bih.button.backtotop.text

โรคสมาธิสั้น

โรคสมาธิสั้น คือ กลุ่มอาการที่เกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็กก่อนอายุ 12 ขวบ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อพฤติกรรม อารมณ์ การเรียน และการเข้าสังคมกับผู้อื่นของเด็ก

กลุ่มอาการนี้ประกอบด้วย
  • การขาดสมาธิ (attention deficit)
  • การขาดความสามารถในการควบคุมตนเอง (impulsivity)
  • อาการซน (hyperactivity)
เด็กบางคนอาจมีอาการซนและการขาดความสามารถในการควบคุมตนเองเป็นปัญหาหลัก ซึ่งพบได้บ่อยในเด็กผู้ชาย หรือบางคนอาจมีอาการขาดสมาธิเป็นปัญหาหลัก ซึ่งพบได้บ่อยพอๆ กันในเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย โรคสมาธิสั้นพบได้บ่อยในทุกประเทศทั่วโลก ในประเทศไทยพบว่า ประมาณ 8% ของเด็กในวัยเรียนป่วยเป็นโรคสมาธิสั้น
อาการที่บ่งชี้ว่าเด็กอาจเป็นโรคสมาธิสั้น ได้แก่
  1. อาการขาดสมาธิ (attention deficit) โดยเด็กจะมีลักษณะดังต่อไปนี้
  • ไม่สามารถทำงานที่ครูหรือพ่อแม่สั่งจนสำเร็จ
  • ไม่มีสมาธิในขณะทำงานหรือเล่น
  • ดูเหมือนไม่ค่อยฟังเวลาพูดด้วย
  • ไม่สามารถตั้งใจฟังและเก็บรายละเอียดได้ ทำให้งานผิดพลาดบ่อยๆ
  • ไม่ค่อยเป็นระเบียบ
  • มีปัญหาหรือพยายามหลีกเลี่ยงงานที่ต้องใช้ความคิดเห็น สมาธิ เช่น อ่านหนังสือ ทำการบ้าน
  • วอกแวกง่าย
  • ทำของใช้ส่วนตัวหรือของใช้ที่จำเป็นสำหรับงานหรือการเรียนหายอยู่บ่อยๆ
  • ขี้ลืม
  1. อาการซน (hyperactivity) และขาดความสามารถในการควบคุมตนเอง (impulsivity) โดยเด็กจะมีลักษณะดังต่อไปนี้
  • ยุกยิก อยู่ไม่สุข
  • นั่งไม่ติดที่ ลุกเดินบ่อยๆ ขณะอยู่ที่บ้านหรือในห้องเรียน
  • ชอบวิ่งหรือปีนป่ายสิ่งต่างๆ
  • พูดมาก พูดไม่หยุด
  • เล่นเสียงดัง
  • ตื่นตัวตลอดเวลา หรือดูตื่นเต้นง่าย
  • ชอบโพล่งคำตอบเวลาครูหรือพ่อแม่ถามโดยที่ยังฟังคำถามไม่จบ
  • รอคอยไม่เป็น
  • ชอบขัดจังหวะหรือสอดแทรกเวลาผู้อื่นกำลังพูดอยู่
หากเด็กมีลักษณะในข้อ 1 หรือข้อ 2 รวมกันมากกว่า 6 อาการ นานติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือน มีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นโรคสมาธิสั้น
การวิจัยในปัจจุบันพบว่า โรคสมาธิสั้นเกิดจากความบกพร่องของสารเคมีที่สำคัญบางตัวในสมอง โดยมีกรรมพันธุ์เป็นปัจจัยที่สำคัญ ประมาณ 30-40% ของเด็กสมาธิสั้นจะมีคนในครอบครัวคนใดคนหนึ่งป่วยเป็นโรคสมาธิสั้นเช่นเดียวกัน
มารดาที่ขาดสารอาหาร ดื่มสุรา สูบบุหรี่ หรือได้รับสารพิษบางชนิด เช่น ตะกั่วระหว่างตั้งครรภ์ จะมีโอกาสมีลูกเป็นโรคสมาธิสั้นสูงขึ้น

การวิจัยในปัจจุบันไม่พบว่า การบริโภคน้ำตาลหรือช็อกโกแลตมากเกินไป การขาดวิตามิน โรคภูมิแพ้ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคสมาธิสั้น แต่พบว่าการดูโทรทัศน์หรือเล่นวิดีโอเกมเป็นเวลานานจะทำให้เด็กมีปัญหาสมาธิสั้น ซน อยู่ไม่นิ่งได้ เนื่องจากในขณะที่เด็กดูโทรทัศน์หรือเล่นวิดีโอเกม เด็กจะถูกกระตุ้นอย่างต่อเนื่องโดยภาพบนจอโทรทัศน์หรือวิดีโอเกมที่เปลี่ยนทุก 2-3 วินาที จึงสามารถดึงดูดความสนใจของเด็กได้ สมาธิของเด็กมีขึ้นได้จากสิ่งเร้าภายนอกซึ่งตรงกันข้ามกับสมาธิที่เด็กต้องสร้างขึ้นมาเองระหว่างการอ่านหนังสือหรือทำงานต่างๆ เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นจะขาดสมาธิอันนี้
 
การรักษาเด็กสมาธิสั้นที่มีประสิทธิภาพสูงสุด คือ การผสมผสานการรักษาหลายๆ ด้านดังต่อไปนี้เข้าด้วยกัน:
  • การรักษาด้วยยา
  • การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการช่วยเหลือทางด้านจิตใจสำหรับเด็กและครอบครัว
  • การช่วยเหลือทางด้านการเรียน
เมื่อผ่านวัยรุ่น ประมาณ 30% ของเด็กสมาธิสั้นมีโอกาสหายจากโรคนี้ และสามารถเรียนหนังสือหรือทำงานได้ตามปกติโดยไม่ต้องรับประทานยาต่อไป ส่วนใหญ่ของเด็กสมาธิสั้นจะยังคงมีความบกพร่องของสมาธิอยู่ในระดับหนึ่งถึงแม้ว่าเด็กดูเหมือนจะซนน้อยลงและมีความสามารถในการควบคุมตนเองดีขึ้น เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้วบางคนหากสามารถปรับตัวและเลือกงานที่ไม่จำเป็นต้องใช้สมาธิมากนักก็มีโอกาสประสบความสำเร็จและดำเนินชีวิตได้ตามปกติ บางคนอาจยังคงมีอาการของโรคสมาธิสั้นอยู่มากซึ่งจะมีผลเสียต่อการศึกษา การงาน และการเข้าสังคมกับผู้อื่น ผู้ป่วยในกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง
 

Related Treatments

Doctors Related

Related Centers

ศูนย์กุมารเวช

ดูเพิ่มเติม

Related Packages

คะแนนโหวต 10.00 of 10, จากจำนวนคนโหวต 1 คน

Related Health Blogs