bih.button.backtotop.text

ดวงตาของคุณเสี่ยงต่อโรคอะไรบ้าง

หากจะถามว่าในประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือการมองเห็น การได้ยิน การลิ้มรส การได้กลิ่น และการสัมผัสนั้น คุณกลัวที่จะสูญเสียประสาทสัมผัสใดมากที่สุด เชื่อว่าหลายคนคงตอบว่า การมองเห็น  เพราะการมองเห็นมีความหมายกับชีวิตมากกว่าสัมผัสใดๆ การดูแลสุขภาพดวงตาให้ดีอยู่เสมอจึงสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง มารู้จักกับส่วนประกอบหลักๆ ของดวงตาและโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคกันดีกว่า เพื่อให้คุณดูแลและปกป้องดวงตาได้ดียิ่งขึ้น


conjunctiva-640x520.jpg

ดวงตาของเรามีส่วนประกอบหลักและความเสี่ยงต่อการเกิดโรคดังนี้ คือ

 


เยื่อตา

เยื่อตาหรือเยื่อบุตา (conjunctiva) เป็นเนื้อเยื่อบางใสที่บุอยู่ด้านในของเปลือกตาและคลุมส่วนของตาขาว เว้นบริเวณตาดำหรือกระจกตาไว้ เยื่อบุตาทำหน้าที่หล่อลื่นดวงตาด้วยการผลิตเมือกและน้ำตารวมถึงช่วยสร้างระบบภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคผ่านเข้าสู่ดวงตา

โรคของเยื่อบุตาที่พบบ่อย ได้แก่
  • โรคเยื่อบุตาอักเสบ ซึ่งเกิดได้จากเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรียที่เรียกว่าโรคตาแดง โรคเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ เช่น แพ้ขนสัตว์ ไรฝุ่น เกสรดอกไม้ รา มลพิษ เครื่องสำอาง และโรคเยื่อบุตาอักเสบจากการใส่คอนแทคเลนส์หรือการขยี้ตาอย่างรุนแรง
  • ต้อลม เป็นความเสื่อมของเยื่อบุตาขาวทำให้เกิดเป็นแผ่นหรือตุ่มนูนสีออกเหลืองขุ่น ส่วนใหญ่มักเกิดบริเวณหัวตาด้านในใกล้จมูก แต่อาจเกิดได้ทั้งด้านหัวตาและหางตาพร้อมกัน
  • ต้อเนื้อ เป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงของเยื่อบุตาขาว มีลักษณะเป็นแผ่นพังผืดและหลอดเลือดรวมกันสีออกแดงรูปร่างคล้ายสามเหลี่ยม ค่อยๆ ลุกลามอย่างช้าๆ จากหัวตาหรือหางตาเข้าไปในกระจกตาดำ สาเหตุเกิดจากดวงตาสัมผัสกับแสง UV หรือการระคายเคืองจากลมมากเกินไป
  • ตาแห้ง เป็นภาวะที่มีปริมาณน้ำตาหล่อเลี้ยงผิวตาไม่เพียงพอ หรือมีการระเหยของน้ำตาที่มากเกินไป
 

กระจกตา

กระจกตา (cornea) หรือส่วนที่เห็นเป็นตาดำ เป็นเนื้อเยื่อใสไม่มีสีมีลักษณะโค้งอยู่ด้านหน้าสุดของลูกตาก่อนถึงม่านตา กระจกตาทำหน้าที่หักเหแสงร่วมกับเลนส์แก้วตาเพื่อให้เกิดการมองเห็นและปกป้องส่วนต่างๆ ของดวงตาที่อยู่ลึกเข้าไป

โรคของกระจกตาที่พบบ่อย ได้แก่
  • ภาวะสายตาผิดปกติ เช่น สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียงที่เกิดจากรูปร่างที่ผิดปกติของกระจกตา เช่น โค้งมากกว่าหรือน้อยกว่าปกติ หรือโค้งไม่เท่ากันในแต่ละแกน
  • กระจกตาติดเชื้อ หรือเป็นแผลเป็นจากการติดเชื้อ
  • กระจกตาเป็นแผลเป็นจากอุบัติเหตุ
  • โรคกระจกตาเสื่อม เกิดจากเซลล์กระจกตาทำงานผิดปกติ ส่งผลให้กระจกตาที่เคยใสกลายเป็นสีขาวขุ่น ทำให้มองเห็นภาพไม่ชัด
 


ม่านตาและรูม่านตา

ม่านตา (iris) เป็นเนื้อเยื่อบางๆ รูปร่างกลมอยู่ด้านหลังกระจกตา และอยู่ด้านหน้าของเลนส์แก้วตา ตรงกลางมีรูเรียกว่ารูม่านตา (pupil) ม่านตาทำหน้าที่ควบคุมขนาดของรูม่านตาด้วยการปรับหดและขยายเพื่อให้แสงผ่านไปยังจอตาได้อย่างพอเหมาะ ทั้งยังเป็นตัวกำหนดสีของดวงตา เช่น สีดำ น้ำตาล ฟ้า

โรคของม่านตาที่พบบ่อย ได้แก่ ภาวะม่านตาอักเสบ หรือยูเวียอักเสบ (uveitis) ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เกิดจากโรคทางกายอื่นๆ เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดเลือด เกิดจากการใช้ยา และเกิดร่วมกับโรคบางอย่าง เช่น โรคไขข้อ โรค SLE โรคผิวหนังแข็ง โรคทางพันธุกรรม เป็นต้น  



ส่วนตาขาว

ส่วนตาขาว (sclera) เป็นผนังชั้นนอกสีขาวขุ่นที่ล้อมรอบกระจกตาต่อไปจนถึงเส้นประสาทตาด้านหลัง ประกอบด้วยเนื้อเยื่อหลายชนิดที่ไม่มีหลอดเลือดมาเลี้ยง เช่น คอลลาเจน อิลาสติน ส่วนตาขาวทำหน้าที่ห่อหุ้มและปกป้องเนื้อเยื่อภายในลูกตา และยังเป็นที่ยึดเกาะของกล้ามเนื้อตาที่คอยควบคุมการเคลื่อนไหวของลูกตา
โรคของส่วนตาขาวที่พบบ่อย คือ
  • ภาวะตัวเหลืองตาเหลืองจากไวรัสตับอักเสบบี และจากการทำงานที่ผิดปกติของตับและระบบน้ำดี
  • ส่วนตาขาวอักเสบ (scleritis) เป็นภาวะการอักเสบชนิดหนึ่งของลูกตาที่เกิดได้จาก 2 สาเหตุคือ เกิดจากโรคของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เช่น โรค SLE หรือรูมาตอยด์ และจากการติดเชื้อ เช่น เชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อราซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้น้อยกว่า ส่วนตาขาวอักเสบเป็นโรคที่มีความรุนแรงได้หลายระดับ ในกรณีที่รุนแรงมาก ผู้ป่วยอาจสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้
 


เลนส์แก้วตา

เลนส์แก้วตา (lens) เป็นอวัยวะที่มีลักษณะนูนใสคล้ายวุ้นวางอยู่หลังม่านตา ทำหน้าที่ร่วมกับกระจกตาในการหักเหแสงจากวัตถุไปยังจุดรวมแสงที่จอตาเพื่อให้เกิดการมองเห็น

โรคที่พบบ่อยที่สุดของเลนส์แก้วตาคือ โรคต้อกระจก ซึ่งเกิดจากอายุที่เพิ่มขึ้น ทำให้เลนส์เสื่อมสภาพจากใสกลายเป็นขุ่นมัวจนบดบังแสงที่จะผ่านเข้าไปในดวงตา เมื่อแสงส่งผ่านไปยังจอตาได้ไม่เต็มที่ การมองเห็นจึงไม่ชัดเจนหรือเกิดอาการตามัวขึ้น

 

จอประสาทตา

จอประสาทตาหรือจอตา (retina) เป็นส่วนประกอบของดวงตาที่อยู่บริเวณด้านในสุด มีลักษณะเป็นเนื้อเยื่อบางๆ นับสิบชั้นที่ประกอบไปด้วยเซลล์รับภาพจำนวนมาก ในภาวะที่จอประสาทตาปกติ แสงที่ผ่านเข้ามาแล้วหักเหผ่านเลนส์ตาจะตกกระทบที่จอตาพอดี ทำให้ภาพที่มองเห็นมีความคมชัด

