ปกติในอากาศมีออกซิเจนอยู่ประมาณ 20% ซึ่งคนเราหายใจก็จะได้รับออกซิเจนที่เพียงพอ แต่การบำบัดด้วยออกซิเจนความกดบรรยากาศสูงช่วยให้ผู้ป่วยได้รับออกซิเจนบริสุทธิ์ถึง 100% และเมื่อใช้ร่วมกับการเพิ่มความกดบรรยากาศที่มากขึ้น ก็ยิ่งเป็นการเพิ่มความดันย่อยของออกซิเจนให้ขึ้นไปจนเกือบถึง 20 เท่าของปริมาณออกซิเจนปกติ ประโยชน์ของการบำบัดด้วยออกซิเจนความกดบรรยากาศสูง ได้แก่
- ช่วยส่งเสริมและกระตุ้นการเจริญของเนื้อเยื่อและหลอดเลือดฝอย เมื่อร่างกายสร้างหลอดเลือดฝอยขึ้นใหม่ก็จะทำให้มีเลือดไหลเวียนไปสู่อวัยวะที่ขาดเลือดได้ดีขึ้น เซลล์เนื้อเยื่อจึงสมานแผลได้เร็วขึ้น
- เพิ่มประสิทธิภาพของเซลล์เม็ดเลือดขาวในการทำลายเชื้อโรค
- ช่วยยับยั้งและต่อต้านการติดเชื้อโรคบางชนิด
- ลดการบวมของเนื้อเยื่อ
- ลดขนาดของฟองอากาศในเนื้อเยื่อและหลอดเลือดได้อีกด้วย
ปัจจุบันวงการแพทย์ได้นำเอาการบำบัดด้วยออกซิเจนความกดบรรยากาศสูงไปประยุกต์ใช้ในหลายๆ กรณี อาทิ นำไปใช้เพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ที่มีปัญหาหรือความพิการทางสมอง ผู้ที่มีอาการเหนื่อยล้าอ่อนแรง รวมถึงการบาดเจ็บการการเล่นกีฬา ในส่วนของขั้นตอนการรักษา ก่อนเข้ารับการบำบัดด้วยเครื่องปรับบรรยากาศ แพทย์จะตรวจประเมินสภาพร่างกายผู้ป่วยและเอ็กซเรย์ปอดเพื่อความปลอดภัย และเป็นการป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ จากนั้นจะเป็นขั้นตอนในการบำบัด คือ
- เปลี่ยนเครื่องแต่งกายตามที่โรงพยาบาลได้จัดเตรียมไว้ให้
- นอนอยู่บนเตียงที่สามารถเลื่อนเข้าไปภายในเครื่องปรับแรงดันบรรยากาศ
- แพทย์หรือพยาบาลจะเปิดออกซิเจน 100% ให้เข้าไปในเครื่องแล้วค่อยๆ ปรับเพิ่มความดันออกซิเจนให้มากกว่าปกติเพื่อผลในการรักษา โดยอาจมีอาการหูอื้อเล็กน้อยในระยะแรก ซึ่งแพทย์หรือพยาบาลจะคอยสังเกตอาการอยู่ตลอดเวลา และติดต่อสื่อสารกับผู้ป่วยทางโทรศัพท์ที่ติดมากับเครื่อง โดยผู้ป่วยสามารถดูโทรทัศน์หรือนอนหลับพักผ่อนได้ โดยใช้เวลาประมาณ 60-90 นาทีต่อครั้ง
- เมื่อครบเวลาที่กำหนด แพทย์หรือพยาบาลจะปรับลดความกดบรรยากาศในเครื่องให้ลงมาเท่ากับความกดบรรยากาศปกติและนำผู้ป่วยออกจากเครื่อง
เรียบเรียงโดย นพ. วรศักดิ์ โฆวินวิพัฒน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ใต้น้ำและเวชศาสตร์ความดันสูง
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ: