เนื้อเยื่อของร่างกายต้องการปริมาณออกซิเจนที่เพียงพอเพื่อทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เมื่อมีการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อ ร่างกายต้องการออกซิเจนปริมาณมากขึ้นเพื่อเยียวยารักษา การบำบัดด้วยออกซิเจนความกดบรรยากาศสูงช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนในกระแสเลือด กระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารที่กระตุ้นให้เกิดการสร้างเส้นเลือดและเนื้อเยื่อขึ้นมาใหม่ ทำให้ร่างกายสามารถต่อสู้กับการติดเชื้อและเยียวยารักษาตัวเองได้ดียิ่งขึ้น ลดโอกาสการเกิดโรคแทรกซ้อน
ผู้ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งบริเวณคอและศีรษะ หากเข้ารับการรักษาโดยการฉายรังสีมีโอกาสที่จะเกิดฟันผุ ซึ่งถ้าปล่อยทิ้งไว้จะเกิดแผลจากการอักเสบเรื้อรัง วิธีแก้คือการถอนฟันซึ่งเป็นวิธีที่อาจทำให้แผลไม่หาย จึงมีการใช้ออกซิเจนเข้าช่วยเพื่อให้เนื้อเยื่อบริเวณฟันแข็งแรง พอถอนฟันโอกาสเกิดแผลอักเสบเรื้อรังก็จะน้อยลง
นอกจากนี้ ผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก รังไข่ ต่อมลูกหมากที่มีการฉายรังสี จะมีอาการปัสสาวะเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด เนื่องจากเนื้อเยื่อโดนทำลายจากการฉายรังสี การบำบัดด้วยออกซิเจนความกดบรรยากาศสูงจะกระตุ้นในการสร้างเนื้อเยื่อขึ้นมาใหม่ ทำให้อาการเหล่านี้ดีขึ้น
วิธีการรักษา
เครื่องปรับบรรยากาศ (Hyperbaric Chamber) มีรูปร่างคล้ายแคปซูลขนาดใหญ่เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าไปนอนได้ ระหว่างการรักษาจะมีการเพิ่มความกดบรรยากาศด้วยออกซิเจนเพื่อให้ผู้ป่วยหายใจด้วยออกซิเจนบริสุทธิ์ 100% ผู้ป่วยสามารถผ่อนคลาย รวมถึงสื่อสารกับแพทย์หรือพยาบาลที่อยู่ภายนอกได้ทางโทรศัพท์ที่ติดตั้งอยู่ในเครื่อง
การรักษาใช้เวลาประมาณ 60-90 นาทีต่อครั้ง จำนวนครั้งของการรักษาขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการรักษา โดยส่วนใหญ่แล้วสำหรับคนไข้ที่ต้องการรักษาแผลจากการฉายรังสี แนะนำให้เข้าเครื่องปรับบรรยากาศ 20-30 ครั้งก่อนการฉายรังสีและประมาณ 10 ครั้งหลังฉายรังสีหรือจนกว่าแผลจะหายเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีในการป้องกันไม่ให้เกิดแผลเรื้อรังและโรคแทรกซ้อน
การเตรียมตัวก่อนการบำบัด
- งดดื่มแอลกอฮอล์และงดสูบบุหรี่ก่อนการรักษา
- ไม่กินอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแก๊สมาก เช่น น้ำอัดลมหรือผักบางชนิด หรือกินมากเกินไปเพราะอาจทำให้ไม่สบายตัวระหว่างการรักษา
- ไม่ควรเข้ารับการบำบัดหากกำลังเป็นหวัด
- ไม่ควรนำไฟแช็คหรืออุปกรณ์ที่ใช้แบตเตอรี่เข้าไปในเครื่องปรับบรรยากาศ รวมถึงไม่ใช้ครีมบำรุงผิวหรือครีมแต่งผมที่มีส่วนผสมของปิโตรเลียมเพราะอาจเป็นเชื้อเพลิงให้กับออกซิเจนบริสุทธิ์ได้
เรียบเรียงโดย นพ. วรศักดิ์ โฆวินวิพัฒน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ใต้น้ำและเวชศาสตร์ความดันสูง
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ: