เข้าใจโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory Bowel Disease – IBD) ให้ลึกขึ้น: รู้ทัน สังเกตไว รับมือได้
หลายคนอาจเคยมีอาการปวดท้อง ถ่ายเหลว หรือรู้สึกไม่สบายท้องบ่อย ๆ แล้วปล่อยผ่านไปโดยไม่ใส่ใจ แต่อาการเหล่านี้อาจเป็นมากกว่าปัญหาทางเดินอาหารทั่วไป เพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือ Inflammatory Bowel Disease (IBD) ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และหากปล่อยไว้อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงตามมา
โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (IBD) คืออะไร?
IBD ไม่ใช่เพียงแค่การระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร แต่คือโรคที่เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของทางเดินอาหาร อันมีสาเหตุจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่ทำงานผิดพลาดและโจมตีเซลล์ของร่างกายเอง โดยยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ปัจจัยที่เกี่ยวข้องอาจรวมถึงกรรมพันธุ์ ภูมิคุ้มกัน และสิ่งแวดล้อม รวมถึงอาหารและความเครียดที่อาจเป็นตัวกระตุ้นอาการให้กำเริบได้
โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (IBD) แบ่งออกเป็น 2 ชนิดหลัก ได้แก่:
- โรคโครห์น (Crohn’s Disease) เป็นโรคที่ทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุทางเดินอาหารได้ทุกส่วน ตั้งแต่ปากจนถึงทวารหนัก แต่พบบ่อยที่ลำไส้เล็กตอนปลาย ลักษณะเฉพาะคือการอักเสบแบบเป็นช่วง ๆ สลับกับช่วงปกติ และอาจลึกลงไปถึงชั้นลึกของผนังลำไส้
- โรคลำไส้อักเสบชนิดแผลเรื้อรัง (Ulcerative Colitis) เป็นการอักเสบต่อเนื่องที่เกิดขึ้นเฉพาะในลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โดยมักเริ่มจากบริเวณปลายลำไส้และลามขึ้นไป ลักษณะการอักเสบจำกัดอยู่ที่เยื่อบุผิวด้านบน
อาการของโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (IBD)
ผู้ป่วยโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (IBD) อาจมีอาการหลากหลายและแตกต่างกันไปในแต่ละคน โดยอาการทั่วไปที่พบ ได้แก่ อาการปวดท้องเรื้อรัง ท้องเสีย (อาจมีเลือดปน) น้ำหนักลด อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร หรือมีไข้ต่ำ ๆ เป็นประจำ นอกจากนี้ อาการที่ไม่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดข้อ ผื่นตามผิวหนัง หรือภาวะแทรกซ้อนทางตา ก็สามารถพบได้เช่นกัน
อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นเป็นช่วง ๆ หรือรุนแรงต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ป่วยต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต และอาจรู้สึกเครียดหรือวิตกกังวล ดังนั้นการวินิจฉัยอย่างถูกต้องและการเริ่มต้นการรักษาตั้งแต่ระยะแรกเป็นสิ่งสำคัญ
การวินิจฉัยและรักษาโรค IBD
การวินิจฉัยโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (IBD) จำเป็นต้องอาศัยทั้งการซักประวัติ การตรวจร่างกาย และการตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือดและอุจจาระ การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) และการตรวจภาพรังสีด้วย CT หรือ MRI เพื่อยืนยันตำแหน่งและลักษณะของการอักเสบ รวมถึงตัดชิ้นเนื้อเพื่อตรวจในห้องปฏิบัติการ
สำหรับแนวทางการรักษา ขึ้นอยู่กับประเภทของโรคและความรุนแรงของอาการ โดยเริ่มจากการใช้ยาต้านการอักเสบ ยากดภูมิคุ้มกัน และยาเฉพาะทางเพื่อควบคุมอาการ หากการรักษาด้วยยาไม่ได้ผล หรือเกิดภาวะแทรกซ้อน อาจต้องพิจารณาการผ่าตัดร่วมด้วย นอกจากนี้ การปรับพฤติกรรม การจัดการความเครียด และโภชนาการที่เหมาะสมก็มีบทบาทสำคัญในการควบคุมโรค
ทำไมต้องรักษาโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (IBD) ที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์?
ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหาร-ตับ ของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ให้บริการแบบครบวงจรด้วยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านลำไส้อักเสบเรื้อรัง พร้อมด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น ระบบ AI ช่วยวิเคราะห์ภาพจากกล้องส่องตรวจลำไส้ ทำให้สามารถวินิจฉัยโรคได้แม่นยำมากขึ้น เราให้การดูแลแบบบูรณาการ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด
ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยที่เพิ่งเริ่มมีอาการ หรือผู้ที่รักษามานานแต่ยังควบคุมโรคไม่ได้ ทีมของเราพร้อมดูแลอย่างใกล้ชิดตามมาตรฐานสากล เพื่อเป้าหมายในการควบคุมโรคและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของคุณให้กลับมาอย่างยั่งยืน
อย่ารอให้อาการรบกวนชีวิตหากคุณหรือคนใกล้ชิดมีอาการที่น่าสงสัยว่าอาจเป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (IBD) อย่ารอให้อาการลุกลามจนกลายเป็นปัญหาใหญ่ ทีมแพทย์ของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์พร้อมให้คำปรึกษาและดูแลคุณอย่างมืออาชีพ
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 21 เมษายน 2568