bih.button.backtotop.text

ปวดบริเวณใบหน้า...อาจไม่ใช่แค่ปวดฟัน

อาการปวดบริเวณใบหน้า ในกระพุ้งแก้ม หรือเหงือก จนรู้สึกเหมือนปวดฟัน อาจไม่ใช่อาการของฟันผุหรือโรคในช่องปากอย่างที่คิด เพราะมีโรคเกี่ยวกับเส้นประสาทโรคหนึ่งที่ทำให้มีอาการคล้ายปวดฟัน นั่นก็คือ โรคปวดเส้นประสาทใบหน้า (trigeminal neuralgia)

เส้นประสาทใบหน้า (trigeminal nerve) เป็นเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมกล้ามเนื้อในการเคี้ยวอาหารและรับความรู้สึกบริเวณใบหน้า ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสหรือการรับรู้ความรู้สึกร้อน/เย็น ดังนั้นหากมีสิ่งใดที่มารบกวนทำให้การทำงานของเส้นประสาทคู่นี้ผิดปกติไปก็จะส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติหรือโรคปวดเส้นประสาทใบหน้าตามมาได้

โรคปวดเส้นประสาทใบหน้า (trigeminal neuralgia) เป็นโรคที่พบได้ทั้งชายและหญิง โดยเฉพาะในวัยกลางคนและผู้สูงอายุ สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้ที่พบได้บ่อยที่สุดคือ การที่เส้นเลือดที่อยู่ใกล้กับเส้นประสาทใบหน้ามีการเคลื่อนที่เข้ามาใกล้เส้นประสาทมากเกินไป ทำให้เกิดการกระแทกโดนเส้นประสาท ส่งผลให้ ผู้ป่วยมีอาการปวดแปลบคล้ายไฟช็อตที่บริเวณใบหน้า รวมถึงอาจมีอาการปวดในกระพุ้งแก้มหรือเหงือกคล้ายอาการปวดฟัน ซึ่งทำให้ผู้ป่วยอาจเข้าใจผิดคิดว่าตนเองฟันผุ บางรายอาจได้รับการถอนฟันไปหลายซี่แล้วแต่อาการปวดบริเวณใบหน้าก็ยังไม่หาย

ทั้งนี้อาการปวดของโรคปวดเส้นประสาทใบหน้าจะเกิดขึ้นแบบเป็นๆ หายๆ และผู้ป่วยอาจมีอาการปวดได้ง่ายขึ้นเมื่อมีสิ่งกระตุ้นบริเวณใบหน้า เช่น การสัมผัส ลมพัด ล้างหน้า โกนหนวด แปรงฟัน เป็นต้น

สำหรับการวินิจฉัย เนื่องจากมีโรคอื่นๆ ที่มีอาการคล้ายคลึงกับโรคปวดเส้นประสาทใบหน้า นอกเหนือจากการซักประวัติผู้ป่วยอย่างละเอียดแล้ว แพทย์อาจทำการตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือ MRI ร่วมด้วย เพื่อให้มั่นใจว่าไม่ได้เป็นอาการที่เกิดจากโรคอื่นๆ และช่วยให้การวินิจฉัยถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้น

ในกรณีที่แพทย์วินิจฉัยแล้วว่าผู้ป่วยเป็นโรคปวดเส้นประสาทใบหน้า การรักษาอาจเริ่มต้นจากการใช้ยาในกลุ่มยากันชักเพื่อบรรเทาอาการปวด โดยแพทย์จะพิจารณาอาการและปรับขนาดยาตามความเหมาะสม แต่หากผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อยา แพทย์อาจพิจารณารักษาโดยการผ่าตัด ในปัจจุบันแพทย์จะใช้การผ่าตัดเข้าทางบริเวณหลังใบหูเพื่อแยกเส้นเลือดที่กดทับเส้นประสาทออก (microvascular decompression) วิธีนี้นับเป็นการรักษาที่แก้ไขที่สาเหตุโดยตรงของการเกิดโรคและพบว่าอาจช่วยให้ผู้ป่วย 80-85% หายขาดจากโรคได้ อย่างไรก็ดี วิธีการผ่าตัดก็เช่นเดียวกับการผ่าตัดอื่นๆ คือมีความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เช่น การติดเชื้อ การมีเลือดออกบริเวณแผลผ่าตัด เป็นต้น

นอกเหนือจากนี้ยังมีวิธีการรักษาโดยการฉายรังสีเพื่อทำลายเส้นประสาท ซึ่งจะทำให้เกิดอาการชาบริเวณใบหน้าแทนอาการปวด แต่การรักษาด้วยวิธีนี้อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการชาบริเวณใบหน้าตลอดเวลา หรืออาจเกิดผลข้างเคียงที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการทั้งปวดและชาบริเวณใบหน้าตลอดเวลา (anesthesia dolorosa) ได้

เรียบเรียงโดย รศ.นพ.ยศ นวฤทธิ์โลหะ ศัลยแพทย์ระบบประสาท ศูนย์โรคระบบประสาท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แก้ไขล่าสุด: 08 กันยายน 2565

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs