลีกเลี่ยงการเดินทางโดยเครื่องบินหลังทำผ่าตัดอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเห็นของแพทย์ผู้ผ่าตัด
เช่นเดียวกับการศัลยกรรมทั่วไป การผ่าตัดก้อนเนื้อที่มดลูกอาจก่อให้เกิดการอักเสบ การเสียเลือด และการกระทบกระเทือนต่ออวัยวะภายในต่างๆ นอกจากนั้น ผู้ป่วยอาจยังประสบปัญหามดลูกทะลุที่รอยแผลหลังการผ่าตัดอีกด้วย อย่างไรก็ตามแพทย์ไม่ค่อยพบกรณีดังกล่าว หรืออาจพบเพียงร้อยละหนึ่งของผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัด ในกรณีที่ผู้ป่วยเลือดออกมากผิดปกติ แพทย์อาจต้องทำการผ่าตัดตัดมดลูก
มีอัตราร้อยละ 90-95% ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น สภาวะร่างกายของผู้ป่วย สภาวะของโรคประจำตัวของผู้ป่วยในรายที่มีโรคประจำตัว เป็นต้น

หากไม่ทำการรักษา
ผู้ป่วยยังคงมีอาการผิดปกติต่อเนื่องไม่หายขาด เช่น อาการเลือดออกอย่างต่อเนื่อง อาการเลือดออกผิดปกติ อาการปวดเรื้อรัง
 
ทางเลือกอื่นในการรักษา
  1. การผ่าตัดแบบส่องกล้องทางหน้าท้องให้ผลดีกับก้อนเนื้องอกที่เจริญเติบโตอยู่ด้านนอกมดลูก อย่างไรก็ตามการผ่าตัดด้วยวิธีดังกล่าวมีข้อจำกัด คือ สามารถผ่าตัดได้เฉพาะในกรณีที่ก้อนเนื้องอกมีขนาดเล็กเท่านั้น และในกรณีที่แพทย์สามารถเห็นก้อนเนื้องอกได้อย่างชัดเจน นอกจากนั้นยังอาจก่อให้เกิดพังผืดในอุ้งเชิงกรานอีกด้วย
  2. การผ่าตัดก้อนเนื้อโดยวิธีการส่องกล้องผ่านทางโพรงมดลูก การผ่าตัดผ่านช่องคลอดและการผ่าตัดส่องกล้องผ่านทางหน้าท้องนั้น แพทย์จะทำการสอดเครื่องมือผ่านทางช่องคลอดเพื่อเข้าสู่ด้านในของมดลูกและสามารถตัดก้อนเนื้องอกที่มีขนาดเล็กออกมาได้ ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลสำหรับการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ และใช้เวลาประมาณสองถึงสามวันกว่าอาการจะหายเป็นปกติ อย่างไรก็ตามหากก้อนเนื้องอกฝังตัวอยู่ในผนังบุมดลูก แพทย์ไม่สามารถใช้วิธีการผ่าตัดก้อนเนื้องอกโดยวิธีส่องกล้องผ่านทางโพรงมดลูกได้
แก้ไขล่าสุด: 02 ตุลาคม 2563

Related conditions

Doctors Related

Related Centers

ศูนย์สูติ-นรีเวช

ดูเพิ่มเติม

Related Packages

คะแนนโหวต NaN of 10, จากจำนวนคนโหวต 0 คน

Related Health Blogs