bih.button.backtotop.text

การบำบัดด้วยออกซิเจนความกดบรรยากาศสูง

การบำบัดด้วยออกซิเจนความกดบรรยากาศสูง หรือ Hyperbaric oxygen therapy เป็นการรักษาผู้ป่วยด้วยออกซิเจน 100% ภายใต้สภาพความกดบรรยากาศสูงที่มากกว่า 1 บรรยากาศในเครื่องปรับบรรยากาศ (hyperbaric chamber) ที่มีลักษณะคล้ายหลอดแก้วขนาดใหญ่ผลิตจากอะคลิริคใสคุณภาพสูง เพื่อให้ร่างกายได้รับออกซิเจนในปริมาณที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับการให้ออกซิเจนที่ความกดบรรยากาศปกติ

การบำบัดด้วยวิธีนี้เป็นการรักษาเสริมหรือเพิ่มเติมร่วมกับการรักษาทางอายุรกรรมและศัลยกรรมภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ไฮเปอร์แบริค และเป็นการรักษาที่ไม่เจ็บปวด ปราศจากบาดแผล

ข้อบ่งชี้ในการรักษา

การบำบัดด้วยออกซิเจนความกดบรรยากาศสูงได้รับการรับรองจากสมาคมแพทย์เวชศาสตร์ใต้น้ำและเวชศาสตร์ความดันบรรยากาศสูง (Undersea and Hyperbaric Medical Society หรือ UHMS) ให้ใช้รักษาโรคต่างๆ ดังต่อไปนี้คือ

  • โรคฟองอากาศอุดตันในกระแสเลือด เพื่อช่วยลดขนาดของฟองอากาศ ช่วยให้เนื้อเยื่อที่ขาดออกซิเจนกลับฟื้นคืนมา
  • โรคคาร์บอนมอนอกไซด์เป็นพิษและการสำลักควันไฟ เพื่อกำจัดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ออกจากฮีโมโกลบินและเนื้อเยื่อให้เร็วขึ้น และเพิ่มออกซิเจนให้กับเนื้อเยื่อที่ขาดออกซิเจน
  • การติดเชื้อคลอสตริเดียมที่กล้ามเนื้อ หรือการติดเชื้อของเนื้อเยื่อจากแบคทีเรียที่ไม่ใช้ออกซิเจน โดยการยับยั้งการสร้าง Alpha-Toxin ทำให้ออกซิเจนในเนื้อเยื่อเพิ่มขึ้น และยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ช่วยให้ร่างกายสามารถใช้กลไกในการป้องกันตนเองได้
  • การรักษาแผลฉกรรจ์จากอุบัติเหตุ และการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อเนื่องจากการถูกบดขยี้ ทำให้บริเวณที่ขาดเลือดได้รับออกซิเจนเพิ่มขึ้นและลดอาการบวม
  • โรคน้ำหนีบ เป็นสภาวะผิดปกติซึ่งเกิดจากฟองก๊าซในร่างกายภายหลังจากการดำน้ำที่เกิดขึ้นตามอวัยวะและเนื้อเยื่อในร่างกาย โดยการบำบัดจะช่วยลดขนาดของฟองก๊าซในเนื้อเยื่อและตามอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย
  • การติดเชื้อที่แผลและการติดเชื้อที่ทำให้เกิดเนื้อตาย ทำให้สภาพแผลดีขึ้น หายเร็วขึ้น
  • การติดเชื้อเรื้อรังของกระดูก โดยเพิ่มความเข้มข้นของออกซิเจนในบริเวณกระดูกที่ติดเชื้อ เสริมฤทธิ์ของยาปฏิชีวนะที่ใช้ในการรักษา และกระตุ้นการสร้างหลอดเลือดขึ้นมาใหม่ในบริเวณกระดูกที่มีการติดเชื้อเรื้อรัง
  • การบาดเจ็บและแผลเรื้อรังจากรังสี ช่วยเสริมสร้างหลอดเลือดใหม่ในบริเวณที่มีความผิดปกติจากการฉายรังสีและบริเวณที่เนื้อเยื่อขาดออกซิเจน
  • โรคแผลหายยากต่างๆ เช่น แผลเบาหวาน แผลจากการกดทับ แผลจากการไหลเวียนเลือดไม่ดี ช่วยให้เลือดไหลเวียนไปสู่อวัยวะที่ขาดเลือด บาดแผลหายดีขึ้น ลดโอกาสที่ต้องตัดอวัยวะทิ้ง
  • ภาวะโลหิตจางจากการเสียเลือด ช่วยให้เนื้อเยื่อที่ขาดออกซิเจนหรือขาดเลือดมาเลี้ยงได้รับออกซิเจนเพิ่มขึ้น และทำให้ออกซิเจนละลายได้มากขึ้น
  • รักษาแผลผ่าตัดตกแต่งเนื้อเยื่อ โดยกระตุ้นให้มีการสร้างหลอดเลือดขึ้นมาใหม่
  • แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก จำกัดการสูญเสียน้ำในเนื้อเยื่อ ส่งเสริมให้มีการซึมผ่านของเนื้อเยื่อ จำกัดไม่ให้แผลไฟไหม้ลุกลามรุนแรงขึ้น ส่งเสริมให้แผลปิดเร็วขึ้น และลดการบวมลง
  • โรคฝีในสมอง เป็นการอักเสบติดเชื้อในเนื้อสมอง โดยการบำบัดจะช่วยส่งเสริมให้ปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายมีกลไลในการป้องกันตัวดีขึ้น และลดการบวมบริเวณรอบๆ สมองได้
  • โรคหูดับฉับพลันที่ไม่ทราบสาเหตุ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการได้ยินให้กับผู้ป่วยที่มีอาการประสาทหูเสื่อมทันทีทันใด หรือภายในระยะเวลาสั้นๆ

ก่อนเข้ารับการบำบัดด้วยเครื่องปรับบรรยากาศ แพทย์จะตรวจประเมินสภาพร่างกายผู้ป่วยอย่างละเอียดเพื่อความปลอดภัย และเป็นการป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ จากนั้นจะเป็นขั้นตอนในการบำบัดคร่าวๆ คือ

  • ผู้ป่วยจะต้องเปลี่ยนเครื่องแต่งกายตามที่โรงพยาบาลได้จัดเตรียมไว้ให้
  • ผู้ป่วยนอนบนเตียงที่สามารถเลื่อนเข้าไปภายในเครื่องปรับแรงดันบรรยากาศสูงชนิดใช้รักษาผู้ป่วยได้ครั้งละหนึ่งคน (monoplace chamber)
  • แพทย์หรือพยาบาลจะเปิดออกซิเจน 100% ให้เข้าไปในเครื่องแล้วค่อยๆ ปรับเพิ่มความดันออกซิเจนให้มากกว่าปกติเพื่อผลในการรักษา โดยผู้ป่วยอาจมีอาการหูอื้อเล็กน้อยในระยะแรก ซึ่งแพทย์หรือพยาบาลจะคอยสังเกตอาการของผู้ป่วยอยู่ตลอดเวลาและติดต่อสื่อสารกับผู้ป่วยทางโทรศัพท์ที่ติดมากับเครื่อง
  • ผู้ป่วยสามารถปรับท่าทางให้สบาย อาจรับชมโทรทัศน์ หรือนอนหลับพักผ่อนได้
  • การรักษาใช้เวลาประมาณ 60-90 นาทีต่อครั้ง จำนวนครั้งขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการรักษาและการตอบสนองต่อการรักษาของผู้ป่วย
  • เมื่อครบเวลาที่กำหนด แพทย์หรือพยาบาลจะปรับลดความกดบรรยากาศในเครื่องให้ลงมาเท่ากับความกดบรรยากาศปกติและนำผู้ป่วยออกจากเครื่อง
  • ในกรณีของผู้ป่วยนอก สามารถเปลี่ยนเสื้อผ้ากลับบ้านได้โดยไม่จำเป็นต้องนอนที่โรงพยาบาล

การใช้ออกซิเจนความกดบรรยากาศสูงในการรักษาผู้ป่วยอาจพบภาวะแทรกซ้อนได้บ้างแต่ไม่รุนแรงและพบได้ไม่บ่อยนัก โดยภาวะแทรกซ้อนที่พบ เช่น อาการหูอื้อ ปวดหู ปวดไซนัส ภาวะแพ้ออกซิเจน เป็นต้น

ทั้งนี้ การตรวจวินิจฉัยอย่างแม่นยำ ความปลอดภัยในทุกขั้นตอนของการรักษา และความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของแพทย์และพยาบาลจะสามารถลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนและเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาได้

แก้ไขล่าสุด: 05 พฤษภาคม 2565

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์รักษาที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์บำบัดด้วยออกซิเจนความกดบรรยากาศสูง

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 7.14 of 10, จากจำนวนคนโหวต 7 คน

บทความที่เกี่ยวข้อง