bih.button.backtotop.text

โรคอะคาเลเซีย

โรคอะคาเลเซียพบได้ในประชากร 1 ใน 100,000 คนทั่วโลก เป็นภาวะที่เกิดจากการที่หูรูดหลอดอาหารส่วนปลายที่ต่อกับกระเพาะอาหารไม่คลายตัว ร่วมกับภาวะหลอดอาหารไม่บีบตัว ทำให้อาหารไม่สามารถผ่านลงไปในกระเพาะอาหารได้

สาเหตุ
โรคอะคาเลเซีย เกิดขึ้นมาจากปมประสาทที่บริเวณหูรูดหลอดอาหารและที่หลอดอาหารทำงานผิดปกติหรือมีจำนวนลดลง โดยยังไม่ทราบแน่ชัดถึงสาเหตุแท้จริงที่ทำให้ปมประสาทดังกล่าวผิดปกติ สาเหตุเดียวที่ทราบคือเกิดจากโรคที่มีการติดเชื้อที่เรียกว่า Chagas disease ซึ่งพบในประเทศที่อยู่แถบทวีปอเมริกาใต้ เป็นโรคที่มีการทำลายเซลล์ประสาทของระบบหลอดอาหารทำให้มีอาการเหมือนโรคอะคาเลเชีย
 
โรคอะคาเลเซียสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย และทุกอายุส่วนใหญ่พบในวัยกลางคน
อาการมักพัฒนาอย่างช้าๆเป็นเดือนหรือเป็นปี โดยมีอาการดังนี้
  • กลืนลำบาก เป็นอาการที่พบได้มากที่สุดในระยะแรกเริ่มของโรคสามารถมีอาการกลืนติดทั้งอาหารเหลวและอาหารแข็ง เป็นๆ หายๆ แล้วค่อยๆมีความรุนแรงมากขึ้นจนกลืนติดเกือบตลอดเวลา
  • อาหารไหลย้อนกลับขึ้นมาที่คอคล้ายกรดไหลย้อน
  • แน่นหน้าอก
  • ไอในเวลากลางคืน
  • หากเป็นในระยะเวลานานอาจทำให้น้ำหนักลด ขาดสารอาหารเนื่องจากกลืนลำบาก
  • การตรวจการบีบตัวของหลอดอาหาร (esophageal manometry) เพื่อดูการเปิดปิดของหูรูดหลอดอาหารและการบีบตัวของหลอดอาหาร เป็นวิธีการตรวจวินิจฉัยที่แม่นยำที่สุด
  • การกลืนแป้งและถ่ายภาพเอกซเรย์ (barium swallow) เพื่อตรวจดูว่ามีการอุดกั้นของหลอดอาหารจากสาเหตุอื่นๆ และมีลักษณะหลอดอาหารขยายตัวมากกว่าปกติและค่อยๆตีบแคบคล้ายจะงอยปากนกซึ่งเป็นลักษณะที่สำคัญของโรคนี้
  • การส่องกล้องระบบทางเดินอาหารส่วนบน (upper endoscopy) เพื่อตรวจดูการอุดกั้นของหลอดอาหาร สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการมากจนหลอดอาหารขยาย อาหารไม่สามารถลงกระเพาะได้ เมื่อส่องกล้องจะพบเศษอาหารค้างอยู่ในหลอดอาหารได้
วิธีการรักษาขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยมีอาการมากน้อยเพียงใด โดยมีวิธีการรักษาดังนี้
  • การรักษาด้วยยา หากมีอาการไม่มาก สามารถรักษาด้วยยาคลายกล้ามเนื้อหลอดอาหาร เช่น ยาอมใต้ลิ้น ซึ่งอาจช่วยได้ชั่วคราว
  • การฉีดสารโบทูลินัมท็อกซิน (botox) เข้าไปบริเวณหูรูดหลอดอาหารที่ต่อกับกระเพาะอาหาร เหมาะกับคนที่มีความเสี่ยงต่อการทำหัตถการอย่างอื่น เช่น การผ่าตัดหรือขยายหลอดอาหาร สารโบทูลินัมท็อกซินออกฤทธิ์อยู่ได้นานประมาณครึ่งปีถึงหนึ่งปี
  • การขยายหูรูดหลอดอาหารด้วยลูกโป่ง (balloon dilation) โดยใช้ลูกโป่งพิเศษไปขยายหูรูดหลอดอาหารให้เปิด ทำให้อาหารลงกระเพาะได้ง่าย การรักษาด้วยวิธีการนี้ทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นเกือบปกติ แต่มีความเสี่ยงการทะลุของหลอดอาหารประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสามารถแก้ไขให้รูทะลุปิดได้
  • การผ่าตัดกล้ามเนื้อหลอดอาหาร (Heller myotomy) โดยการกรีดกล้ามเนื้อบริเวณหูรูดหลอดอาหารที่ต่อกับกระเพาะอาหารให้กล้ามเนื้อเปิดออกให้หลวม  ปัญหาที่พบบ่อยที่ตามมาคือการเกิดกรดไหลย้อน แพทย์จึงมักทำการผ่าตัดหุ้มหลอดอาหารส่วนปลายให้แน่นขึ้นเพื่อให้เกิดกรดไหลย้อนน้อยลง (fundoplication) ร่วมด้วย
  • การรักษาด้วยวิธีการส่องกล้อง POEM (peroral endoscopic myotomy) โดยการส่องกล้องเข้าไปทางปากเพื่อเข้าไปในหลอดอาหาร และกรีดกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารให้เปิดดีขึ้น ทำให้อาหารผ่านลงกระเพาะได้ง่ายขึ้น อาจมีผลข้างเคียงคือหลอดอาหารทะลุ ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยและแก้ไขได้ รวมถึงอาจทำให้มีกรดไหลย้อนเพิ่มขึ้น เป็นวิธีการรักษาที่เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการมากจนหลอดอาหารขยายตัวมาก และผู้ป่วยที่ยังมีหลอดอาหารส่วนปลายบีบเกร็งอยู่มาก
โรคอะคาเลเซียเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด การรักษาเป็นเพียงการช่วยให้อาการต่างๆดีขึ้น แต่อาการอาจกลับมาได้อีก ดังนั้นผู้ป่วยจำเป็นต้องพบแพทย์ตามนัดหมายอย่างสม่ำเสมอ
 
แก้ไขล่าสุด: 17 พฤษภาคม 2566

Doctors Related

Related Centers

ศูนย์ทางเดินอาหาร-ตับ

ดูเพิ่มเติม

ศูนย์เฉพาะทางด้านการทำงานระบบทางเดินอาหาร

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต NaN of 10, จากจำนวนคนโหวต 0 คน

Related Health Blogs