bih.button.backtotop.text

การดูแลสุขภาพช่องปากในผู้สูงวัย

สุขภาพช่องปากเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งของสุขภาพผู้สูงวัย ซึ่งไม่เพียงแต่จะส่งผลต่อภาวะโภชนาการและการย่อยอาหาร แต่หากสุขอนามัยของช่องปากถูกละเลยยังอาจนำไปสู่การติดเชื้อที่ปอด การติดเชื้อที่ข้อเทียม และการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ นอกจากนี้สุขภาพช่องปากยังมีผลต่อคุณภาพชีวิตโดยส่งผลต่ออารมณ์ การมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และความมั่นใจในตนเองด้วย

ปัญหาช่องปากที่พบได้บ่อยในผู้สูงวัย
  1. ฟันสึก เหงือกร่น ถ้าไม่มีอาการเสียวฟันและยังทำความสะอาดได้ดีก็ไม่เป็นไร หากมีอาการให้มาพบทันตแพทย์เพื่อทำการรักษา
  2. สีฟันเข้มขึ้น อาจเกิดตามธรรมชาติยามสูงวัย หรือเกิดจากคราบอาหาร เครื่องดื่ม หรือยาบางชนิดที่รับประทานอยู่ เช่น ธาตุเหล็ก
  3. รากฟันผุ มักเกิดขึ้นพร้อมกันหลายซี่และอาจลุกลามลึกถึงฐานฟันหรือรากฟันจากการดูแลสุขภาพช่องปากที่ไม่เหมาะสม รับประทานอาหารที่มีน้ำตาลวันละหลายมื้อ รับประทานจุบจิบ ฟันจะผุง่ายขึ้นถ้าปากแห้งน้ำลายน้อยลง
  4. เหงือกอักเสบ มีลักษณะของเหงือกแดง บวม และเลือดออกได้ง่าย พบได้บ่อยในผู้สูงวัย
  5. ฟันโยกคลอน เกิดจากโรคปริทันต์อักเสบหรือกระดูกที่รองรับฟันถูกทำลายไป โดยผู้สูงวัยที่มีโรคเบาหวานหรือผู้ที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงต่อโรคปริทันต์อักเสบที่สูงกว่า
  6. ริมฝีปากแห้งและน้ำลายน้อย อาจเกิดจากผลข้างเคียงของยาหลายชนิดหรือได้รับรังสีรักษาบริเวณใบหน้าและศีรษะ
  7. การรับรสที่เปลี่ยนแปลง อาจรู้สึกรับประทานอาหารไม่อร่อยเหมือนเดิม ทำให้ไม่อยากอาหาร
  8. เยื่อบุในช่องปากบางลง ทำให้เกิดแผลในช่องปากได้ง่ายขึ้น
  9. แผลใต้ฐานฟันเทียมร่วมกับการติดเชื้อรา โดยเฉพาะในผู้ที่ไม่ถอดฟันเทียมนอน ฟันเทียมที่สึกกร่อนอาจทำให้น้ำลายไปสะสมตรงมุมปาก เกิดแผลติดเชื้อตรงมุมปาก บางรายอาจมีอาการแสบร้อนใน
    ช่องปาก
  10. แผลที่เหงือก ลิ้น หรือกระพุ้งแก้มที่ไม่ได้รับการรักษา อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งใน
    ช่องปาก โดยเฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่หรือดื่มสุรามาเป็นเวลานาน
แนะนำให้พบทันตแพทย์เป็นประจำทุก 6 เดือน หรือตามคำแนะนำของทันตแพทย์

การดูแลสุขภาพช่องปากควรทำให้ครบ 4 ข้อ ได้แก่
  1. กำจัดคราบจุลินทรีย์ (plaque) ด้วยการแปรงฟันให้สะอาดและอาจใช้น้ำยาบ้วนปากร่วมด้วยหาก
    ทันตแพทย์แนะนำเป็นพิเศษ โดยทั่วไปแนะนำให้ผู้สูงวัยใช้แปรงขนนุ่มแปรงเบาๆ ซ้ำๆ ที่ตำแหน่งเดิมมากกว่าการใช้แปรงขนแข็งถูแรงๆ หากจับด้ามแปรงไม่ถนัดอาจทำด้ามแปรงให้ใหญ่ขึ้นหรือใช้แปรง
    ซอกฟันแทนการใช้ไหมขัดฟัน ควรปรึกษาทันตแพทย์เกี่ยวกับอุปกรณ์ดูแลช่องปากที่เหมาะสมสำหรับ
    แต่ละบุคคล
  2. เสริมสร้างแร่ธาตุบนตัวฟันด้วยการใช้ฟลูออไรด์หรือแคลเซียมฟอสเฟต โดยแปรงฟันให้สารเหล่านี้สัมผัสฟันนาน 2 นาที หรืออาจใช้น้ำยาบ้วนปากเสริมจากการแปรงฟัน โดยเฉพาะหากมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ ทั้งนี้แนะนำให้ใช้น้ำยาบ้วนปากที่ผสมฟลูออไรด์ มียาฆ่าเชื้อ และไม่ผสมแอลกอฮอล์ ส่วน
    ยาสีฟันควรเป็นยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ความเข้มข้น 1450-1500 ส่วนในล้านส่วน (parts per million: ppm) สำหรับผู้สูงวัยที่มีปัญหาปากแห้ง เยื่อบุในช่องปากอักเสบ หรือแพ้ยาสีฟันควรเลือกใช้ยาสีฟันที่ระบุว่าไม่มีสารโซเดียมลอริลซัลเฟต (sodium lauryl sulfate: SLS) หลีกเลี่ยงยาสีฟันสำหรับฟอกฟันขาวเพราะมีผงขัดที่อาจทำให้ระคายเคืองในช่องปาก
  3. กระตุ้นการผลิตน้ำลาย หากรับประทานยาแล้วน้ำลายน้อยควรปรึกษาแพทย์ว่ามียาตัวอื่นที่มีผลข้างเคียงน้อยลงหรือไม่ ปรึกษาแพทย์หรือทันตแพทย์เรื่องน้ำลายเทียมหรือเทคนิคการกระตุ้นน้ำลาย
  4. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ รับประทานผักผลไม้เพื่อช่วยกระตุ้นการผลิตน้ำลาย อาหารที่มีแคลเซียมสูงช่วยเพิ่มแร่ธาตุ จำกัดการรับประทานแป้งและน้ำตาลเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุ (ปริมาณน้ำตาลที่แนะนำไม่ควรเกิน 6 ช้อนชาต่อวัน)
 
สำหรับผู้สูงวัยที่ติดบ้านหรือติดเตียง ควรขอคำแนะนำจากทันตแพทย์เกี่ยวกับวิธีการดูแลทำความสะอาดช่องปากและการป้องกันโรคต่างๆ ในช่องปากของผู้สูงวัย
แก้ไขล่าสุด: 08 มกราคม 2568

Related Treatments

Doctors Related

Related Centers

คลินิกสุขภาพผู้สูงอายุนิวไลฟ์

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต NaN of 10, จากจำนวนคนโหวต 0 คน

Related Health Blogs