IBD หรือ inflammatory bowel disease เป็นโรคที่ยังไม่มีชื่อไทยอย่างเป็นทางการ แต่จากอาการของโรคสามารถเรียกรวมๆ ได้ว่า
“ลำไส้อักเสบเรื้อรัง” เนื่องจากลักษณะอาการแสดงจะคล้ายกับโรคลำไส้อักเสบเฉียบพลันที่มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ปรสิต หรือพยาธิ ซึ่งสามารถรักษาให้หายได้ด้วยยาปฏิชีวนะ
สาเหตุของโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง
ยังไม่ทราบแน่ชัด สามารถเกิดได้ทั้งในลำไส้ใหญ่และลำไส้เล็ก โดยมีโรคที่เกี่ยวข้องอยู่ 2 โรค คือ Crohn’s disease และ ulcerative colitis ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อยในชาวตะวันตกและตะวันออกกลาง ส่วนชาวเอเชียพบได้บ้างแต่ยังน้อยอยู่มาก
อาการของโรค Crohn’s disease และ ulcerative colitis
ส่วนใหญ่จะมีความคล้ายคลึงกัน คือ ปวดเกร็งในช่องท้อง กดเจ็บ ท้องเสีย ถ่ายวันละหลายรอบ ในรายที่เป็นมากอาจถ่ายมากกว่า 10 ครั้งต่อวัน รวมทั้งต้องตื่นมาถ่ายกลางดึก ในบางรายอาจมีเลือดปนมากับอุจจาระ มีไข้ เหนื่อย เพลีย โลหิตจาง และน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ ทำให้การพิจารณาอาการเพียงอย่างเดียวอาจวินิจฉัยแยกโรคได้ลำบาก ทั้งนี้ลักษณะของโรค Crohn’s disease และ ulcerative colitis สามารถจำแนกได้ดังนี้
|
Crohn’s disease |
Ulcerative colitis |
ตำแหน่งของโรค |
เกิดในระบบทางเดินอาหารส่วนใดก็ได้ตั้งแต่ปากถึงทวารหนัก แต่โดยมากมักเกิดที่ลำไส้เล็กส่วนปลายและลำไส้ใหญ่ส่วนต้น |
เกิดในลำไส้ใหญ่เท่านั้น |
ลักษณะของโรค |
มีลักษณะที่แตกต่างกัน 3 ลักษณะคือ
- ผนังลำไส้อักเสบบวมคล้ายฝี มีลักษณะตะปุ่มตะป่ำจนช่องภายในลำไส้แคบลง และอาจกลายเป็นลำไส้อุดตันได้
- ผนังลำไส้อักเสบเป็นแผลลึกจนทะลุไปอวัยวะอื่นที่อยู่ติดกัน
- การอักเสบกระจายทั่วไปในลำไส้
|
เกิดขึ้นเฉพาะที่ผนังลำไส้เท่านั้น ผู้ป่วยมักมีอาการร่วมอื่นๆ เช่น ข้ออักเสบ ตาอักเสบ ตับอักเสบ เป็นต้น |
ในผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร เช่น มีอาการท้องเสียเรื้อรัง เป็นมานานกว่าสองสัปดาห์ก็ยังไม่หาย ควรรีบพบแพทย์ เพื่อแพทย์จะได้ทำการตรวจวินิจฉัยและทำการรักษาได้อย่างถูกต้อง โดยนอกเหนือจากการซักประวัติแล้ว สิ่งที่แพทย์จะทำคือ ตรวจอุจจาระเพื่อเพาะเชื้อ หากไม่พบการติดเชื้อ แพทย์จะตรวจลำไส้เพื่อดูลักษณะการอักเสบ โดยอาจใช้การทำซีทีสแกนหรือส่องกล้องตรวจลำไส้ เพื่อดูลักษณะของเนื้อเยื่อ ตำแหน่งการเกิด และอาจมีการตัดชิ้นเนื้อมาตรวจ เพื่อยืนยันการวินิจฉัยและทำการวินิจฉัยแยกโรค
การเป็นลำไส้อักเสบเรื้อรังและปล่อยทิ้งไว้โดยไม่พบแพทย์ อาจทำให้เกิดอันตรายได้ เช่น การถ่ายบ่อยทำให้สารอาหาร โปรตีน ของเหลว และเลือดออกไปกับอุจจาระมาก ผู้ป่วยที่เป็นลำไส้อักเสบเรื้อรังชนิด ulcerative colitis อาจถึงขั้นเสียชีวิตในระยะเฉียบพลัน ส่วนผู้ป่วยที่เป็น Crohn’s disease ทำให้ผู้ป่วยมีภาวะโลหิตจางและอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา หากปล่อยให้มีการอักเสบเรื้อรังไปเรื่อยๆ ก็อาจมีโอกาสเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักได้
สำหรับการรักษาโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังทั้งชนิด Crohn’s disease และ ulcerative colitis
จะใช้การรักษาด้วยยาเป็นหลัก โดยมีเป้าหมายของการรักษาคือ เพื่อให้เยื่อบุลำไส้คืนสู่สภาพปกติจนไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยาสม่ำเสมอและพบแพทย์ตามนัด เพื่อควบคุมอาการไม่ให้กลับเป็นซ้ำอีก
ในกรณีที่ใช้ยารักษาแล้วแต่ไม่สามารถควบคุมอาการได้ หรือมีอาการแทรกซ้อนรุนแรง แพทย์อาจต้องพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งในผู้ที่เป็นลำไส้อักเสบเรื้อรังชนิด ulcerative colitis อาจรักษาให้หายขาดได้ ในกรณีของ Crohn’s disease ส่วนใหญ่แพทย์มักไม่ใช้การผ่าตัด เพราะไม่ได้ช่วยให้หายขาด เนื่องจากตัวโรคเกิดได้ทั้งในลำไส้ใหญ่และลำไส้เล็ก แพทย์จึงมักพิจารณาใช้การผ่าตัดเฉพาะกรณีที่ผู้ป่วยเป็นมานานและไม่ได้รับการรักษาจนเกิดพังผืดในลำไส้ ส่งผลให้ลำไส้ตีบ และทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาสุขภาพจากภาวะขาดอาหาร
เรียบเรียงโดย นพ.สิน อนุราษฎร์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินอาหารและตับ
ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 11 มีนาคม 2565