โรคของจอประสาทตาเป็นโรคที่มีความรุนแรงและอาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นได้ เพราะจอประสาทตาเป็นอวัยวะที่เมื่อเสื่อมหรือเสียหายไปแล้ว ไม่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนใหม่ได้เหมือนเลนส์ตาหรือกระจกตา โดยโรคของจอประสาทตาที่พบบ่อย ได้แก่
  • โรคจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุ เป็นภาวะความเสื่อมของบริเวณจุดภาพชัด (macula) ของจอประสาทตาทำให้สูญเสียการมองเห็นส่วนกลางของภาพ พบได้ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป
  • เบาหวานขึ้นจอประสาทตาในผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูงทำให้หลอดเลือดและระบบประสาทเสื่อมลง ส่งผลให้อวัยวะต่างๆ รวมถึงจอตาทำงานผิดปกติ
  • โรคจอประสาทตาเสื่อมจากพยาธิสภาพของจอตาเอง มักเป็นแต่กำเนิด เช่น จอประสาทตาบางกว่าปกติ มีรูขาด หลุดลอก หรือเสียหายจากภาวะสายตาสั้นมาก
  

ขั้วประสาทตา

ขั้วประสาทตาหรือจานประสาทตา (optic disc) มีลักษณะคล้ายท่อขนาดประมาณ 1.8 x 1.9 มิลลิเมตร
อยู่บริเวณท้ายสุดของลูกตาเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นประสาทตาที่เชื่อมไปสู่สมอง

โรคบริเวณขั้วประสาทตาที่พบได้บ่อยคือ ต้อหิน ซึ่งเป็นกลุ่มโรคที่มีการเสื่อมของขั้วประสาทตา ทำให้เกิดการสูญเสียการมองเห็น โดยมีปัจจัยเสี่ยงคือความดันตาที่สูงขึ้นจากการไหลเวียนผิดปกติของน้ำหล่อเลี้ยงลูกตา

 

เส้นประสาทตา

เส้นประสาทตาหรือเส้นประสาทสมองคู่ที่สอง (optic nerve) เป็นเส้นประสาทที่ทำหน้าที่รับภาพจากจอตา เพื่อไปแปลผลที่สมองส่วนควบคุมการมองเห็นที่อยู่บริเวณท้ายทอย

โรคของเส้นประสาทตาที่พบมากที่สุดได้แก่ โรคเส้นประสาทตาอักเสบ ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคผิดปกติ หรือจากการติดเชื้อที่ส่งผลถึงประสาทตา ทำให้ผู้ป่วยมีภาวะตามัวแบบเฉียบพลันร่วมกับอาการปวดตา โดยเฉพาะเวลากลอกตาหรือเคลื่อนไหวลูกตา

 

วุ้นตา

วุ้นตา (vitreous body) มีลักษณะเป็นเจลใสคล้ายไข่ขาวอยู่หลังเลนส์แก้วตาและยึดติดกับจอตา เป็นทางผ่านของแสงไปสู่จอตาเพื่อให้มองเห็นภาพได้

โรคของวุ้นตาที่พบได้ทั่วไปคือ ภาวะวุ้นตาเสื่อม ซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติจากวัยที่เพิ่มขึ้นทำให้วุ้นตาเสื่อมตัวมีลักษณะเหลวลง ขุ่นขึ้น และหดตัว เมื่อวุ้นตาเสื่อม ผู้ป่วยจะมองเห็นจุดหรือเส้นสีดำคล้ายหยากไย่ลอยไปมา และหากมีวุ้นตาลอกจากจอตาและเกิดการดึงรั้งระหว่างวุ้นตากับจอตาขึ้น ผู้ป่วยจะมองเห็นแสงวาบเหมือนฟ้าแลบได้

 

กล้ามเนื้อตา

ในดวงตาแต่ละข้างมีกล้ามเนื้อตา (extraocular muscles) 6 มัดทำงานร่วมกันเพื่อให้ลูกตาสามารถเคลื่อนไหวไปมาในช่องกระบอกตาได้

โรคที่เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อตา เช่น ตาเข ตาส่อน ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อตามัดใดมัดหนึ่งหรือหลายมัด
 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แก้ไขล่าสุด: 17 พฤษภาคม 2565

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs