bih.button.backtotop.text

โรคปวดเส้นประสาทใบหน้า

โรคปวดเส้นประสาทใบหน้า (trigeminal neuralgia) เป็นโรคที่พบได้บ่อยทั้งในผู้ชายและผู้หญิงวัยกลางคนและผู้สูงอายุ ทำให้เกิดอาการปวดที่บริเวณใบหน้า รวมถึงอาจมีอาการปวดบริเวณเหงือกและฟันจนทำให้ผู้ป่วยเข้าใจผิดคิดว่าเป็นอาการปวดฟันได้

เส้นประสาทใบหน้าคืออะไร
เส้นประสาทใบหน้าหรือ trigeminal nerve เป็นเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 (เส้นประสาทที่ควบคุมสมองของคนเรามีทั้งหมด 12 คู่) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมกล้ามเนื้อในการเคี้ยวอาหารและรับความรู้สึกบนใบหน้า ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัส ความรู้สึกร้อนหรือเย็น เมื่อมีสิ่งรบกวนที่ทำให้การทำงานของเส้นประสาทผิดปกติก็อาจส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆ ตามมาได้
สาเหตุของโรคปวดเส้นประสาทใบหน้าที่พบได้ในผู้ป่วยส่วนใหญ่ ได้แก่ การที่เส้นเลือดที่อยู่ใกล้เคียงกับเส้นประสาทใบหน้าเคลื่อนเข้ามาใกล้เส้นประสาทมากเกินไปจนเกิดการกระแทกหรือกดทับเส้นประสาท ทำให้การทำงานของเส้นประสาทใบหน้าผิดปกติและไวต่อการกระตุ้นได้ง่ายกว่าปกติ หรือมีการอักเสบของเส้นประสาทจากโรค multiple sclerosis
ผู้ป่วยโรคปวดเส้นประสาทใบหน้าจะมีอาการปวดแปลบคล้ายไฟช็อตที่บริเวณใบหน้า ในบางรายอาจมีอาการคล้ายปวดฟัน คือมีอาการปวดบริเวณเหงือกร่วมด้วย ทั้งนี้อาการของโรคปวดเส้นประสาทใบหน้ามักเกิดขึ้นเป็นช่วงๆ คือเป็นๆ หายๆ แต่สามารถเกิดขึ้นซ้ำเรื่อยๆ ในระหว่างวัน นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการเกิดขึ้นได้ง่ายเมื่อได้รับสิ่งกระตุ้นบริเวณใบหน้า เช่น การสัมผัส ลมพัด ล้างหน้า โกนหนวด แปรงฟัน เป็นต้น
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคปวดเส้นประสาทใบหน้าได้โดยการซักประวัติผู้ป่วยอย่างละเอียด ร่วมกับทำการตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือ MRI (magnetic resonance imaging) เพื่อแยกโรคออกจากโรคอื่นๆ ที่มีลักษณะอาการคล้ายคลึงกันและช่วยให้การวินิจฉัยถูกต้องชัดเจนยิ่งขึ้น
  • การใช้ยา ในช่วงแรกของการรักษาแพทย์มักให้ยากลุ่มยากันชักเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวด แต่การรักษาด้วยวิธีนี้ไม่ได้เป็นการรักษาสาเหตุของโรค หากผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อยาแพทย์อาจพิจารณาแนวทางการรักษาอื่น
  • การผ่าตัด แพทย์จะทำการผ่าตัดเพื่อแยกเส้นเลือดที่กดทับเส้นประสาทออก (microvascular decompression) ซึ่งถือเป็นการแก้ไขที่สาเหตุของการเกิดโรคโดยตรง พบว่าวิธีนี้อาจช่วยให้ผู้ป่วย 80-85% หายขาดจากโรคได้ โดยความเสี่ยงของการผ่าตัดก็เช่นเดียวกับการผ่าตัดอื่นๆ เช่น การติดเชื้อ มีเลือดออกบริเวณแผลผ่าตัด เป็นต้น
  • การฉายรังสี เพื่อทำลายเส้นประสาท ทำให้เกิดอาการชาบริเวณใบหน้าแทนอาการปวด แต่การรักษาด้วยวิธีนี้จะมีผลทำให้ผู้ป่วยมีอาการชาบริเวณใบหน้าตลอดเวลา หรืออาจเกิดผลข้างเคียงทำให้ผู้ป่วยมีอาการทั้งปวดและชาบริเวณใบหน้าตลอดเวลา (anesthesia dolorosa)

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์รักษาที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์โรคระบบประสาท

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 8.68 of 10, จากจำนวนคนโหวต 226 คน

Related Health Blogs