bih.button.backtotop.text

โรคต้อลม ต้อเนื้อ

ต้อลม (pinguecula) เป็นความเสื่อมของเยื่อบุตาขาวทำให้เกิดเป็นแผ่นหรือตุ่มนูนสีออกเหลืองเกิดขึ้นบริเวณเยื่อบุตาขาวข้างกระจกตาดำ ส่วนใหญ่มักเกิดที่หัวตาด้านในใกล้จมูก แต่อาจเกิดได้ทั้งด้านหัวตาและหางตาพร้อมกัน 

ต้อเนื้อ (pterygium) เป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงของเยื่อบุตาขาว มีลักษณะเป็นแผ่นพังผืดและหลอดเลือดรวมกันสีออกแดงรูปร่างคล้ายสามเหลี่ยม โดยจะค่อยๆ ลุกลามอย่างช้าๆ จากหัวตาหรือหางตาเข้าไปในกระจกตาดำ ซึ่งหากลุกลามเข้าไปมากอาจเป็นอุปสรรคต่อการมองเห็นได้ 

สาเหตุของต้อลมและต้อเนื้อ
สาเหตุของต้อลมและต้อเนื้อเกิดจากการที่ดวงตาสัมผัสกับรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) จากแสงแดดต่อเนื่องเป็นเวลานาน รวมถึงเกิดจากภาวะตาแห้ง และสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองดวงตา เช่น ฝุ่นละออง  ควัน  ลม  อากาศแห้ง ดังนั้น โรคนี้จึงพบได้บ่อยในประเทศเขตร้อนที่มีแสงแดดจัด และในผู้ที่ต้องทำงานหรือนิยมทำกิจกรรมกลางแจ้งอยู่เสมอ 
     แพทย์วินิจฉัยโรคต้อลมและต้อเนื้อได้จากการตรวจตาเบื้องต้นร่วมกับการซักประวัติผู้ป่วย โดยทั่วไปแล้วต้อลมและต้อเนื้อสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า
การป้องกันโรคต้อลมและต้อเนื้อ สามารถทำได้โดย
  • หลีกเลี่ยงแสงแดดด้วยการสวมหมวกและสวมแว่นกันแดดที่มีเลนส์กรองรังสีอัลตราไวโอเลตทุกครั้งที่ออกกลางแจ้ง และควรสวมแว่นเพื่อกันลม ฝุ่น แม้ไม่มีแสงแดดก็ตาม
  • หลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่มีฝุ่น ควัน อากาศแห้ง ลม
  • เมื่อต้องใช้สายตามาก ควรพักสายตาด้วยการมองไกลทุกชั่วโมง หากรู้สึกตาแห้งอาจใช้น้ำตาเทียมเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับดวงตา
  • ในกรณีที่เป็นต้อลมหรือต้อเนื้ออยู่แล้ว ควรหมั่นสังเกตสี รูปร่าง และขนาดของต้อเสมอๆ หากมีการเปลี่ยนแปลงควรปรึกษาจักษุแพทย์ทันที
ผู้ป่วยโรคต้อลมและต้อเนื้อที่ยังเป็นไม่มาก มักไม่มีอาการใดๆ เพียงแต่จะเห็นเป็นเนื้อเยื่อผิดปกติบริเวณเยื่อบุตาขาวเท่านั้น แต่หากมีการอักเสบ ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บตา เคืองตา คันตา ตาแดง แสบตา น้ำตาไหล รู้สึกเหมือนมีเศษผงอยู่ในตา
 
ในกรณีของต้อเนื้อที่เป็นมากจนลุกลามเข้าไปกลางกระจกตาและบดบังการมองเห็น ผู้ป่วยจะมีอาการตามัว และอาจเกิดสายตาเอียงได้เนื่องจากต้อเนื้อดึงกระจกตาทำให้ความโค้งของกระจกตาเปลี่ยนไป

โรคต้อลมและต้อเนื้อสามารถเกิดกับดวงตาเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ และเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย
     การรักษาโรคต้อลมและต้อเนื้อขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค หากโรคยังไม่รุนแรงคือต้อมีขนาดเล็ก ผู้ป่วยไม่รู้สึกระคายเคืองและการมองเห็นยังเป็นปกติ การรักษาโรคในระยะนี้ แนะนำให้ป้องกันไม่ให้เป็นมากขึ้น โดยปกป้องดวงตาจากรังสีอัลตราไวโอเลตอย่างเคร่งครัด ด้วยการสวมแว่นกันแดดอย่างสม่ำเสมอเพื่อไม่ให้ต้อเติบโตลุกลามมากยิ่งขึ้น 

     อย่างไรก็ตาม หากเกิดการอักเสบ แพทย์จะแนะนำให้ใช้ยาหยอดตาเพื่อบรรเทาอาการระคายเคือง และอาการอื่นๆ จากการอักเสบ

     ในกรณีของต้อเนื้อที่มีการลุกลามเข้าไปบนกระจกตามาก มีขนาดใหญ่และอักเสบเรื้อรัง จักษุแพทย์อาจแนะนำให้รักษาด้วย การผ่าตัดลอกต้อเนื้อ เพื่อลอกเอาเนื้อเยื่อต้อเนื้อออกจากเยื่อตาและผิวกระจกตา ซึ่งโดยทั่วไปเป็นการผ่าตัดแบบผู้ป่วยนอก ใช้เวลาเพียงประมาณ 30 นาที หลังการผ่าตัดแพทย์จะให้ผู้ป่วยนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลราว 3-6 ชั่วโมงแล้วแต่กรณี จากนั้นจึงกลับบ้านได้

     ทั้งนี้ ต้อเนื้อเป็นโรคที่มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำสูงโดยเฉพาะในผู้ป่วยที่อายุน้อย และผู้ที่ยังคงได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อป้องกันการเกิดต้อเนื้อซ้ำแพทย์อาจผ่าตัดด้วยวิธีปลูกถ่ายเนื้อเยื่อใหม่โดยใช้เยื่อบุตาขาวของผู้ป่วยเอง เยื่อรกจากสภากาชาดไทย หรือใช้ยา mitomycin C ระหว่างการผ่าตัดเพื่อลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำอีก
แก้ไขล่าสุด: 19 มกราคม 2566

การรักษาที่เกี่ยวข้อง

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์รักษาที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์จักษุ

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 9.00 of 10, จากจำนวนคนโหวต 16 คน

Related Health Blogs