จากสถิติผู้ป่วยโรคมะเร็งทั่วโลกของ WHO GLOBOCAN ขององค์การอนามัยโลก ในปี 2563
โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่พบได้บ่อยเป็นลำดับที่ 5 และมะเร็งกระเพาะอาหารพบได้บ่อยเป็นลำดับที่ 6 ทำให้ในแต่ละปีมีผู้ที่ต้องเข้ารับการรักษาตัว เช่น การผ่าตัด และการรักษาอื่นๆ เช่น
เคมีบำบัด และ/หรือ
ฉายรังสี เพื่อกำจัดก้อนมะเร็งออกไปเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่เรียกว่า
FTRD หรือ Full-Thickness Resection Device ที่ช่วยกำจัดมะเร็งลำไส้ใหญ่และกระเพาะอาหารในระยะเริ่มต้นได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้นโดยไม่ต้องผ่าตัด
การรักษาด้วยเทคโนโลยี FTRD คืออะไร
FTRD คืออุปกรณ์ที่ช่วยในการวินิจฉัยและรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่และกระเพาะอาหารในระยะเริ่มแรกผ่านการส่องกล้องที่ยืดหยุ่น โค้งงอได้ ปลายกล้องติดอุปกรณ์ซึ่งมีรูปร่างคล้ายหอยมือเสือซึ่งมีคีมอยู่ตรงกลางกล้อง (Full-thickness resection device, FTRD) เข้าทางปาก (สำหรับ
มะเร็งกระเพาะอาหาร) หรือทวารหนัก (สำหรับ
มะเร็งลำไส้ใหญ่) ก่อนการทำหัตถการ วิสัญญีแพทย์จะดมยาผู้ป่วย หลังจากนั้นแพทย์อายุรศาสตร์ทางเดินอาหารจะทำการครอบอุปกรณ์ที่มีลักษณะคล้ายหอยมือเสือไปที่ก้อนเนื้อและใช้ลวดไฟฟ้าที่อยู่ในชุดอุปกรณ์ FTRD ตัดก้อนเนื้อออกมาทั้งชิ้น อุปกรณ์นี้ทำให้แพทย์สามารถตัดก้อนเนื้อและปิดแผลได้ในเวลาเดียวกัน ทำให้ตัดก้อนเนื้อได้ใหญ่ถึง 3 เซนติเมตร
การวินิจฉัยก่อนการรักษาด้วย FTRD ทำได้อย่างไร
แพทย์จะวินิจฉัยด้วย
การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (colonoscopy) หรือ
การส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนต้น (gastroscopy) เพื่อตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อยืนยันว่าเป็นก้อนเนื้อร้ายก่อนการรักษา
ใครบ้างที่เหมาะกับการรักษาด้วย FTRD
- เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือกระเพาะอาหารในระยะเริ่มแรก ยังไม่ได้ลุกลามไปยังเส้นประสาท เส้นเลือดหรือเส้นน้ำเหลือง
- ก้อนเนื้อมีขนาดไม่เกิน 3 เซนติเมตร
- มีก้อนเนื้อที่อยู่ลึกลงไปในผนังลำไส้ ซึ่งหากใช้วิธีการอื่นอาจทำให้เนื้อเยื่อฉีกขาดหรือทะลุ
- ผู้ป่วยที่เคยรักษาด้วยวิธีการส่องกล้องตัดติ่งเนื้อ (Endoscopic mucosal resection, EMR หรือ Endoscopic submucosal dissection, ESD) แล้วตัดไม่หมดหรือต้องตัดซ้ำ
- ไม่ต้องการผ่าตัดหรือศัลยแพทย์ไม่แนะนำให้ผ่าตัด
ข้อดีของการรักษาด้วย FTRD
- ใช้เวลารักษาสั้นกว่าการผ่าตัด
- อาศัยการส่องกล้องผ่านทางปาก ไม่มีแผลที่หน้าท้อง
- นอนพักที่โรงพยาบาลเพียง 1 คืน
- ฟื้นตัวเร็ว สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติภายใน 1-2 วัน
- ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและอาการแทรกซ้อน เช่น ลำไส้ใหญ่และกระเพาะอาหารทะลุหรือเลือดไหล
การตรวจพบมะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งกระเพาะอาหารแต่เนิ่นๆเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการทำให้ผู้ป่วยมีทางเลือกในการรักษาที่หลากหลายและมีโอกาสรอดชีวิตสูง ดังนั้นการตรวจร่างกายประจำปีจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่ควรละเลย อายุที่ควรเริ่มตรวจค้นหามะเร็งกระเพาะอาหาร คือ อายุ 40 ปีหรือมากกว่า อายุที่ควรเริ่มตรวจค้นหามะเร็งลำไส้ใหญ่ คือ อายุ 45 ปีหรือมากกว่า ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มีแพทย์ผู้ชำนาญการที่พร้อมให้คำปรึกษาและรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และกระเพาะอาหารในระยะเริ่มแรกด้วยวิธีการที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูง
ที่มา:
ร.ศ. คลินิก นพ. ทศพล เกิดศิริชัยรัตน์ (แพทย์ผู้ชำนาญการด้านอายุศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ)
รูปภาพ: Ovesco Endoscopy AG
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 19 พฤศจิกายน 2567