bih.button.backtotop.text

ปวดตามข้อนิ้ว

ภาวะปวดตึงตามข้อนิ้วมือ เป็นภาวะที่เกิดได้บ่อยในคนทำงานทุกเพศและวัย ซึ่งต้องใช้มือทำกิจกรรมทุกอย่างในการดำรงชีวิต ในแต่ละวัน ซึ่งบางรายจะรู้สึกปวดเมื่อขยับหรือกดเจ็บ หรือรู้สึกตึงๆมือเป็นบางนิ้วหรือเป็นทุกนิ้วหรือทั้งมือ เป็นมากตอนเช้าเหมือนมือกำได้ไม่สุดไม่มีแรงกำ รู้สึกไม่สุขสบาย ไม่ถึงกับปวด บางรายปวดมากมือยึดติดแข็งกำไม่ลงก็มี  และเกิดได้จากหลายสาเหตุ และควรมาพบแพทย์

 

สาเหตุที่พบบ่อย

  1. ภาวะเส้นเอ็นงอนิ้วมือตึงล้า tendon strain พบบ่อยในคนทำงานที่ต้องใช้นิ้วมือกดบีบทำซ้ำๆ โดยเฉพาะคนทำงานคอมพิวเตอร์ ทำงานบ้าน เตรียมอาหาร ทำสวน เป็นมากในคนอ้วนและผู้หญิง จะมีอาการตึงเมื่อยล้า ไม่ถึงกับปวด ตอนเข้ากำมือไม่ลงไม่มีแรง ขยับสักพักแล้วอาการดีขึ้น ข้อมักไม่บวม หักข้อไม่เจ็บ บีบรอบๆข้อนิ้วไม่เจ็บ
  2. นิ้วล็อคระยะเริ่มแรก อาจมาด้วยอาการปวดข้อกลางนิ้วได้มักเป็น 1-2 นิ้ว ปวดมากตอนเช้างอนิ้วลำบาก ขยับสักพักแล้วอาการมักดีขึ้น
  3. ข้อซ้นบวมอักเสบ ในกรณีที่เป็นข้อใดข้อหนึ่ง อาจเกิดจากการบาดเจ็บ การเล่นกีฬา การใช้งานมาก บวมหรือไม่บวมก็ได้ อาจกดเจ็บ เวลางอข้อนิ้วนั้นสุดๆมักเจ็บ หักนิ้วไม่ได้ มักเป็นที่ข้อกลางนิ้ว
  4. ข้อนิ้วอักเสบ รูมาตอยด์ เรื้อนกวาง( Psoriasis ) มักมาด้วยอาการหลายๆนิ้วหลายๆข้อ เป็นทั้งมือสองข้าง ข้อนิ้วจะบวม เป็นมากกว่า 6 สัปดาห์ แต่ในระยะเริ่มแรก อาจบวมเล็กน้อย แต่มักมีอาการมากตอนเช้า มือยึดแข็ง ประมาณ 1/2 ชั่วโมงและจะดีขึ้น
  5. ข้อนิ้วเสื่อม ปวดตามข้อนิ้วเป็นมากที่ข้อปลายนิ้วอาจเป็นนิ้วเดียวหรือหลายนิ้วก็ได้ ข้อมักมีกระดูกปูดโต หรือผิดรูป ปวดน้อยๆแต่เป็นมานาน ปวดมากเป็นบางครั้ง พักแล้วมักหาย
 

อาการไม่มากควรรักษาอย่างไร

  1. พักการใช้นิ้วนั้นๆ ไม่ควรใช้งานมือซ้ำๆนานๆ ไม่ฝืนทำการงอหรือหักนิ้วทำให้เจ็บ
  2. ประคบเย็นถ้าปวดบวมหลังเล่นกีฬา ร้อนถ้าปวดโดยไม่มีการบาดเจ็บ
  3. ทานยาอักเสบที่ไม่ใข่เสตียรอยด์ เช่น ไอบูโทรเฟน หรือ พาราเซ็ตตามอล
  4. ใข้ยาทาที่มีเมนทอล หรือ เจลพริก แต่ต้องระวังอาการแพ้ยา


ควรมาพบแพทย์ถ้าทำเช่นนี้แล้วอาการไม่ดีขึ้น แพทยมักทำการเอ็กซเรย์ หรือ เจาะเลือด ร่วมด้วยหลังทำการตรวจร่างกายเพื่อวินิจฉัยแยกโรคและทำการรักษาต่อไป


เรียบเรียงโดย นพ. สุรชัย รัตนเสรีเกียรติ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ, การผ่าตัดมือ 


 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
8.00-20.00  (BKK Time)
Hotline tel. +662 011 3092
20.00-8.00 (BKK Time)
เบอร์ Contact center +662 066 8888 และ 1378

 
แก้ไขล่าสุด: 24 มิถุนายน 2567

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs