ความซนกับเด็กมักเป็นของคู่กันจนอาจทำให้คุณพ่อคุณแม่มองเห็นเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าเด็กซนมากเกินไป ไม่อยู่นิ่ง ดูไม่มีสมาธิ หุนหันพลันแล่น จนกระทบต่อการเรียนและความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง นั่นอาจเกิดจาก “โรคสมาธิสั้น” ที่จำเป็นต้องทำการรักษา
โรคสมาธิสั้นเกิดจากความผิดปกติของสมองส่วนหน้า โดยปกติโรคสมาธิสั้นจะมี 3 องค์ประกอบ ได้แก่ ซนมาก สมาธิสั้น และหุนหันพลันแล่น แต่ไม่จำเป็นต้องมีครบทุกสามอย่างนี้ อาจจะมีเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรืออาจมีครบทุกอย่างเลยก็ได้ โดยอาการเหล่านี้จะต้องเกิดก่อนอายุ 12 ปี
- ซนมาก – เด็กจะวิ่งเล่นในแต่ละวันแบบไม่หยุด ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย มักชอบเล่นอะไรที่เสี่ยงๆ แผลงๆ เล่นแรง ไม่กลัวเจ็บ ยุกยิก อยู่นิ่งไม่ได้ ต้องขยับส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเสมอ นั่งนิ่งๆ ไม่ได้ ต้องผุดลุกผุดนั่ง ทำท่าจะลุกตลอดเวลา เมื่อเข้าโรงเรียนคุณครูมักจะบอกว่าเด็กไม่ยอมเรียน ลุกตลอดเวลา เดินวนในห้อง ในบางรายอาจลงไปนอนกลางห้อง เด็กมักเล่นกับเพื่อนที่โรงเรียนไม่ได้เพราะเล่นแรงมาก ทำให้ไม่มีใครเล่นด้วย
- สมาธิสั้น – อาจสังเกตได้จากเมื่อไปโรงเรียนคุณครูจะบอกว่าเหม่อ เรียกชื่อแล้วไม่หัน พูดสั่งให้ทำแล้วไม่ทำตาม ฟังคำสั่งได้ไม่ครบ เนื่องจากเด็กจะฟังประโยคยาวๆ ได้ไม่จบ เพราะใจไม่ได้อยู่กับคนพูด จะจับได้แค่ประโยคแรกๆ ทำให้เรียนได้ไม่ดี ไม่สามารถรับความรู้ใหม่ๆ ได้เต็มที่ ทำงานผิดพลาดบ่อย ทำการบ้านไม่เสร็จ ทำงานตามสั่งไม่ครบ ทำของหายบ่อยๆ เพราะจำไม่ได้ว่าวางไว้ที่ไหน
- หุนหันพลันแล่น – เด็กจะไม่รู้จักการรอคอย ต้องตอบโต้ทันที สังเกตได้จากเด็กจะชอบพูดสวน ชอบโพล่งขึ้นมากลางการสนทนา หรือชอบแซงคิว
อย่างไรก็ดี คุณพ่อคุณแม่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าโดยปกติเด็กแต่ละวัยจะมีสมาธิไม่เท่ากันอยู่แล้ว เด็กเล็กจะมีสมาธิสั้นกว่าเด็กโต ในเด็กเล็กๆ ช่วงขวบปีแรกจะมีสมาธิไม่เกิน 2-3 นาที หลังจากนั้นจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คือในช่วง 1-2 ขวบประมาณ 3-5 นาที วัยอนุบาลประมาณ 5-15 นาที และช่วงประถมต้นได้นานถึง 15-30 นาทีขึ้นไป ดังนั้นจะนำเด็กเล็กมาเปรียบเทียบกับเด็กโตไม่ได้
หากคุณพ่อคุณแม่สงสัยว่าลูกเป็นโรคสมาธิสั้น ควรปรึกษาแพทย์ เพราะโรคสมาธิสั้นจำเป็นต้องทำการรักษา หากปล่อยไว้อาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว การอยู่ร่วมกับเพื่อนที่โรงเรียน และการเรียนของเด็กเอง รวมถึงเมื่อเด็กโตขึ้น ความซับซ้อนทางอารมณ์ก็จะมีมากขึ้น เด็กอาจรู้สึกมีปมด้อยถ้าไม่มีเพื่อนเล่นด้วย นอกจากนี้ เด็กสมาธิสั้นยังมีแนวโน้มที่จะโตไปเป็นคนขี้โมโห หงุดหงิดง่าย อ่อนไหวต่อคำพูดของคนอื่น การรักษาจะช่วยลดความรุนแรงของโรคลงได้ โดยทั่วไปการรักษาจะเริ่มจากการปรับพฤติกรรม มีการสร้างกรอบที่เหมาะสมให้กับเด็ก การย่อยงานโดยใช้คำสั่งที่สั้นและให้เด็กมีการทวนคำสั่งซ้ำ การจัดห้องเรียนและสิ่งแวดล้อมที่โรงเรียนให้เหมาะสมกับเด็ก เช่น ให้เด็กนั่งเรียนแถวหน้าสุด ใกล้โต๊ะครู เป็นต้น ซึ่งแพทย์จะมีการสื่อสารและประสานกับคุณพ่อคุณแม่และคุณครูที่โรงเรียนอย่างใกล้ชิด ในบางกรณีที่เป็นมากหรือมีโรคร่วมอาจต้องให้ยาในการรักษาร่วมด้วย
แม้การรักษาจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้โรคสมาธิสั้นในเด็กดีขึ้นได้ แต่คุณพ่อคุณแม่ยังเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการเลี้ยงดูและช่วยปรับพฤติกรรมของลูก ซึ่งการดูแลเบื้องต้นง่ายๆ ที่สามารถทำได้เองที่บ้านทุกวัน เช่น
- งดเลี้ยงลูกด้วยอุปกรณ์เทคโนโลยี หลีกเลี่ยงการให้ลูกอายุต่ำกว่า 2 ขวบดูโทรทัศน์ เล่นคอมพิวเตอร์ หรือเล่นเกม ถ้าอายุมากกว่า 2 ขวบให้อนุญาตได้ไม่เกิน 1-2 ชั่วโมงสำหรับทุกจอ
- สร้างวินัยให้ลูก ให้กิน นอน เล่น เป็นเวลา ให้เด็กทราบว่าเวลาไหนควรทำอะไร เพื่อเป็นการฝึกให้เด็กรู้จักควบคุมตัวเอง
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเป็นโรคสมาธิสั้นควรทำความเข้าใจกับธรรมชาติของโรค และใช้ข้อดีของโรคให้เป็นประโยชน์ เช่น เด็กไม่ชอบอยู่นิ่ง จะกระตือรือร้นอยากทำกิจกรรมต่างๆ อยู่แล้ว ก็พาไปเล่นกีฬานอกบ้าน อยู่โรงเรียนก็ให้ช่วยคุณครูลบกระดาน เดินไปหยิบของให้คุณครู ช่วยคุณครูถือของ เป็นต้น
เรียบเรียงโดย พญ.สุพาพรรณวดี ฟู่เจริญ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก ศูนย์กุมารเวช โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 11 มีนาคม 2565