bih.button.backtotop.text

VMAT เทคโนโลยีใหม่ของการฉายรังสีรักษามะเร็ง

“มะเร็ง” หนึ่งในโรคที่คร่าชีวิตคนไทยมากเป็นอันดับหนึ่ง โดยจากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า ผู้ชายไทยป่วยเป็นมะเร็งตับและท่อน้ำดีมากที่สุด รองลงมาคือ มะเร็งปอด และมะเร็งต่อมลูกหมาก ส่วนในผู้หญิงไทยป่วยเป็นมะเร็งเต้านม ตามมาด้วยมะเร็งตับและท่อน้ำดี และมะเร็งปากมดลูก ตามลำดับ
 
การรักษาโรคมะเร็งทำได้หลายวิธี ในปัจจุบันมี 3 วิธีหลัก ได้แก่ การผ่าตัดเพื่อนำก้อนมะเร็งออกจากร่างกาย การฉายรังสี และเคมีบำบัด
 
สำหรับการฉายรังสี ที่ผ่านมาในอดีตมีการใช้เครื่องฉายรังสีแบบ 2 มิติ ซึ่งไม่สามารถหมุนได้ ต้องคอยปรับตำแหน่งของผู้ป่วยให้ตรงกับองศาของเครื่องฉาย รวมถึงรังสีที่ออกมาก็มีปริมาณเท่ากันหมด ในขณะที่เซลล์มะเร็งเองมีขนาดไม่สม่ำเสมอ ทำให้บางส่วนได้รับปริมาณรังสีมากเกินไป และบางส่วนได้รับปริมาณรังสีน้อยเกินไป
 
ต่อมาได้มีการพัฒนาเครื่องฉายรังสีโดยใช้เทคนิคการฉายรังสีแบบปรับความเข้มหรือ IMRT (Intensity Modulated Radiation Therapy) ซึ่งสามารถกำหนดปริมาณรังสีให้เหมาะสมกับความหนาบางของเซลล์มะเร็งได้ แต่ข้อเสียของ IMRT คือ ใช้เวลาในการฉายรังสีนาน ผู้ป่วยจะต้องนอนบนเตียงประมาณ 10-20 นาที ทำให้มีโอกาสขยับตัวสูง ส่งผลให้เกิดความผิดพลาดของแผนการฉายรังสีที่กำหนดไว้
 
ในปัจจุบันจึงมีการพัฒนาเทคนิคใหม่เพื่อผลการรักษาที่ดียิ่งขึ้น ได้แก่ VMAT (Volumetric Modulated Arc Therapy) ซึ่งเป็นเครื่องฉายรังสีที่สามารถหมุนได้รอบตัวผู้ป่วย โดยสามารถปรับความเร็วของการหมุน รวมถึงปริมาณของรังสีและการเคลื่อนที่ของวัตถุกำบังรังสี ซึ่งจะช่วยให้รังสีครอบคลุมเฉพาะก้อนมะเร็งทั้งหมด แต่ลดจำนวนรังสีต่ออวัยวะรอบๆ จึงลดผลกระทบที่อาจเกิดกับอวัยวะข้างเคียงได้
 
ทั้งนี้ ก่อนการฉายรังสีด้วย VMAT จะมีการใช้ระบบภาพนำวิถีแบบ 3 มิติช่วยในการตรวจสอบตำแหน่งของก้อนมะเร็งในตัวผู้ป่วย และนำข้อมูลมากำหนดและคำนวณในระบบคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้เตียงที่ใช้สำหรับฉายรังสีด้วย VMAT ยังสามารถปรับระดับและทิศทางได้ จึงช่วยกำหนดตำแหน่งของก้อนมะเร็งในผู้ป่วยให้ตรงกับบริเวณที่จะฉายรังสี ซึ่งองค์ประกอบทั้งหมดเหล่านี้จะช่วยให้สามารถทำการรักษามะเร็งได้อย่างถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้น
 
ด้วยวิธีการฉายรังสีแบบ VMAT นี้จึงช่วยลดระยะเวลาในการฉายรังสีลงเหลือเพียง 5 นาที ผู้ป่วยไม่ต้องนอนบนเตียงนาน โอกาสที่จะขยับตัวก็น้อยลง ความแม่นยำของการฉายรังสีตามแผนการรักษาที่วางไว้ก็จะเพิ่มขึ้น
 
อย่างไรก็ดี แม้เทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบันจะพัฒนาขึ้นเพื่อให้การรักษามะเร็งมีความถูกต้องแม่นยำมากขึ้นและลดผลข้างเคียงลง แต่สิ่งสำคัญที่สุดของการรักษาก็ยังคงเป็นการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดของบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นอายุรแพทย์ รังสีแพทย์ และศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็งชนิดต่างๆ ซึ่งจะเป็นผู้พิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย รวมถึงนักฟิสิกส์ เจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมการฉายแสง และทีมงานทุกฝ่าย ที่จะมากำหนดแผนการรักษาร่วมกัน เพื่อเป้าหมายที่สำคัญคือ ผลการรักษาที่ดีที่สุดและผลข้างเคียงที่น้อยที่สุด ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วย
 
 
เรียบเรียงโดย ผศ.พญ.สุนันทา ศรีสุบัติ-พลอยส่องแสง รังสีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง ศูนย์มะเร็งฮอไรซัน โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แก้ไขล่าสุด: 30 มีนาคม 2565

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs