รังสีรักษาในโรคมะเร็ง เป็นการใช้รังสีตรงเข้าทำลายสารพันธุกรรม (DNA) ภายในเซลล์มะเร็งเพื่อหยุดยั้งการเจริญเติบโตและทำให้เซลล์มะเร็งตายไปในที่สุด ซึ่งรังสีรักษาจะมีอยู่ 2 รูปแบบ ได้แก่
- การฉายรังสีระยะไกล (teletherapy) เป็นการรักษาด้วยรังสีที่ได้จากเครื่องกำเนิดรังสีที่อยู่ห่างจากตัวผู้ป่วย
- การให้รังสีระยะใกล้ (brachytherapy) หรือที่เรียกกันว่าการฝังแร่ หรือใส่แร่ เป็นการนำสารกัมมันตรังสีซึ่งห่อหุ้มมิดชิดใส่เข้าไปภายในตัวผู้ป่วยหรือวางชิดกับบริเวณที่ต้องการจะรักษา
ซึ่งปัจจุบัน เทคโนโลยีของรังสีรักษาพัฒนาให้ก้าวหน้าไปมาก ทำให้แพทย์กำหนดตำแหน่งของการรักษาได้แม่นยำ โดยรักษาเนื้อเยื่อปกติโดยรอบให้ปลอดภัยจากรังสี ลดผลข้างเคียงลงและควบคุมโรคได้มากขึ้น ดังนั้น ผลข้างเคียงของการฉายรังสี จึงขึ้นอยู่กับบริเวณที่ฉายรังสี ซึ่งแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย โดยผลข้างเคียงก็ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ทำการรักษา แต่มีพบบ่อยๆ ได้แก่ ผิวหนังแดงคล้ำหรือแห้งคัน อ่อนเพลีย เจ็บคอ ปากแห้ง การรับรสผิดปกติ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน เป็นต้น ซึ่งมีข้อควรปฏิบัติดังนี้
- ปล่อยให้ผิวหนังบริเวณที่ฉายรังสีถูกอากาศมากที่สุด แต่ไม่ให้โดนแดด สามารถให้น้ำไหลผ่านได้ แต่ควรซับให้แห้งด้วยผ้านุ่มๆ ไม่ใช้สบู่ น้ำหอม แป้ง เครื่องสำอาง ทาบริเวณที่ฉายรังสี
- หมั่นดูแลสุขภาพในช่องปากและลำคอให้สะอาด
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
- ดื่มน้ำมากๆ
- งดบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ลดความวิตกกังวล
ซึ่งในปัจจุบัน มีเครื่องมือที่ทันสมัย สามารถกำหนดพื้นที่ในการรักษาที่ชัดเจน ทำให้ผลข้างเคียงลดลงอย่างมาก โดยผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีอาการและความรุนแรงของผลข้างเคียงแตกต่างกันขึ้นอยู่กับตำแหน่งของโรคและอวัยวะข้างเคียง
เรียบเรียงโดย นพ.อภิชาต พานิชชีวลักษณ์ แพทย์รังสีรักษา ศูนย์มะเร็งฮอไรซัน โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ: