bih.button.backtotop.text

ภาวะสับสนเฉียบพลันในผู้สูงวัย

ภาวะสับสนเฉียบพลันเป็นภาวะแทรกซ้อนอย่างหนึ่งที่พบบ่อยในผู้สูงวัย โดยเฉพาะผู้สูงวัยที่กำลังรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล

อาการแสดงของภาวะสับสนเฉียบพลันในผู้สูงวัย
ผู้สูงวัยอาจมีอาการแสดงแตกต่างกันออกไป แต่หากมีหนึ่งหรือหลายอาการด้านล่าง ให้สงสัยว่าผู้สูงวัยอาจมีภาวะสับสนเฉียบพลัน
  • นอนหลับมาก ซึมลงมากกว่าปกติ พูดน้อยลง
  • ตื่นตัว กระวนกระวายมากกว่าปกติ ไม่หลับไม่นอน
  • มองเห็นภาพหลอน อาจเป็นบุคคลหรือสิ่งของ
  • วอกแวกง่าย ไม่มีสมาธิ กระวนกระวาย
  • พูดจาไม่เป็นเรื่องราว สับสน หลงวัน เวลา และสถานที่
ภาวะสับสนเฉียบพลันมักเกิดเร็วภายในหลักชั่วโมงหรือหลักวัน โดยอาการจะเป็นมากน้อยขึ้นลงเป็นช่วงๆ แล้วแต่เวลาของแต่ละวัน โดยมักพบภาวะนี้ในผู้สูงวัยมากกว่าวัยอื่นๆ
 
  • ผู้สูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
  • มีภาวะสมองเสื่อมหรือโรคทางสมองอื่นๆ
  • เคยมีภาวะสับสนเฉียบพลันมาก่อน
  • มีการมองเห็นหรือการได้ยินผิดปกติ
  • สูญเสียความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันด้วยตนเอง มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว ลุกออกจากเตียง
  • เข้ารับการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในอยู่ในโรงพยาบาล
  • มีโรคประจำตัวรุนแรงหรือเจ็บป่วยในระยะสุดท้าย
  • รับประทานยาหลายชนิดเป็นประจำ
ภาวะสับสนเฉียบพลันถือเป็นภาวะค่อนข้างเร่งด่วนที่ต้องไปพบแพทย์ เนื่องจากเกิดจากความผิดปกติบางอย่างของร่างกายที่ซ่อนอยู่ ไม่ใช่เกิดจากโรคทางจิตเวช สำหรับความผิดปกติทางกายที่สำคัญที่มักเป็นสาเหตุของอาการนี้ ได้แก่
  • ภาวะติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อที่พบบ่อยโดยเฉพาะในผู้สูงวัย ได้แก่ ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะและติดเชื้อในปอด แต่ภาวะสับสนเฉียบพลันในผู้สูงวัยก็อาจเกิดมาจากการติดเชื้อในอวัยวะอื่นๆ ได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น ติดเชื้อที่ผิวหนัง ติดเชื้อในช่องท้อง หรือติดเชื้อในกระแสเลือด
  • โรคทางร่างกายอื่นๆ เช่น น้ำตาลในเลือดต่ำ ภาวะกรดและด่าง เกลือแร่ในเลือดที่ไม่สมดุล ท้องผูก ปัสสาวะไม่ออก หรือภาวะเจ็บป่วยทางร่างกายอื่นๆ
  • การใช้ยาในผู้สูงวัย ยาหลายชนิดอาจเป็นสาเหตุทำให้ผู้สูงวัยเกิดภาวะสับสนเฉียบพลันได้ โดยเฉพาะกลุ่มยาที่มีผลต่อระบบสมอง โดยหากรับประทานยาหลายชนิดยิ่งมีโอกาสเกิดได้สูง ตัวอย่างยาที่เป็นสาเหตุ ได้แก่ ยาลดน้ำมูก ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้ปวด ยานอนหลับ ยารักษาโรคซึมเศร้า ยารักษาโรคพาร์กินสัน เป็นต้น เพราะฉะนั้นหากเพิ่งได้รับยามาไม่นาน มีการปรับขนาดยาหรือวิธีการรับประทานก่อนเกิดอาการสับสนเฉียบพลัน ให้หยุดยาดังกล่าวและปรึกษาแพทย์
ทั้งนี้การหยุดยาบางตัวอย่างกะทันหัน เช่น รับประทานยานอนหลับมานานแล้วหยุดในทันที ก็อาจทำให้เกิดอาการสับสนเฉียบพลันได้เช่นกัน
  • ความผิดปกติของการทำงานของสมอง เช่น ภาวะชัก หรือหลอดเลือดในสมอง
  • หลีกเลี่ยงการเริ่มหรือหยุดยา อาหารเสริม หรือยาสมุนไพรด้วยตัวเอง ก่อนใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้ง
  • เมื่อมีอาการเจ็บไข้ไม่สบายใดๆ ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน ในกรณีที่เกิดอาการสับสนแล้วให้รีบหยุดยาที่ไม่แน่ใจและนำผู้ป่วยไปพบแพทย์ เนื่องจากอาจเกิดจากความผิดปกติบางอย่างที่เป็นอันตรายต้องรักษาอย่างรวดเร็ว
  • ในกรณีที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือต้องได้รับการผ่าตัด ควรได้รับการประเมินจากแพทย์ถึงความเสี่ยงต่อการเกิดอาการสับสนเฉียบพลันและการป้องกันไว้ด้วย
แก้ไขล่าสุด: 06 มกราคม 2568

Related Treatments

Doctors Related

Related Centers

คลินิกสุขภาพผู้สูงอายุนิวไลฟ์

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต NaN of 10, จากจำนวนคนโหวต 0 คน

Related Health Blogs