การทำเลสิก (LASIK) เป็นการรักษาภาวะสายตาผิดปกติ คือ สายตาสั้น สายตายาวแต่กำเนิด และสายตาเอียง แบบถาวร ซึ่งการทำเลสิกแบบมาตรฐานประกอบด้วย 2 ขั้นตอน ได้แก่ การแยกชั้นกระจกตาด้วยเครื่องมือที่เป็นใบมีดติดมอเตอร์ (microkeratome) ให้ได้ลักษณะเป็นฝาแล้วเปิดฝาพับไปด้านข้าง จากนั้นจะใช้เอ็กไซเมอร์เลเซอร์ (excimer laser) ยิงลงบนเนื้อกระจกตาส่วนกลางที่เปิดเตรียมไว้ ซึ่งจะเป็นการปรับแต่งความโค้งกระจกตาใหม่ มีผลให้ได้ค่าสายตาใกล้เคียงสายตาปกติมากที่สุด จากนั้นแพทย์จะปิดฝากระจกตากลับที่เดิมโดยไม่ต้องเย็บแผล
ปัญหาที่สำคัญที่อาจพบได้คือฝากระจกตาไม่สมบูรณ์ แม้จะมีโอกาสเกิดไม่มาก แต่ถ้าเกิดแล้วไม่สามารถทำผ่าตัดต่อได้ ต้องหยุดขั้นตอนการยิงเอ็กไซเมอร์เลเซอร์แก้ไขสายตาไว้ แล้วรออย่างน้อย 3 เดือนก่อนที่จะทำการแยกชั้นกระจกตาใหม่ได้ และในบางครั้งอาจมีแผลเป็นที่กระจกตา ทำให้การมองเห็นไม่ดีเท่าที่ควร
ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ช่วยให้การแยกชั้นกระจกตาทำได้ปลอดภัยมากขึ้น คือการนำเฟมโตเซเคินเลเซอร์ (femtosecond laser) มาใช้ในการแยกชั้นกระจกตาแทนการใช้ใบมีด หรือที่เรียกว่า เฟมโตเซเคินเลสิก (femtosecond LASIK) ข้อดีที่เหนือกว่าแบบเดิมคือ ในกรณีที่การแยกชั้นกระจกตาไม่สมบูรณ์จากการใช้เฟมโตเซเคินเลเซอร์ แพทย์สามารถทำการแยกชั้นกระจกตาใหม่ต่อได้ทันทีโดยไม่ต้องรออย่างน้อย 3 เดือนเหมือนการใช้ใบมีด และลักษณะฝากระจกตาที่ได้จะบางกว่าแบบเดิมรวมถึงมีความหนาเท่ากันทั่วทั้งฝา เพิ่มโอกาสให้ผู้ที่มีกระจกตาบางสามารถทำเลสิกได้มากขึ้น นอกจากนี้อาการผลข้างเคียงของการทำเลสิก เช่น ภาวะตาแห้ง ผิวกระจกตาไม่เรียบ และแสงแตกกระจาย ยังพบได้น้อยกว่าการใช้ใบมีดแยกชั้นกระจกตา
เฟมโตเซเคินเลสิกเหมาะกับใครบ้าง?
- ผู้ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไปและมีค่าสายตาคงที่อย่างน้อย 1 ปี
- ไม่ต้องการใส่แว่นหรือคอนแทคเลนส์
- ไม่มีภาวะโรคตาอื่นๆ ที่มีผลต่อการมองเห็น เช่น ภาวะตาแห้งรุนแรง หรือโรคทางจอประสาทตา
- ไม่มีโรคอื่นๆ ที่มีผลต่อการสมานแผล เช่น เบาหวานที่ควบคุมน้ำตาลได้ไม่ดี หรือโรคกลุ่มรูมาตอยด์
- ไม่ได้อยู่ในช่วงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
สำหรับผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปและมีปัญหาเรื่องการมองใกล้ หรือที่เรียกว่าภาวะสายตายาวตามอายุ (presbyopia) การทำเลสิกแบบ monovision LASIK จะช่วยให้มองเห็นทั้งในที่ใกล้และไกลโดยไม่ต้องใช้แว่น คือทำเลสิกโดยตั้งค่าสายตาให้ตาข้างหนึ่งชัดในที่ไกล ส่วนตาอีกข้างจะเหลือค่าสายตาไว้ให้เป็นค่าสายตาสั้นเล็กน้อย เพื่อช่วยการมองใกล้ ผู้ที่สนใจแนะนำปรึกษาจักษุแพทย์ว่าท่านเหมาะสมกับ monovision LASIK หรือไม่
เรียบเรียงโดย พญ.ฐาริณี กุลกำม์ธร จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดแก้ไขสายตาด้วยเลเซอร์ ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ: