bih.button.backtotop.text

โรคหัดในเด็ก

 
โรคหัด เป็นโรคที่ติดต่อกันได้ง่าย โดยการหายใจเอาเชื้อที่อยู่อากาศจากการไอ จาม ของผู้ป่วยหรือจากการสัมผัสน้ำมูกและน้ำลายของผู้ป่วยโดยตรง อาจเป็นอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพในเด็กเล็กและเป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี ดังนั้นหากผู้ปกครองสงสัยและสังเกตได้ว่ามีอาการดังกล่าว ควรพาเด็กมาพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาและคลายความกังวลให้กับคุณพ่อคุณแม่ได้

สาเหตุของโรคหัด
โรคหัด เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า Rubeola Virus เป็นโรคที่ติดต่อกันได้ง่าย โดยการหายใจเอาเชื้อที่อยู่อากาศจากการไอจามของผู้ป่วยหรือจากการสัมผัสน้ำมูกและน้ำลายของผู้ป่วยโดยตรง เชื้อไวรัสหัดสามารถมีชีวิตอยู่ได้ถึงสองชั่วโมงในอากาศหรือบนพื้นผิวสิ่งของที่มือของผู้ป่วยที่มีเชื้อติดอยู่สัมผัส

 
อาการของโรคหัดแบ่งออกได้เป็นระยะภายในช่วงเวลาสองถึงสามสัปดาห์ นับตั้งแต่เด็กเริ่มติดเชื้อจนหายเป็นปกติ
  • ระยะติดเชื้อและฟักตัวของโรค (Infection and incubation): เชื้อไวรัสหัดใช้เวลาฟักตัว 10 ถึง 14 วันหลังจากติดเชื้อ ในระยะนี้เด็กจะยังไม่แสดงอาการของโรคออกมา
  • ระยะก่อนออกผื่น ยังไม่แสดงอาการของโรคอย่างเด่นชัด (Nonspecific signs and symptoms): โรคหัดมักเริ่มด้วยอาการที่คล้ายไข้หวัด เด็กจะมีไข้ มักตามมาด้วยการไอแห้งๆ น้ำมูกไหล ตาแดง ไม่สู้แสงและเจ็บคอ มักพบจุดสีเทาขาว มีขอบสีแดงอยู่ภายในกระพุ้งแก้มบริเวณใกล้กับฟันกรามล่าง เรียกว่า ตุ่มค็อปลิค (Koplik’s spots ) ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคหัด ระยะเวลาก่อนออกผื่นนี้จะใช้เวลาประมาณ 2 ถึง 3 วัน
  • ระยะเวลาออกผื่น (Acute illness and rash): ผื่นจะมีสีแดง ขนาดเล็กและแบนราบ อาจเกิดขึ้นติดกันหลายจุดจนกลายเป็นปื้นขนาดใหญ่ที่ไม่มีรูปทรงแน่นอน มักไม่มีอาการคัน โดยผื่นจะเริ่มขึ้นที่บริเวณหลังหู บริเวณชิดขอบผม และกระจายลงมาตามลำคอ แขน ลำตัว  ขาและเท้าตามลำดับ ผื่นใช้เวลาลามจากใบหน้าถึงเท้าประมาณ 2 ถึง 3 วัน ในเวลาเดียวกันไข้จะขึ้นสูงถึง 40 – 41 องศาเซลเซียส หลังจากนั้นผื่นจะค่อยๆจางลงโดยเรียงตามลำดับจากหน้าไปสู่ขาและเท้า ผื่นจะเปลี่ยนจากสีแดงเป็นสีน้ำตาลแดงและค่อยๆลอกออกเป็นแผ่นบางๆจนหายไปในเวลา 7 ถึง 10 วัน
  • ระยะติดต่อ (Communicable period): ผู้ป่วยโรคหัดสามารถแพร่กระจายไวรัสหัดไปสู่คนอื่นเป็นเวลา 8 วัน ตั้งแต่ 4 วันก่อนมีผื่นขึ้นและ 4 วันหลังจากมีผื่นขึ้น
อาการแทรกซ้อนของโรคหัด
อาการแทรกซ้อนของโรคหัดที่พบได้บ่อยคือ
  • หูติดเชื้อ อาการแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยคือหูติดเชื้อแบคทีเรีย
  • หลอดลมอักเสบ กล่องเสียงอักเสบหรือโรคครูป
  • ปอดอักเสบ หากพบในเด็กที่มีภูมิต้านทานต่ำ อาจรุนแรงจนทำให้เสียชีวิตได้
  • สมองอักเสบ เป็นอาการแทรกซ้อนที่รุนแรง มักพบภาวะสมองอักเสบหลังผื่นขึ้นประมาณ 2 ถึง 6 วัน ทำให้เสียชีวิตหรือพิการได้
  • ลำไส้อักเสบ ทำให้มีอาการท้องเสีย
หากมีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคหัด ควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้
  • แยกผู้ป่วยออกจากสมาชิกคนอื่นในครอบครัวจนกว่าจะพ้นระยะติดต่อของโรค หากต้องดูแลผู้ป่วยให้สวมหน้ากากอนามัยและล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง
  • ในช่วงที่มีการระบาดของโรคหัด ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัดหรือสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือให้สะอาดบ่อยครั้ง
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด เป็นวิธีการที่ปลอดภัยและมีประสิทธิผลในการป้องกันโรคหัด กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขได้แนะนำให้เด็กฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด ซึ่งเป็นวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด โรคคางทูมและโรคหัดเยอรมัน (MMR) โดยแนะนำให้ฉีดเข็มแรกเมื่อเด็กมีอายุ 9 เดือนและเข็มที่สองเมื่อเด็กมีอายุ 2 ½ ขวบ
เนื่องจากไม่มียาต้านไวรัสโรคหัดโดยจำเพาะ ดังนั้นหากเด็กเป็นโรคหัด ให้ดูแลเด็กเหมือนเป็นไข้หวัด คือ ดูแลแบบประคับประคองตามอาการ เช่น ให้ดื่มน้ำสะอาดและพักผ่อนมากๆ พยายามให้เด็กกินอาหารที่เน้นโปรตีน หากมีไข้ให้กินยาพาราเซตามอลในปริมาณตามที่แพทย์แนะนำและเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำอุณหภูมิปกติ

ในกรณีที่เด็กมีภูมิคุ้มกันต่ำ เด็กมักมีอาการของโรคหัดที่รุนแรงและมีโอกาสเกิดอาการแทรกซ้อนได้มากกว่าผู้ป่วยทั่วไป หากเด็กมีอาการไอมาก หอบหรือหายใจเร็วกว่าปกติ แสดงว่าอาจมีปอดบวมหรือหลอดลมอักเสบแทรกซ้อน หากเด็กมีอาการซึมและชัก อาจเป็นสัญญาณอันตรายว่าเด็กมีโรคสมองอักเสบแทรกซ้อน ดังนั้นผู้ปกครองควรเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากสงสัยว่าเด็กเกิดโรคแทรกซ้อน ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์ทันที
 
แก้ไขล่าสุด: 18 พฤษภาคม 2565

Related Treatments

Doctors Related

Related Centers

ศูนย์กุมารเวช

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 9.71 of 10, จากจำนวนคนโหวต 7 คน

Related Health Blogs