bih.button.backtotop.text

ติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่

ติ่งเนื้องอกในสำไส้ใหญ่ คือ การเจริญเติบโตของก้อนเนื้อที่เกิดขึ้นที่ผนังลำไส้ใหญ่ มีลักษณะเหมือนก้อนเล็กๆ ที่ยื่นออกมาจากผนังลำไส้ บางครั้งจะมีลักษณะเหมือนเห็ด ขนาดของติ่งเนื้อจะแตกต่างกันออกไป ตั้งแต่ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า ¼ ของ 1 นิ้ว ไปจนกระทั่งหลายนิ้ว สามารถเกิดขึ้นได้ในหลายๆ จุดตลอดทางเดินอาหาร แต่ที่พบบ่อยที่สุดคือบริเวณลำไส้ใหญ่ ผู้ป่วยบางรายอาจมีติ่งเนื้อหลายจุดกระจายไปทั่วบริเวณลำไส้ใหญ่

ติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่พบได้บ่อยในผู้ใหญ่ เนื่องจากเมื่ออายุมากขึ้นจะมีโอกาสพบติ่งเนื้อลักษณะนี้ได้มากขึ้น โดยมีการประมาณเอาไว้ว่า ผู้ที่มีอายุอยู่ในช่วง 50 ปีแม้จะไม่มีปัจจัยเสี่ยงใดๆ ก็ยังมีโอกาสที่พบติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ได้ถึง 25%

สาเหตุของติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่
ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ แต่ผู้เชี่ยวชาญบางรายเชื่อว่า อาหารที่มีไขมันสูง อาหารกากใยน้อย อาจเป็นสาเหตุของการก่อตัวของติ่งเนื้อ หรืออาจเป็นเรื่องของพันธุกรรม
 
  1. อายุมากกว่า 50 ปี
  2. มีประวัติคนในครอบครัวเคยมีติ่งเนื้องอกหรือเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่
  3. ผู้ที่มีประวัติเคยมีติ่งเนื้อหรือเป็นมะเร็งอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดติ่งเนื้อที่ใหม่ได้อีก
  4. การมีติ่งเนื้อหรือมะเร็งบางชนิดที่เป็นกรรมพันธุ์ อาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้แม้อายุยังไม่มาก
ติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่มี 2 ชนิดหลักๆ คือ
  1. ติ่งเนื้อชนิด hyperplastic เป็นติ่งเนื้อชนิดที่ไม่เสี่ยงที่จะเป็นมะเร็ง
  2. ติ่งเนื้อชนิด adenoma เป็นชนิดที่เชื่อกันว่าเป็นขั้นเริ่มแรกของมะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่ติ่งเนื้อชนิด adenoma ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้กลายเป็นมะเร็งเสมอไป พบว่าติ่งเนื้อที่มีขนาดใหญ่มีโอกาสเป็นมะเร็งได้มากกว่า ส่วนติ่งเนื้อที่มีขนาดใหญ่มาก (เส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 1 นิ้ว) มักมีส่วนที่มีเชื้อมะเร็งอยู่แล้ว
ทั้งนี้ การจะแยกว่าติ่งเนื้อนั้นเป็นชนิดใดทำได้โดยการตรวจชิ้นเนื้อ และเนื่องจากแพทย์ไม่สามารถบ่งชี้ชนิดของติ่งเนื้อได้จากลักษณะภายนอก แพทย์จึงต้องตัดเอาติ่งเนื้อออกมาทั้งหมด ยกเว้นติ่งเนื้อขนาดเล็กมากๆ เท่านั้น
 
โดยทั่วไปแล้วติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่มักไม่ก่อให้เกิดอาการ แต่ถ้าติ่งเนื้อมีขนาดใหญ่อาจทำให้มีเลือดปนออกมากับอุจจาระได้ แต่ไม่ใช่ทุกครั้งเสมอไป ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดในการตรวจหาติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่คือการตรวจคัดกรอง แม้ว่าจะไม่มีอาการใดๆ ก็ตาม

วิธีการตรวจติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่มีหลายวิธี เช่น การตรวจอุจจาระเพื่อหาเลือด การส่องกล้องตรวจบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (sigmoidoscopy) เพื่อดูลำไส้ส่วนล่าง หรือการตรวจทางรังสี เช่น การสวนทวารด้วยแบเรียม หากการตรวจทำให้พบติ่งเนื้อที่น่าสงสัย แพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (colonoscopy) เพื่อนำติ่งเนื้อออกมา และเนื่องจาก colonoscopy เป็นวิธีที่แม่นยำที่สุดในการตรวจหาติ่งเนื้อ ปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญหลายรายจึงแนะนำให้ colonoscopy เป็นหนึ่งในวิธีการตรวจคัดกรอง เนื่องจากวิธีนี้เมื่อพบติ่งเนื้อที่น่าสงสัยแล้วสามารถตัดออกมาได้ทันทีในการทำหัตถการเดียวกัน
 
โดยส่วนใหญ่ติ่งเนื้อที่พบระหว่างการทำ colonoscopy จะสามารถตัดออกมาได้หมด วิธีการตัดติ่งเนื้อมีหลายแบบด้วยกัน เช่น การคล้องด้วยห่วงและตัดติ่งเนื้อออกมา และ/หรือใช้จี้ที่ฐานของติ่งเนื้อด้วยกระแสไฟฟ้า จากนั้นติ่งเนื้อที่ตัดออกมาแล้วจะถูกนำไปตรวจสอบด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อบ่งชี้ประเภทเนื้อเยื่อและตรวจหามะเร็ง ทั้งนี้การตัดติ่งเนื้อออกจะไม่ก่อให้เกิดความไม่สุขสบายแต่อย่างใดต่อผู้ป่วย เนื่องจากผนังลำไส้จะไม่มีความรู้สึกต่อการตัดหรือจี้
 
ความเสี่ยงของการตัดติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่
การตัดติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่สามารถทำได้ในผู้ป่วยนอก โดยอาจมีความเสี่ยงเกิดขึ้นได้บ้างแต่ไม่บ่อย เช่น มีเลือดออกจากบริเวณที่ตัดติ่งเนื้อ การเจาะผนังลำไส้ทะลุ เป็นต้น อย่างไรก็ดีการมีเลือดออกบริเวณที่ตัดติ่งเนื้อนั้นอาจเกิดขึ้นได้ทันทีหรืออีก 2-3 วันหลังจากทำการตัด ซึ่งอาการเลือดออกสามารถทำให้หยุดได้ระหว่างการทำ colonoscopy แต่หากเป็นการเจาะผนังลำไส้ทะลุแล้วจะต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
 
เมื่อตัดติ่งเนื้อออกไปแล้ว ควรจะตรวจ conoloscopy บ่อยเพียงใด
แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าผู้ป่วยควรตรวจ colonoscopy อีกครั้งเมื่อใด ระยะเวลาจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการด้วยกัน เช่น จำนวนและขนาดของติ่งเนื้อ ชนิดของเนื้อเยื่อในติ่งเนื้อ และการตัดเมื่อครั้งก่อนสามารถกำจัดออกไปได้มากน้อยเพียงใด หากติ่งเนื้อมีขนาดเล็กและแพทย์ได้ตรวจสอบลำไส้ทั่วทั้งหมดแล้ว โดยมากแพทย์จะแนะนำให้มาตรวจอีกครั้งในอีก 1-3 ปีข้างหน้า หากการตรวจซ้ำไม่แสดงว่ามีข้อบ่งชี้ของการมีติ่งเนื้ออีก ผู้ป่วยอาจมาตรวจใหม่ได้ในอีกภายใน 5 ปีถัดไป อย่างไรก็ตาม หากติ่งเนื้อมีลักษณะใหญ่และแบน แพทย์อาจแนะนำให้มาตรวจในเดือนถัดไปเพื่อดูว่าเอาออกหมดหรือไม่ ซึ่งแพทย์จะเสนอทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย
 
แก้ไขล่าสุด: 10 กรกฎาคม 2567

Doctors Related

Related Centers

ศูนย์ทางเดินอาหาร-ตับ

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต NaN of 10, จากจำนวนคนโหวต 0 คน

Related Health Blogs