โรคการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหารเกี่ยวข้องตั้งแต่หลอดอาหารไปจนถึงทวารหนัก ได้แก่
- อาการกลืนลำบาก
- โรคกรดไหลย้อน ผู้ป่วยอาจมาด้วยอาการ ทางด้านของ โรคหู คอ จมูก เช่น แสบคอ เจ็บคอเรื้อรัง มีเสมหะเรื้อรัง จุกแน่นคอเรื้อรัง หรืออาการทางโรคปอด เช่น ไอเรื้อรัง ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคล้ายโรคหัวใจ เช่น อาการเจ็บหน้าอกที่หาสาเหตุไม่พบ
- ภาวะการขับถ่ายผิดปกติ เช่น ท้องผูกเรื้อรัง กลั้นอุจจาระไม่ได้ โดยภาวะท้องผูกเรื้อรังเป็นภาวะที่พบบ่อยในประชาชนทั่วไป และจะมีผู้ที่ท้องผูกจำนวนหนึ่งที่มีอาการรบกวนมากและไม่ตอบสนองต่อการรักษาโดยแพทย์ทั่วไป ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้สามารถรักษาให้หายขาดหรือบรรเทาอาการให้ดีขึ้นได้ ถ้าได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาที่เหมาะสม เช่น ถ้าตรวจการทำงานของทวารหนักและหูรูดทวารหนัก (anorectal manometry) แล้วพบว่าเกิดจากภาวะเบ่งไม่เป็น (anorectal dyssynergia) การฝึกเบ่ง (biofeedback therapy) โดยทีมผู้เชี่ยวชาญสามารถทำให้อาการท้องผูกหายขาดได้ถึงร้อยละ 60 ส่วนในกลุ่มที่ไม่หายขาดก็ทำให้อาการดีขึ้นสามารถลดยาระบายได้
- ภาวะท้องอืดแน่นท้องเรื้อรัง ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการทำงานของทางเดินอาหารผิดปกติ การส่องกล้องตรวจไม่สามารถพบความผิดปกติได้ ผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจมีสาหตุที่สามารถรักษาให้หายขาดหรือบรรเทาอาการจนไม่รบกวนคนไข้ได้ ถ้าได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาที่เหมาะสม
เพราะฉะนั้นการวินิจฉัยโรคที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่ผิดปกติของระบบทางเดินอาหารจึงต้องอาศัยความชำนาญการตรวจพิเศษและประสบการณ์ที่สูงของแพทย์ การบริการของเราจึงครอบคลุมปัญหาทั้งหมดของระบบทางเดินอาหารดังนี้
ความผิดปกติของการทำงานของระบบทางเดินอาหารส่วนบน
ความผิดปกติของหลอดอาหาร
- โรคอะคาเลเซีย (Achalasia cardia) เป็นความผิดปกติของการกลืนอาหารที่มีสาเหตุมาจากการสูญเสียการทำงานของหลอดอาหารและหูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง
- ภาวะกลืนลำบากหรือหรือภาวะความผิดปกติของการเคลื่อนไหวของหลอดอาหาร (Dysphagia and esophageal motility disorder)
- อาการกรดไหลย้อน (GERD) ได้แก่ เรอเปรี้ยว แสบร้อนหน้าอก และอาการในระบบอื่นที่อาจเกิดจากกรดไหลย้อน (atypical GERD) เช่น อาการไอเรื้อรัง เจ็บคอ แสบคอเรื้อรัง จุกแน่นที่คอ และอาการเจ็บหน้าอกที่ไม่ได้เกิดจากโรคหัวใจ
ความผิดปกติของกระเพาะอาหาร
- โรคกระเพาะอาหาร (Dyspepsia) ที่ตรวจไม่พบสาเหตุจากการส่องกล้อง
- กระเพาะอาหารเคลื่อนไหวช้า (Gastroparesis) ซึ่งทำให้เกิดอาการแน่นท้องหลังอาหารหรืออาเจียนเรื้อรัง
- อาหารระบายออกจากกระเพาะเข้าลำไส้เล็กเร็วเกินไป (Dumping syndrome)
- อาการอาเจียนเรื้อรังเป็นๆหายๆโดยไม่ทราบสาเหตุ (Cyclic vomiting syndrome)
- อาการสำรอกอาหารจากกระเพาะอาหารเรื้อรัง (Rumination syndrome)
ความผิดปกติของการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหารส่วนล่าง
ความผิดปกติของลำไส้ใหญ่
- ภาวะท้องผูกเรื้อรัง (chronic constipation)
- โรคลำไส้แปรปรวน (irritable bowel syndrome: IBS)
ความผิดปกติของลำไส้เล็ก
- ภาวะลำไส้อุดตันเทียม (intestinal pseudo-obstruction) ซึ่งมีอาการเหมือนลำไส้เล็กอุดตันแต่ตรวจด้วยการส่องกล้องหรือรังสีวิทยาแล้วไม่พบการอุดต้น
- การเคลื่อนไหวของลำไส้ที่ผิดปกติ (intestinal dysmotility)
- ภาวะมีแบคทีเรียมากกว่าปกติในลำไส้เล็ก (small intestinal bacterial over growth, SIBO)
ความผิดปกติของลำไส้ใหญ่ ทวารหนักและกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน
- ภาวะกลั้นอุจจาระลำบาก (fecal incontinence)
- ภาวะที่ไม่สามารถควบคุมการหดตัวหรือคลายตัวของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานได้ตามที่ต้องการหรือเบ่งไม่เป็น (pelvic floor dyssynergia) ทำให้เกิดอาการทัองผูก หรือกลั้นอุจจาระไม่ได้ ซึ่งสามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการรักษาโดย biofeedback therapy หรือการฝึกการขับถ่ายด้วยเครื่องมือพิเศษ
- ท้องผูกจากลำไส้ใหญ่เคลื่อนไหวผิดปกติ (delayed colonic transit) คือการที่มีความผิดปกติของการเคลื่อนไหวของลำไส้ใหญ่ทำให้กากอาหารค้างในลำไส้ใหญ่นานกว่าปกติ ไม่ปวดอยากถ่าย ได้ ซึ่งสามารถตรวจได้โดยตรวจดูว่ากากอาหารเคลื่อนไหวช้าในลำใส้ใหญ่หรือไม่ (colonic transit study) หรือตรวจดูการเคลื่อนไหวหรือการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ (colonic manometry)