bih.button.backtotop.text

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (rheumatoid arthritis) เป็นโรคของข้อต่อที่เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของเยื่อหุ้มข้อซึ่งอยู่บริเวณรอยต่อระหว่างกระดูก โดยจัดเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคภูมิต้านตนเอง (autoimmune disease) ที่มีลักษณะเฉพาะคือมีการอักเสบรุนแรงของข้อโดยเฉพาะข้อนิ้วมือ ข้อนิ้วเท้า ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้จะส่งผลให้ข้อถูกทำลายและเกิดความพิการตามมาได้
 
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดของการเกิดโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ แต่พบว่ามีส่วนสัมพันธ์กับโรคภูมิต้านตนเอง (autoimmune diseases) หรือการที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำร้ายเนื้อเยื่อตนเองจนทำให้เกิดการอักเสบ บวม และมีน้ำเพิ่มขึ้นในช่องข้อ ส่วนปัจจัยอื่นๆ ได้แก่ การถ่ายทอดทางพันธุกรรม และการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย  

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์พบได้บ่อยในสองช่วงอายุ คือ ช่วงอายุ 20-30 ปี และ 50-60 ปี โดยพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายในช่วงอายุน้อย แต่ในช่วงอายุมาก พบได้ทั้ง 2 เพศเท่าๆกัน

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
แพทย์วินิจฉัยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์จากการตรวจร่างกายร่วมกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยการตรวจร่างกายจะดูว่าอาการปวดข้อนั้นมีการอักเสบซึ่งได้แก่ อาการบวม แดง ร้อน เกิดขึ้นหรือไม่ การขยับข้อติดขัดหรือไม่ ในกรณีที่การบวมหรืออักเสบยังไม่ชัดเจน แพทย์จะเอกซเรย์กระดูก หรือตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพิ่มเติม

ส่วนการตรวจทางห้องปฏิบัติการเป็นการตรวจหาสารรูมาตอยด์ในเลือด เช่น Rheumatoid factor และ anti-CCP เพื่อสนับสนุนการวินิจฉัยอีกขั้นตอนหนึ่ง
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดข้อโดยเฉพาะข้อเล็กๆ เช่น ข้อนิ้วมือ ข้อนิ้วเท้า ส่วนข้อใหญ่ๆ เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพกพบได้น้อยกว่า ซึ่งการปวดนี้จะแตกต่างจากการปวดจากการใช้งานที่มักปวดเมื่อมีการใช้ข้อมากกว่าปกติ แต่การปวดจากข้ออักเสบมักจะปวดในขณะไม่ได้ใช้งานข้อ เช่น ปวดกลางดึก ปวดตอนเช้าหลังจากตื่นนอน  หรือขณะพักผ่อน โดยปวดเป็นเวลานานแม้รับประทานยาแก้ปวดแล้วอาการดีขึ้นแต่ก็ไม่หายขาด

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์นี้ หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี ข้อจะถูกทำลายจนผุกร่อนและเสียความสมดุล ทำให้เสียสมดุลของกล้ามเนื้อที่ล้อมรอบดึงรั้งข้อจนเกิดความพิการได้
แนวทางการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์คือทำให้โรคสงบ หายปวด หายบวม หยุดยั้งการทำลายข้อเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติมากที่สุด ซึ่งทำได้โดย
  • การใช้ยา ประกอบด้วยยารับประทานหรือยาฉีดสำหรับรักษาเฉพาะเจาะจงกับโรคเพื่อลดการอักเสบ ควบคุมการลุกลามของโรค และยาช่วยบรรเทาอาการ เช่น ยาแก้ปวด หรือยาสเตียรอยด์เพื่อช่วยไม่ให้ผู้ป่วยต้องเจ็บปวดทรมานจากโรค
  • การผ่าตัด สำหรับกรณีที่ข้อถูกทำลายไปมากแล้ว การผ่าตัดซ่อมแซมหรือเปลี่ยนข้อจะช่วยให้ข้อทำงานได้ดีขึ้น ลดความเจ็บปวด และแก้ไขความพิการได้
  • กายภาพบำบัด รวมถึงการออกกำลังกายเพื่อให้ข้อคงความยืดหยุ่น
โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และแม้ว่าโรคจะสงบแล้วก็อาจกลับมาเป็นได้อีก ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงจำเป็นต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่องเพื่อควบคุมโรคไม่ให้กลับมารุนแรงและติดตามกับแพทย์เป็นระยะๆ
ปัจจุบันยังไม่สามารถป้องกันโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ได้ เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรค สิ่งที่ทำได้คือเข้ารับการตรวจวินิจฉัยทันทีที่รู้สึกปวดข้อผิดปกติ แล้วรักษาเพื่อหยุดยั้งการอักเสบและถูกทำลายของข้อให้เร็วที่สุด ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาตั้งแต่แรกเริ่มจะมีโอกาสหยุดยั้งโรคได้ง่ายกว่าและมีโอกาสที่ข้อจะพิการน้อยกว่า สำหรับการดูแลตัวเองของผู้ป่วย ได้แก่
  • พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางตามนัดทุกครั้ง เพื่อติดตามผลการรักษาและผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากการใช้ยา 
  • ออกกำลังกายข้อเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพของข้อและร่างกาย โดยควรทำภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดเท่านั้น
  • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมทำลายข้อ เช่น ยกของหนัก กระโดด นั่งยองๆ นั่งขัดสมาธิ พับเพียบ หรือนั่งกับพื้น
  • ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกิดภาวะน้ำหนักเกิน เพื่อลดการรับน้ำหนักของข้อเข่า ข้อเท้า
  • รับประทานอาหารที่มีแคลเซียม วิตามินดี และวิตามินซีอย่างเพียงพอเพื่อบำรุงเนื้อเยื่อและกระดูก
  • เมื่อมีอาการปวด นอกจากรับประทานยาบรรเทาปวดแล้ว อาจใช้วิธีประคบเย็นวันละ 3-4 ครั้ง ครั้งละ 20 นาทีร่วมด้วย
แก้ไขล่าสุด: 07 มีนาคม 2565

การรักษาที่เกี่ยวข้อง

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์รักษาที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

ดูเพิ่มเติม

ศูนย์ออร์โธปิดิกส์

ดูเพิ่มเติม

ศูนย์อายุรกรรม

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 9.13 of 10, จากจำนวนคนโหวต 39 คน

Related Health Blogs