bih.button.backtotop.text

การวิเคราะห์แบบยูโรไดนามิก (Urodynamic Analysis)

การควบคุมการขับปัสสาวะผิดปกติเป็นภาวะที่พบบ่อยในผู้สูงอายุทั้งชายและหญิง โดยมีอาการคือ กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะเล็ดราดขณะไอ จาม หรือหัวเราะ ปัสสาวะเล็ดราดแม้ไม่มีการปวด ปัสสาวะบ่อย และรู้สึกเหมือนปัสสาวะไม่หมด ซึ่งเป็นอาการที่ส่งผลทั้งต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย


แพทย์สามารถรักษาระบบควบคุมการขับปัสสาวะเสื่อมเพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ โดยหนึ่งในวิธีการตรวจวินิจฉัยเพื่อให้ทราบสาเหตุที่ชัดเจนของโรคได้แก่ การวิเคราะห์แบบยูโรไดนามิก (urodynamic analysis)

การวิเคราะห์แบบยูโรไดนามิกคืออะไร

การวิเคราะห์แบบยูโรไดนามิก หรือการตรวจยูโรพลศาสตร์ เป็นการตรวจการทำงานของกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะและกล้ามเนื้อหูรูดว่ามีการบีบตัวอย่างเหมาะสมหรือไม่ โดยการวัดแรงดันในกระเพาะปัสสาวะขณะที่มีน้ำไหลเข้าและขับออกจากกระเพาะปัสสาวะ ความสามารถในการกักเก็บปัสสาวะของกระเพาะปัสสาวะ การกลั้นปัสสาวะ รวมถึงตรวจว่ามีภาวะปัสสาวะเล็ดขณะเบ่งหรือไม่


การวิเคราะห์แบบยูโรไดนามิกจึงเป็นการตรวจการทำงานโดยรวมตั้งแต่กระเพาะปัสสาวะจนถึงท่อปัสสาวะ เพื่อหากลไกและสาเหตุความผิดปกติของระบบควบคุมการขับปัสสาวะนั่นเอง

การตรวจวิเคราะห์แบบยูโรไดนามิก สามารถทำได้หลายวิธี เช่น

1. Cystometry (CMG) เป็นการตรวจโดยดูความสัมพันธ์ของแรงดันในกระเพาะปัสสาวะกับปริมาตรของน้ำที่เติมเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะซึ่งจะทำผ่านสายสวน นอกจากนี้ยังดูการทำงานของกล้ามเนื้อหูรูดได้อีกด้วย


2. การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (Electromyography หรือ EMG)เป็นการตรวจกล้ามเนื้อและเส้นประสาทบริเวณอุ้งเชิงกรานในกรณีที่แพทย์สงสัยว่าปัญหาอาจเกิดจากความเสียหายของกล้ามเนื้อหรือเส้นประสาท โดยจะติดเซนเซอร์ขนาดเล็กไว้ใกล้กับทวารหนักเพื่อตรวจการทำงานของกล้ามเนื้อและกล้ามเนื้อหูรูดขณะใส่น้ำเข้าและถ่ายออกจากกระเพาะปัสสาวะ


3. การวัดแรงดันในท่อปัสสาวะ (urethral pressure profile) เพื่อดูการทำงานของท่อปัสสาวะโดยใช้สายสวนพร้อมเซ็นเซอร์บันทึกแรงดันภายในท่อปัสสาวะ


4. Uroflowmetry เป็นการวัดปริมาณ เวลาที่ใช้ และอัตราความแรงของปัสสาวะที่ถ่ายออกมาเพื่อตรวจสอบการทำงานของกระเพาะปัสสาวะขณะกำลังปัสสาวะ โดยผู้ป่วยจะต้องปัสสาวะผ่านเครื่องมือที่ติดไว้ในโถปัสสาวะซึ่งมาพร้อมกับเครื่องบันทึกข้อมูลและประมวลผลเพื่อส่งให้แพทย์วินิจฉัยต่อไป


5. Pressure Flow Study หรือ Voiding Pressure Study เป็นการดูความสัมพันธ์ของแรงดันในกระเพาะปัสสาวะขณะกำลังปัสสาวะและอัตราการไหลของน้ำปัสสาวะ เพื่อดูว่ามีปัญหาท่อปัสสาวะอุดตันหรือกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะอ่อนแรงหรือไม่ วิธีการคือสอดสายสวนขนาดเล็กเข้าไปในท่อปัสสาวะแล้วให้ผู้ป่วยปัสสาวะผ่านสายสวน


ทั้งนี้ แพทย์จะพิจารณาเลือกใช้วิธีที่เหมาะสมกับผู้ป่วยกับอาการของผู้ป่วย ซึ่งบางครั้งอาจต้องใช้มากกว่าหนึ่งวิธี

แพทย์จะพิจารณาตรวจวิเคราะห์แบบยูโรไดนามิกให้กับผู้ที่มีภาวะดังต่อไปนี้

  • กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในระดับปานกลางถึงรุนแรง
  • มีความผิดปกติในระบบควบคุมการขับปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะไม่หมด ไม่มีแรงเบ่ง
  • ติดเชื้อในระบบเดินปัสสาวะบ่อยๆ
  • ไม่สามารถระบุผลการวินิจฉัยที่แน่ชัดได้หลังจากการตรวจด้วยวิธีอื่นๆ แล้ว
  • ต้องเข้ารับการผ่าตัดแก้ไขอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
ส่วนใหญ่ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจ ยกเว้นการตรวจบางวิธีที่ผู้ป่วยต้องดื่มน้ำให้มากก่อนตรวจเพื่อให้มีน้ำปัสสาวะเพียงพอ หรืออาจต้องหยุดยาหรือเครื่องดื่มบางชนิดก่อนตรวจ โดยการตรวจใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง

การตรวจวิเคราะห์แบบยูโรไดนามิกเป็นโปรแกรมการรักษาที่มีความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนน้อยแต่อาจเกิดได้บ้าง เช่น มีการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งแพทย์อาจสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะก่อนและหลังการตรวจเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้นได้


ดังนั้น หากหลังการตรวจ ผู้ป่วยรู้สึกปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น ปัสสาวะมีกลิ่น ขุ่น หรือมีเลือดปน ปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะมีปริมาณน้อย มีอาการปวดบริเวณข้างลำตัวและหลัง หรือมีไข้ ควรกลับมาพบแพทย์ทันที

ภายหลังการตรวจวิเคราะห์แบบยูโรไดนามิก ผู้ป่วยสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติแต่อาจรู้สึกไม่สบายตัวขณะปัสสาวะ ควรดื่มน้ำให้มากเพื่อลดการระคายเคืองในท่อปัสสาวะ
 
แก้ไขล่าสุด: 13 กุมภาพันธ์ 2567

Related conditions

Doctors Related

Related Centers

ศูนย์ทางเดินปัสสาวะ

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 9.09 of 10, จากจำนวนคนโหวต 11 คน

Related Health Blogs