คุณภาพชีวิตดีขึ้น ใช้ชีวิตได้ปกติ ไม่ต้องกังวลกับการฟอกเลือด...เป้าหมายการรักษาผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายด้วย
การผ่าตัดปลูกถ่ายไต
ปัจจุบัน การผ่าตัดปลูกถ่ายไตทำได้ง่ายขึ้นด้วยความเชี่ยวชาญของแพทย์และความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ขณะเดียวกันจำนวนผู้บริจาคอวัยวะที่เพิ่มขึ้นก็ช่วยลดระยะเวลาการรอคอยไตบริจาคลงได้อย่างมากเมื่อเทียบกับในอดีต
การผ่าตัดปลูกถ่ายไตถือเป็นวิธีการบำบัดทดแทนไตที่ดีที่สุด
เนื่องจากการผ่าตัดมีอัตราการประสบความสำเร็จสูง ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถรับประทานอาหาร ออกกำลังกาย เดินทางท่องเที่ยว มีครอบครัวได้เช่นเดียวกับผู้ที่มีสุขภาพดีทั่วไป และมีชีวิตที่ยืนยาวกว่าผู้ป่วยที่ต้องฟอกเลือดหรือล้างไตตลอดชีวิต
การผ่าตัดปลูกถ่ายไตที่บำรุงราษฎร์
บำรุงราษฎร์เป็นโรงพยาบาลสมาชิกสามัญของศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย เริ่มการผ่าตัดปลูกถ่ายไตนับตั้งแต่ปี 2540 ได้ทำการผ่าตัดปลูกถ่ายไตให้กับผู้ป่วยแล้วกว่าร้อยราย ภายใต้โปรแกรมการผ่าตัดปลูกถ่ายไตที่เกิดจากความร่วมมือของบุคลากรทางการแพทย์หลากหลายสาขาวิชาชีพที่พร้อมจะร่วมเดินทางไปกับผู้ป่วยนับตั้งแต่วันแรกที่ผู้ป่วยแสดงความประสงค์จะปลูกถ่ายไต จนกระทั่งการผ่าตัดปลูกถ่ายไตผ่านพ้นไปด้วยดี ซึ่งการเดินทางนี้อาจใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือนหรืออาจยาวนานนับปี
ทีมแพทย์และทีมสหสาขาวิชาชีพ
ทีมแพทย์สหสาขาวิชาชีพของบำรุงราษฎร์ที่ต้องเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยทั้งก่อน ระหว่าง และหลังผ่าตัด รวมถึงตรวจติดตามดูแลต่อเนื่องระยะยาวประกอบไปด้วย
- อายุรแพทย์โรคไต: เป็นแพทย์เจ้าของไข้
- อายุรแพทย์โรคตับ
- อายุรแพทย์โรคหัวใจ
- ศัลยแพทย์ผ่าตัดปลูกถ่ายไต: ทำหน้าที่ผ่าตัดปลูกถ่ายไตให้กับผู้ป่วย ติดตามดูแลแผลผ่าตัด และการทำงานของไตใหม่
- ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ
- สูติ-นรีแพทย์สำหรับผู้ป่วยหญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
- ทันตแพทย์
- เภสัชกร
- จิตแพทย์
- โภชนากร
- พยาบาลประสานงาน: ดูแลติดต่อประสานงานในกระบวนการผ่าตัดปลูกถ่ายไต ในทุกระยะ ให้ข้อมูลและคำแนะนำแก่ผู้ป่วย ถึงกระบวนการการผ่าตัดปลูกถ่ายไต และการปฏิบัติตัวหลัง การผ่าตัดปลูกถ่ายไต รวมถึงติดตามผู้ป่วยหลังผ่าตัด
แพทย์ผ่าตัดปลูกถ่ายไตอย่างไร
การผ่าตัดปลูกถ่ายไตเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญและมีความซับซ้อนอย่างมาก จำเป็นที่ทีมผ่าตัดจะต้องมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์สูงในการผ่าตัดซึ่งมีขั้นตอนดังนี้
- เตรียมผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้าย ด้วยการตรวจร่างกายอย่างละเอียดเพื่อประเมินความพร้อมครั้งสุดท้าย และเตรียมร่างกายสำหรับการผ่าตัด เช่น เตรียมป้องกันการติดเชื้อด้วยการให้ยาปฏิชีวนะ และยากดภูมิคุ้มกัน
- แพทย์จะนำไตที่ได้รับบริจาคมาวางในบริเวณท้องน้อยของผู้ป่วยในตำแหน่งที่ตรวจคลำได้ง่าย โดยไม่ต้องผ่าตัดเอาไตเดิมที่เสื่อมออก ดังนั้น หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะมีไตเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งอัน
