ไขมันพอกตับ ภาวะแฝงที่นำไปสู่โรคร้ายแรง
ไขมันพอกตับเป็นภาวะที่พบได้บ่อย เกิดจากการมีไขมันสะสมในตับ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่มีอาการและไม่มีปัญหาทางสุขภาพที่รุนแรง แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจงพอที่จะบ่งบอกโรคและบางรายอาจทำให้ตับแข็งได้ นอกจากนี้ภาวะไขมันพอกตับยังทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดมากขึ้น
ภาวะไขมันพอกตับเกิดขึ้นได้อย่างไร
ตับทำหน้าที่เหมือนแบตเตอรี่เก็บสะสมพลังงาน ตับที่มีสุขภาพดีจะมีไขมันสะสมอยู่เล็กน้อย แต่การกินอาหารมากเกินไป โดยเฉพาะอาหารที่มีน้ำตาลหรือไขมันมากและตับไม่ได้นำไขมันไปใช้หรือย่อยสลายไขมันตามที่ควรจะเป็น จะทำให้เกิดไขมันสะสมในตับ
ภาวะไขมันพอกตับมีการดำเนินโรคอยู่กี่ระยะ
ประมาณ 7-30 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่มีภาวะไขมันพอกตับจะมีอาการแย่ลง ซึ่งอาการสามารถแบ่งได้เป็น 4 ระยะดังนี้
- ระยะแรก เป็นระยะที่มีไขมันสะสมอยู่ในเนื้อตับ แต่ยังไม่มีการอักเสบหรือพังผืดเกิดขึ้นในตับ
- ระยะที่สอง เป็นระยะที่มีอาการอักเสบ
- ระยะที่สาม เป็นระยะที่มีการอักเสบรุนแรง ก่อให้เกิดพังผืดในตับ
- ระยะที่สี่ เป็นระยะที่เซลล์ตับถูกทำลายจนตับไม่สามารถทำงานได้ตามปกติอีกต่อไป ทำให้ตับแข็งและอาจกลายเป็นมะเร็งตับได้ในที่สุด
อาการของภาวะไขมันพอกตับมีอะไรบ้าง
ภาวะไขมันพอกตับมักไม่ทำให้เกิดอาการใดๆจนกว่าจะดำเนินไปจนกลายเป็นโรคตับแข็ง แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการดังนี้
- ปวดท้องหรือรู้สึกตึงบริเวณใต้ชายโครงขวา
- คลื่นไส้ เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด
- มีน้ำคั่งบริเวณท้องและขา
- ภาวะดีซ่านหรือภาวะตัวเหลืองตาเหลือง
- รู้สึกเหนื่อย ไม่มีแรง
ใครบ้างที่มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะไขมันพอกตับ
- เป็นโรคอ้วนลงพุง ประมาณร้อยละ 20 ของคนเป็นโรคอ้วนจะมีภาวะไขมันพอกตับร่วมด้วย
- น้ำหนักตัวมากเกิน (ดัชนีมวลกายหรือ BMI ≥ 25 ใน ASIA และ ≥35 ในเชื้อชาติอื่น)
- เป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวานหรือไขมันในเลือดสูง
- เป็นโรคไวรัสตับอักเสบเรื้อรัง
- ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
- ลดน้ำหนักตัวอย่างรวดเร็ว
- มีภาวะขาดสารอาหาร
- มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
วินิจฉัยได้อย่างไร
รักษาได้ด้วยวิธีใด
ภาวะไขมันพอกตับไม่มียารักษาโดยเฉพาะแต่แพทย์จะช่วยแนะนำวิธีการลดความเสี่ยงและจัดการกับปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะนี้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น
- ลดน้ำหนักหากน้ำหนักตัวเกิน
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน ควรออกกำลังกายทั้งแบบแอโรบิกและแบบมีแรงต้าน
- ควบคุมโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดสูงให้ดี
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ได้แก่ อาหารไขมันต่ำ กากใยสูง และให้พลังงานต่ำ
- ไม่รับประทานยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่นอกเหนือจากที่แพทย์สั่ง
- ตรวจสุขภาพประจำปีหรือตามที่แพทย์แนะนำ
ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีทีมแพทย์ผู้ชำนาญเฉพาะทางในการให้คำปรึกษาและดูแลรักษาผู้ที่มีภาวะไขมันพอกตับแบบเฉพาะบุคคลพร้อมการติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตได้อย่างเหมาะสมและมีสุขภาพที่แข็งแรงอย่างยืนยาว
เรียบเรียงโดย
พญ. อรพิน ธนพันธุ์พาณิชย์
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 30 พฤศจิกายน 2567