bih.button.backtotop.text

โรคหอบหืด

โรคหอบหืด (asthma) เป็นโรคที่มีการอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุหลอดลม ร่วมกับภาวะผิดปกติของหลอดลมที่ไวต่อสิ่งกระตุ้นต่างๆ มากกว่าปกติ เมื่อผู้ป่วยสัมผัสกับสิ่งกระตุ้น กล้ามเนื้อบริเวณหลอดลมจะเกิดการหดเกร็ง ผนังหลอดลมบวมหนาขึ้นและสร้างสารคัดหลั่งหรือเสมหะมากขึ้น ทำให้หลอดลมตีบแคบลง ผู้ป่วยจึงหายใจลำบาก มีอาการเหนื่อยหอบ สมรรถภาพการทำงานของปอดลดลง ในรายที่อาการรุนแรงมากอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
โรคหอบหืดเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด แต่สามารถควบคุมไม่ให้อาการกำเริบได้

สาเหตุของโรคหอบหืด
โรคหอบหืดเกิดได้จาก 2 ปัจจัยหลัก คือ
  1. ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม  ผู้ป่วยโรคหอบหืดอาจมีอาการกำเริบเมื่อถูกกระตุ้นจากปัจจัยต่างๆ อาทิ
  • การสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ (allergens) ที่กระตุ้นให้เกิดอาการทางระบบทางเดินหายใจซึ่งจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน เช่น ละอองเกสรดอกไม้ เกสรหญ้า ไรฝุ่น ขนสัตว์ มลพิษในอากาศ
  • การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น เป็นไข้หวัด ไซนัสอักเสบ
  • สัมผัสอากาศเย็น
  • ออกกำลังกายหักโหมเกินไป
  • มีภาวะกรดไหลย้อน
  • รับประทานยาบางชนิด เช่น แอสไพริน และยาในกลุ่มต้านอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ไอบูโพรเฟน
  • สารกันบูดในอาหาร
  • ความเครียด
  1. ปัจจัยทางพันธุกรรม โรคหอบหืดเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ผู้ที่มีบิดา มารดา หรือญาติเป็น จะมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าคนทั่วไป
ผู้ป่วยโรคหอบหืดจะมีอาการไอ มีเสมหะ แน่นหน้าอก หายใจไม่อิ่ม หายใจมีเสียงหวีด และเหนื่อยหอบ โดยอาการจะเป็นๆ หายๆ ส่วนใหญ่เป็นช่วงกลางคืนหรือเช้ามืด และหลังจากสัมผัสปัจจัยกระตุ้นต่างๆ

ทั้งนี้ อาการของโรคมีตั้งแต่ไม่รุนแรงมาก คือ ไออย่างเดียว มีอาการเป็นช่วงสั้นๆ หอบนานๆ ครั้ง ไปจนถึงอาการรุนแรงมาก เช่น หอบทุกวัน หรือมีอาการตลอดเวลาจนไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ
 