- ทำการเชื่อมต่อหลอดเลือดของไตใหม่เข้ากับหลอดเลือดของผู้ป่วย และต่อท่อไตของไตใหม่เข้ากับกระเพาะปัสสาวะของผู้ป่วย เมื่อไม่มีจุดเลือดออกหรือรั่วซึมของปัสสาวะ แพทย์จะทำการปิดแผลผ่าตัด โดยขั้นตอนการผ่าตัดปลูกถ่ายไตทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง ซึ่งผู้ป่วยจะต้องคาสายระบายเลือดและสายสวนปัสสาวะไว้ก่อนและจะถอดออกภายใน 5-7 วันหลังการผ่าตัด
- หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะต้องอยู่ในห้อง CCU ประมาณ 1-3 วัน จากนั้นจึงจะย้ายไปพักในห้องผู้ป่วยอีกประมาณ 7-10 วัน โดยเฉลี่ยแล้วจะต้องอยู่โรงพยาบาลประมาณ 2 สัปดาห์
ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อน
การผ่าตัดปลูกถ่ายไตอาจมีความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ ดังนี้
- ความเสี่ยงจากการที่ร่างกายปฏิเสธไตใหม่ (kidney rejection) จากสถิติการผ่าตัดปลูกถ่ายไตในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์พบว่า อัตราการเกิดภาวะปฏิเสธไตใหม่อย่างเฉียบพลัน (acute rejection) พบน้อยกว่า 10% ซึ่งความเสี่ยงในเรื่องนี้สามารถป้องกันได้หากผู้ป่วยได้รับยากดภูมิคุ้มกันเพียงพอ
- ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นทันทีหลังผ่าตัด ได้แก่ ภาวะแทรกซ้อนจากการดมยาสลบ เลือดออก การเปลี่ยนแปลงของระบบหัวใจและการไหลเวียน เช่น ความดันโลหิตต่ำ และปัญหาระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องอืด ท้องผูก
- ภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อ หลังการผ่าตัดปลูกถ่ายไตภูมิคุ้มกันของร่างกายจะลดลง ทำให้มีโอกาสรับเชื้อได้ง่าย
- ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ พบได้ภายหลังการผ่าตัดปลูกถ่ายไตนานๆ ซึ่งมักเกิดจากการบริหารยากดภูมิคุ้มกัน เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคตับอักเสบ โรคมะเร็ง เป็นต้น
- ภาวะแทรกซ้อนจากเทคนิคการผ่าตัด ซึ่งพบได้น้อยในมือผู้ชำนาญการ
อัตราการประสบความสำเร็จของการผ่าตัดปลูกถ่ายไต
บำรุงราษฎร์มีอัตราการประสบความสำเร็จของการผ่าตัดปลูกถ่ายไตสูงเทียบเท่ากับโรงพยาบาลชั้นนำในสหรัฐอเมริกา แคนาดา และยุโรปตะวันตก
จากสถิติผู้ป่วยปลูกถ่ายไตในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาพบว่า อัตราการรอดของไตที่ทำการปลูกถ่าย (graft survival) ใน 1 ปี สูงถึง 96% 5 ปีอยู่ที่ 83% และ 10 ปีอยู่ที่ 78% ซึ่งอัตราการประสบความสำเร็จนั้นจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละรายขึ้นอยู่กับสภาวะทางร่างกายของผู้ป่วย และไตที่ได้รับบริจาคว่ามาจากผู้มีชีวิตหรือเสียชีวิต
หากท่านที่อ่านบทความนี้แล้ว มีคำถามหรือปัญหาเรื่อง การผ่าตัดปลูกถ่ายไต เช่น ต้องเป็นโรคไตระยะใดถึงรักษาด้วยการผ่าตัดปลูกถ่ายไต? ขั้นตอนการขอรับบริจาคไตทำอย่างไร? ตัวเองมีโรคแทรกซ้อนหลายโรคสามารถผ่าตัดปลูกถ่ายไตได้มั้ย?
วันนี้บำรุงราษฎร์มี Kidney Transplant Coordinator ที่ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการผ่าตัดปลูกถ่ายไต โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
โทร. 08 1834 3439
หรือแอดไลน์เพื่อเข้ากลุ่ม “ติด ตาม ไต” ได้ที่ลิ้งค์นี้
https://bit.ly/38aW2iY
แก้ไขล่าสุด: 24 มิถุนายน 2564