ภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้น subdural แบบเรื้อรัง
โดยปกติ สมองมีเนื้อเยื่ออยู่ทั้งหมด 3 ชั้น ชั้นนอกสุดที่อยู่ติดกับกะโหลกศีรษะ มีชื่อเรียกสั้นๆว่า dura ภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้น subdural แบบเรื้อรัง คือ ภาวะที่มีเลือดค่อยๆออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นนอกสุด (dura) ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้ประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทางศีรษะและมักเกิดขึ้น 3-4 สัปดาห์หลังจากอุบัติเหตุที่มีการแกว่งหรือการกระแทกของศีรษะ
ภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้น subdural แบบเรื้อรังเป็นอันตรายมากหรือไม่
เป็นภาวะที่อาจทำให้ผู้ป่วยเป็นพิการหรือเสียชีวิตได้ หากไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที โดยเลือดจะค่อยๆออกใต้ชั้น dura ทำให้ในช่วงแรก ผู้ป่วยไม่มีอาการใดๆหรือมีอาการน้อยมากหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน และจะเริ่มมีอาการเมื่อเลือดออกปริมาณมากและการทำงานของสมองแย่ลง
อาการของภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้น subdural แบบเรื้อรังเป็นอย่างไร
- ปวดศีรษะที่ไม่หายไป
- เวียนศีรษะ มีปัญหาการทรงตัว เดินลำบาก
- คลื่นไส้ อาเจียน
- อ่อนเพลีย
- สับสน พูดไม่รู้เรื่อง
- ง่วงซึม
- มีความผิดปกติทางระบบประสาท แขนขาอ่อนแรง
- สูญเสียความทรงจำ บุคลิกภาพเปลี่ยนไป โดยเฉพาะในผู้ป่วยสูงอายุ
หากเลือดออกปริมาณมากจนแรงดันในสมองเพิ่มขึ้น อาการผู้ป่วยอาจแย่ลง ทำให้มีอาการดังนี้
- เป็นอัมพาต
- ชักเกร็ง
- หายใจลำบาก
- ไม่รู้สึกตัว
ใครบ้างที่มีความเสี่ยง
- ผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุทางศีรษะ
- ผู้สูงอายุ
- เด็กทารก
- ผู้ที่กินยากันเลือดแข็งตัว
- นักกีฬาที่เล่นกีฬาที่มีแรงกระแทกสูง
- ผู้ที่ดื่มสุราปริมาณมาก
สามารถวินิจฉัยภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้น subdural แบบเรื้อรังได้อย่างไร
สามารถวินิจฉัยได้โดย
การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือ
การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
ภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้น subdural แบบเรื้อรัง รักษาได้ด้วยวิธีใด
- การรักษาแบบประคับประคองตามอาการและติดตามด้วยภาพถ่ายรังสีทางการแพทย์ (CT, MRI) เป็นระยะ ในผู้ป่วยอาการไม่มาก มีเลือดออกเล็กน้อย
- การผ่าตัดรักษา ในผู้ป่วยที่มีอาการมาก มีเลือดออกปริมาณมาจนกดเบียดเนื้อสมอง
การรักษาภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้น subdural แบบเรื้อรัง มีผลข้างเคียงหรือไม่
ภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้น subdural แบบเรื้อรังเป็นภาวะที่มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำใหม่ได้สูง ผลข้างเคียงเหมือนกับการผ่าตัดทางสมองอื่นๆ เช่น การมีเลือดออกเพิ่ม การชักหลังการผ่าตัดและการติดเชื้อบริเวณที่ผ่าตัด
ป้องกันภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้น subdural แบบเรื้อรังได้อย่างไร
- ระวังเรื่องการหกล้มและการแกว่งของศีรษะในผุ้สูงอายุและผู้ที่กินยากันเลือดแข็งตัว
- ป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุที่ศีรษะ และให้พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหากศีรษะได้รับการกระแทก
- หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา
- ไม่เขย่าหรือโยนเด็กทารกไปมา
- เฝ้าติดตามอาการทางสมองในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง
ศูนย์โรคระบบประสาท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีแพทย์ผู้ชำนาญที่มีประสบการณ์ในการรักษาภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้น subdural แบบเรื้อรัง ด้วยวิธีการรักษาที่เรียกว่า middle meningeal artery embolization ซึ่งเป็นการรักษาโดยใส่สายสวนเข้าไปทางหลอดเลือดเพื่อไปอุดหลอดเลือดที่มาเลี้ยงเยื่อหุ้มสมองบริเวณที่เกิดภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้น subdural แบบเรื้อรัง เป็นวิธีการรักษาที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ช่วยลดผลข้างเคียงจากการผ่าตัดและลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำ
นพ. ชญตว์ ชาญมานนท์
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ: