bih.button.backtotop.text

ความดันโลหิตและการตั้งครรภ์

ความดันโลหิตเป็นส่วนสำคัญในการทำงานของระบบการไหลเวียนโลหิตของร่างกาย ซึ่งประกอบด้วยหัวใจ เส้นเลือดใหญ่ และเส้นเลือดฝอยต่างๆ ความดันโลหิตเกิดขึ้นจากการเต้นของหัวใจ ในแต่ละครั้งที่หัวใจบีบรัดตัวนั้น หัวใจจะสูบฉีดเลือดเข้าสู่เส้นเลือดแดงและนำเลือดไปยังอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย และเส้นเลือดดำจะเป็นตัวนำเลือดกลับเข้าสู่หัวใจ
ความดันโลหิตจะมีค่าแตกต่างกันไปในแต่ละคน และมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ ในระหว่างวัน ความดันโลหิตเพิ่มขึ้นเมื่ออยู่ในภาวะตื่นเต้นหรือเมื่อออกกำลังกาย และลดลงเมื่อเราพักผ่อน การเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้นับเป็นเรื่องปกติ แต่ที่เป็นปัญหาคือเมื่อเรามีความดันโลหิตสูงเป็นเวลานาน
สำหรับสตรีมีครรภ์โดยส่วนใหญ่แล้ว การมีความดันโลหิตต่ำกว่า 120/80 มิลลิเมตรปรอทถือเป็นเรื่องปกติ หากคุณกำลังตั้งครรภ์และมีความดันโลหิตตัวเลขตัวบน (systolic) วัดได้อย่างน้อย 140 มิลลิเมตรปรอทหรือตัวล่าง (diastolic) วัดได้อย่างน้อย 90 มิลลิเมตรปรอท วัดสองครั้งห่างกันอย่างน้อย 4 ชั่วโมง นั่นคือมีความดันโลหิตสูง การวัดความดันโลหิตในช่วงพักผ่อนจะถือเป็นค่าเฉลี่ยที่ดีที่สุด

ผลกระทบต่อการตั้งครรภ์
สำหรับการตั้งครรภ์ปกตินั้น ทารกจะได้รับสารอาหารและออกซิเจนจากมารดาในการเจริญเติบโตตามปกติเมื่อมีโลหิตไหลเวียนไปยังรกในปริมาณที่พอเหมาะ ซึ่งสารอาหารและออกซิเจนจะส่งไปยังทารกผ่านทางสายสะดือ ความดันโลหิตสูงสามารถก่อให้เกิดปัญหาระหว่างการตั้งครรภ์ได้ ตัวอย่างเช่น เมื่อมารดามีความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์จะทำให้มีโลหิตไหลเวียนเข้าสู่รกได้น้อยลง ซึ่งหมายความว่าทารกในครรภ์จะได้รับสารอาหารและออกซิเจนน้อยลงไปด้วย และมีผลต่อการเจริญเติบโตของทารก
เมื่อมารดาเริ่มมีความดันโลหิตสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของการตั้งครรภ์ เรียกได้ว่าเป็นภาวะที่มีความดันโลหิตสูงที่เกิดจากการตั้งครรภ์ ภาวะความดันโลหิตสูงนี้จะหายได้เองเมื่อคลอดบุตรแล้ว แต่มารดายังคงต้องพบแพทย์เพื่อตรวจวัดระดับความดันโลหิตเป็นประจำ หากมารดาตั้งครรภ์และมีความดันโลหิตสูงพร้อมกับมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เรียกว่ามีภาวะครรภ์เป็นพิษ ความดันโลหิตสูงที่เกิดระหว่างตั้งครรภ์นั้นสามารถนำไปสู่ภาวะครรภ์เป็นพิษได้
แม้ว่าความดันโลหิตสูงจะนับเป็นอาการหนึ่งของครรภ์เป็นพิษ แต่หากเกิดครรภ์เป็นพิษแล้วจะมีผลกระทบต่ออวัยวะต่างๆ ทั่วทั้งร่างกาย ตัวอย่างเช่น ครรภ์เป็นพิษทำให้ไตทำงานหนักขึ้น ซึ่งมีผลทำให้มีโปรตีนในปัสสาวะเพิ่มมากขึ้น อาการอื่นๆ ของครรภ์เป็นพิษ เช่น
  • ปวดศีรษะ
  • ตามัว
  • จุกแน่นลิ้นปี่
  • น้ำหนักขึ้นอย่างรวดเร็ว
  • บวมน้ำตามมือและใบหน้า
เมื่อความดันโลหิตสูงขึ้นและอายุครรภ์ยังไม่ใกล้กำหนดคลอด แพทย์จะแนะนำให้นอนพักผ่อนที่บ้านหรือที่โรงพยาบาลซึ่งจะช่วยให้ความดันโลหิตลดลงได้ ถ้าหากความดันโลหิตสูงขึ้นแต่ยังไม่ถึงระดับที่เป็นอันตราย การตั้งครรภ์ก็จะดำเนินไปได้จนกระทั่งคลอดบุตร

หากมีอาการครรภ์เป็นพิษ วิธีที่จะสามารถรักษาให้หายขาดได้ก็คือการคลอดบุตร การตัดสินใจที่จะให้คลอดบุตรหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของตัวมารดา และพิจารณาดูว่าความเสี่ยงที่จะมีต่อบุตรในครรภ์นั้นสูงหรือไม่ มารดาสามารถทำการคลอดบุตรได้ตามธรรมชาติหรือใช้ยาเร่งคลอด บางครั้งแพทย์อาจจำเป็นต้องทำการผ่าคลอดให้ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับสุขภาพของมารดาและทารกเป็นสำคัญ

ก่อนจะตัดสินใจทำคลอดบุตรก่อนกำหนดนั้น แพทย์จะรอดูอาการก่อนว่าดีขึ้นหรือไม่ ในระหว่างการคลอดนั้น มารดาจะได้รับยาเพื่อป้องกันการชักและช่วยลดความดันโลหิต

ความดันโลหิตสูงระหว่างการตั้งครรภ์อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อทั้งตัวทารกและต่อมารดาได้ หากมารดามีความดันโลหิตสูงเรื้อรังและมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการครรภ์เป็นพิษ มารดาควรปฏิบัติตามคำแนะนำที่จะช่วยลดความเสี่ยงให้กับทารกในครรภ์ มารดาอาจจำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษและพบแพทย์บ่อยกว่าเดิม การปฏิบัติตามแพทย์แนะนำในการควบคุมความดันโลหิตจะช่วยเพิ่มโอกาสที่จะคลอดบุตรที่สมบูรณ์แข็งแรงได้
 
แก้ไขล่าสุด: 18 เมษายน 2566

Related Treatments

Doctors Related

Related Centers

ศูนย์สูติ-นรีเวช

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต NaN of 10, จากจำนวนคนโหวต 0 คน

Related Health Blogs