นอกเหนือจากการซักประวัติและตรวจร่างกายโดยเฉพาะการฟังเสียงปอดทั้งสองข้างแล้ว แพทย์วินิจฉัยโรคหืดได้ด้วยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งการตรวจหลักๆ ที่ใช้ในเบื้องต้นได้แก่
  • การตรวจสมรรถภาพปอดด้วยวิธี spirometry ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานในการตรวจวัดปริมาตรของอากาศที่หายใจเข้าและออกจากปอด รวมถึงประสิทธิภาพของปอดในการลำเลียงออกซิเจนเข้าสู่กระแสเลือด โดยแพทย์จะให้ยาขยายหลอดลมแล้วให้ผู้ป่วยหายใจเข้าเต็มที่แล้วเป่าลมหายใจออกให้เร็วและแรงผ่านเครื่อง spirometer เพื่อวัดค่าปริมาณอากาศที่ผู้ป่วยสามารถหายใจออกใน 1 วินาที เทียบกับค่าปริมาณของอากาศเมื่อหายใจออกทั้งหมด เมื่อนำผลมาพิจารณาประกอบกับอาการของผู้ป่วยก็จะสามารถบอกถึงระดับความรุนแรงของโรคได้
  • การตรวจ Peak Expiratory Flow (PEF) เป็นการตรวจสมรรถภาพปอดโดยใช้เครื่อง Peak Flow Meter โดยให้ผู้ป่วยสูดลมหายใจเข้าให้เต็มปอดแล้วเป่าออกให้แรงที่สุดเพื่อวัดค่าความเร็วสูงสุดของลมที่เป่าออกได้ หากค่าที่วัดได้ต่ำกว่าปกติอาจเป็นไปได้ว่าเกิดจากภาวะหลอดลมตีบ
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการใกล้เคียงโรคหอบหืด แต่เมื่อตรวจด้วยสองวิธีดังกล่าวข้างต้นแล้วไม่พบความผิดปกติ แพทย์อาจตรวจเพิ่มเติม เช่น
  • ตรวจภาวะหลอดลมไวเกินโดยให้ผู้ป่วยสูดดมสารเมธาโคลีน (methacholine) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้หลอดลมหดตัวเพื่อดูปฏิกิริยาตอบสนองของหลอดลม
  • ตรวจการออกกำลังกาย  เพื่อดูว่ามีภาวะหลอดลมตีบหลังการออกกำลังกายหรือไม่
  • ตรวจภาวะภูมิแพ้ เพื่อหาปัจจัยเสี่ยงที่กระตุ้นให้เกิดอาการของโรค
  • ตรวจภาพรังสีทรวงอกหรือเอกซเรย์ปอด เพื่อแยกโรคที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน
  • ตรวจการอักเสบของหลอดลม
การอักเสบของเยื่อบุหลอดลมในผู้ป่วยโรคหอบหืดนั้น หากเกิดขึ้นเป็นเวลานานอาจทำให้หลอดลมเปลี่ยนแปลงรูปร่างและการทำงานได้ ซึ่งผลที่ตามมาคือสมรรถภาพปอดของผู้ป่วยจะต่ำกว่าปกติและหลอดลมไวต่อสิ่งกระตุ้นอย่างถาวร การรักษาโรคหอบหืดจึงควรกระทำแต่เนิ่นๆ
แนวทางในการรักษาโรคหอบหืดประกอบไปด้วย การรักษาภาวะอักเสบเพื่อควบคุมอาการของโรคให้สงบลง และการป้องกันอาการกำเริบด้วยการหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นต่างๆ ที่ทำให้เกิดอาการหอบหืด เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

          สำหรับยาที่ใช้รักษาโรคหอบหืดมีทั้งชนิดสูดพ่นและยารับประทาน ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
  • กลุ่มยาควบคุมหรือระงับการอักเสบของหลอดลม เช่น ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดสูดพ่น (inhaled corticosteroids)
  • กลุ่มยาบรรเทาอาการ ได้แก่ ยาขยายหลอดลมซึ่งมีฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อหลอดลมคลายตัวและขยายตัว จึงช่วยลดอาการไอ เหนื่อยหอบ หายใจไม่สะดวก ยานี้ควรใช้เฉพาะเมื่อมีอาการ และไม่มีผลในการลดอาการหลอดลมอักเสบ
เนื่องจากโรคหอบหืดเป็นโรคที่มีการเปลี่ยนแปลงอาการเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ดังนั้น แพทย์จะประเมินผลการรักษาด้วยยาเป็นระยะ และอาจต้องปรับเปลี่ยนหรือลด-เพิ่มขนาดของยาตามความจำเป็นเพื่อให้การควบคุมโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดอาการข้างเคียงจากการใช้ยา และลดความเสี่ยงของอาการกำเริบเฉียบพลันซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการป้องกันการเกิดโรคหอบหืด แต่การป้องกันและควบคุมอาการของโรคไม่ให้กำเริบนั้นสามารถทำได้และถือเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาโรค โดยแพทย์จะค้นหาปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการหอบหืด เช่น สารก่อภูมิแพ้ สารระคายเคือง สภาวะอากาศ และให้คำแนะนำในการหลีกเลี่ยงปัจจัยเหล่านั้น เช่น กำจัดไรฝุ่นในบ้าน หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยง หลีกเลี่ยงควันบุหรี่และควันต่างๆ เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้ป่วยเองสามารถควบคุมอาการของโรคได้ด้วยการดูแลตัวเองให้มีสุขภาพแข็งแรง โดยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ ระวังหรือรักษาโรคกรดไหลย้อน เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ผ่อนคลายตัวเองจากภาวะเครียด และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
แก้ไขล่าสุด: 02 กุมภาพันธ์ 2564

การรักษาที่เกี่ยวข้อง

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์รักษาที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์ภูมิแพ้

ครอบคลุมทุกการแก้ปัญหาของภูมิแพ้เด็กและผู้ใหญ่

ดูเพิ่มเติม

ศูนย์กุมารเวช

ดูเพิ่มเติม

ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 8.48 of 10, จากจำนวนคนโหวต 33 คน

Related Health Blogs