ก้อนถุงน้ำที่ข้อมือเป็นภาวะก้อนที่พบบ่อยที่สุดบริเวณข้อมือ ไม่ถือว่าเป็นเนื้องอกและไม่อันตราย เกิดจากผนังเยื่อหุ้มข้อจากภายในช่องข้อโป่งตัวขึ้นเป็นก้อน มีทางติดต่อกับช่องข้อมือและภายในจะมีน้ำไขข้อบรรจุอยู่ มักเกิดบริเวณหลังข้อมือ อาจเกิดขึ้นบริเวณ ด้านหน้าข้อมือได้ด้วย ในบางรายอาจเจ็บบริเวณก้อนเวลากดหรือเวลาใช้งานทีจ้องขยับข้อมือมากๆ
อาการ
พบก้อนได้ตั้งแต่ขนาดเล็กเท่าเม็ดถั่ว และมักโตได้ไม่เกิน 2.5 เซนติเมตร ก้อนโตขึ้นได้อย่างเฉียบพลันในได้ในบางราย แต่ส่วนใหญ่มักโตอย่างช้าๆ เห็นชัดเวลาหักข้อมือลง ก้อนกลมนิ่มคล้ายถุงน้ำหรือลูกบอลยาง ส่วนใหญ่มักไม่เจ็บ และมักไม่มีอุบัติเหตุนำมาก่อน อาจปวดเวลาใช้งานข้อมือมากๆได้ในบางราย ปล่อยทิ้งไว้ก้อนอาจโตขึ้นและอาจกดเส้นประสาททำให้ปวดหรือชาบริเวณหลังมือได้ในบางราย
เกิดได้อย่างไร
โดยทฤษฎีไม่มีสาเหตุแน่ชัด แต่อาจมีประวัติการใช้งานที่ต้องเคลื่อนไหวข้อมือซ้ำๆบ่อยๆ หรือมีการยกของหนักหรือเล่นเวทเทรนนิ่งบ่อยๆในผู้ป่วยบางราย
รักษาอย่างไร
- วิธีไม่ผ่าตัด ถ้าไม่ปวดไม่โตขึ้น รอดูสังเกตอาการโดยไม่ต้องผ่าออก ก้อนถุงน้ำไม่ใช่มะเร็ง
- เจาะดูดน้ำออก ผู้ป่วยบางรายมีความกังวล การใช้เข็มเจาะดูดน้ำออกก้อนก็จะยุบหายไปได้และก็จะช่วยให้มีความมั่นใจได้มากขึ้น วิธีนี้มีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้ 70-80%
- ผ่าตัดเลาะก้อนถุงน้ำออกให้หมด โดยเฉพาะต้องเลาะลงไปถึงทางติดต่อถึงช่องข้อเพื่อเอาผนังถุงน้ำออกให้มากที่สุดเพื่อลดการกลับเป็นซ้ำ วิธีผ่าตัดก้อนออกมีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้ 3-5%
ถ้าก้อนโตขึ้นหรือปวดบริเวณก้อน ชาบริเวณหลังมือควรมาพบแพทย์ แต่การมาพบแพทย์ถ้ามีก้อนก็มีความจำเป็นเพื่อให้แน่ใจว่าไม่ใช่ก้อนเนื้องอกชนิดอื่น
เรียบเรียงโดย นพ. สุรชัย รัตนเสรีเกียรติ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ, การผ่าตัดมือ
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 09 พฤศจิกายน 2566