ภาวะแทรกซ้อนหลายอย่างที่มากับโรคเบาหวานมักค่อยเป็นค่อยไปจนผู้ป่วยไม่ทันสังเกตเห็นความผิดปกติในระยะเริ่มแรก ภาวะแทรกซ้อนของ
โรคเบาหวานเกิดจากภาวะน้ำตาลในเลือดที่สูงเกินไปจนทำให้อวัยวะต่างๆเสียหาย ดังนั้นการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติและการพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอตามนัดหมายจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งเพราะช่วยป้องกันและลดความรุนแรงของภาวะแทรกซ้อนต่างๆได้
ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน มีอะไรบ้าง
ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ คือภาวะแทรกซ้อนแบบเรื้อรังและภาวะแทรกซ้อนแบบเฉียบพลัน
ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานแบบเรื้อรัง (chronic complications)
มักเกิดขึ้นกับคนที่เป็นโรคเบาหวานมานานหลายปี เป็นภาวะแทรกซ้อนที่ค่อยๆพัฒนาจนมีอาการรุนแรงมากขึ้นหากไม่ได้รับการรักษา เกิดขึ้นได้ในหลายอวัยวะ ดังนี้
- โรคไต (diabetic nephropathy) ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะไตวายได้มากกว่าคนปกติถึง 10 เท่า ระดับน้ำตาลในเลือดสูงและความดันโลหิตสูงทำให้การทำงานของไตลดลง ไตกำจัดของเหลวและของเสียได้ยากขึ้น ทำให้มีของเสียและน้ำคั่ง ส่งผลให้ขาบวมก่อนในระยะแรก และระยะไตวายต่อมา ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำและความดันโลหิตสูง
- โรคตาหรือเบาหวานขึ้นจอประสาทตา (diabetic retinopathy) 1 ใน 3 ของผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมีภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเป็นเวลานานโดยไม่ควบคุม ทำให้จอตาได้รับความเสียหายและเลือดไหลเวียนได้ไม่ปกติ ทำให้มองเห็นภาพไม่ชัด อาจป็นต้อกระจกเร็วกว่าคนปกติ ต่อมามีเลือดออกในวุ้นตา จอประสาทตาลอก และสูญเสียการมองเห็นในที่สุด
- โรคเส้นประสาท (diabetic neuropathy) น้ำตาลในเลือดที่สูงทำลายเส้นประสาทในร่างกาย โดยเฉพาะที่ขาและเท้า อาการขึ้นอยู่กับเส้นประสาทที่ถูกผลกระทบ เช่น รู้สึกชาและเจ็บปวดที่ขา เท้าหรือมือ นอกจากนี้ยังอาจมีผลกระทบต่ออวัยวะอื่นๆ เช่น ระบบการย่อยอาหารและทางเดินปัสสาวะ หลอดเลือดและหัวใจ เป็นภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง พบได้ประมาณ 50% ของผู้ป่วยเบาหวาน
- โรคหัวใจและหลอดเลือด (heart disease and stroke) ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจมากกว่าคนปกติถึง 3 เท่า พบบ่อยในผู้ป่วยเบาหวานที่ป่วยมานานและควบคุมสามารถคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี ทำให้ร่างกายมีน้ำตาลในเลือดสูงจนสร้างความเสียหายแก่ผนังหลอดเลือด ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น ภาวะหัวใจขาดเลือด หลอดเลือดในสมองตีบหรือแตกมากกว่าคนปกติ
- โรคปริทันต์อักเสบ (periodontitis) เซลล์เม็ดเลือดขาวมีหน้าที่ป้องกันและทำลายเชื้อโรคน้ำตาลในเลือดสูงทำให้เม็ดเลือดขาวทำงานบกพร่องและการซ่อมแซมกระดูกและเหงือกบกพร่อง ทำให้เป็นโรคปริทันต์อักเสบหรือการอักเสบเรื้อรังบริเวณอวัยวะรอบๆฟันแท้ ทำให้เกิดปัญหา เช่น ฟันโยก ฟันผุ ปวดฟัน
- ปัญหาผิวหนัง (skin complications) บางครั้งสัญญาณแรกของโรคเบาหวานคือปัญหาผิวหนัง เช่น ผิวหนังติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ผิวหนังแห้งและคัน รวมถึงปัญหาบางอย่างที่เกิดกับผู้ป่วยโรคเบาหวานโดยเฉพาะ เช่น จุดสีน้ำตาลอ่อนที่หน้าแข้ง (diabetic dermopathy) ผิวหนังที่หลังมือแข็งและหนาตัว อาจเกิดที่บริเวณอื่น เช่น นิ้วเท้า หน้าผาก ข้อเท้า ข้อศอก (digital sclerosis) และแผลพุพองจากเบาหวาน (diabetic blisters)
- ปัญหาเท้า (foot problems) ปัญหาเท้าจากโรคเบาหวาน เป็นปัญหาที่ร้ายแรงและอาจทำให้สูญเสียเท้าได้หากรักษาไม่ทันท่วงที เส้นประสาทที่เสียหายจากระดับน้ำตาลในเลือดสูง ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกชาที่เท้า ขาและมือ ทำให้เกิดแผลโดยไม่รู้ตัว ประกอบกับการไหลเวียนเลือดที่ไม่ดีทำให้แผลหายช้า มีโอกาสเกิดแผลเรื้อรังที่เท้าสูง
- ภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ (sexual problems) เกิดขึ้นได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิง เนื่องจากเส้นประสาทและหลอดเลือดเสียหาย เลือดไหลเวียนได้ไม่ดีพอ ทำให้มีปัญหาต่างๆทางเพศ เช่น ความต้องการทางเพศลดลง อวัยวะเพศไม่แข็งตัว อวัยวะเพศโค้งงอ เลือดออกทางช่องคลอดและช่องคลอดแห้ง
- โรคกระดูกพรุน (osteoporosis) ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี มีความเสี่ยงสูงในการเป็นโรคกระดูกพรุน ส่งผลให้กระดูกเปราะ แตกและหักง่าย
ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานแบบเฉียบพลัน (acute complications)
เกิดขึ้นได้ทุกขณะและอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนเรื้อรัง เช่น ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไป หากต่ำอย่างรุนแรง อาจทำให้มีอาการชักและหมดสติ และภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเฉียบพลัน ซึ่งมีอยู่ 2 อย่างคือ ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงร่วมกับมีกรดคั่งในร่างกาย และภาวะน้ำตาลในเลือดสูงแต่ไม่มีกรดคั่งในร่างกาย ซึ่งทั้ง 3 ภาวะสามารถเป็นอันตรายถึงชีวิต ต้องได้รับการรักษาฉุกเฉิน
ป้องกันภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานได้อย่างไร
โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังรักษาไม่หายขาด แต่ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติด้วยการปฏิบัติตัวดังนี้
- ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
- งดสูบบุหรี่
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ลดอาหารจำพวกแป้งและไขมัน น้ำตาล ของหวาน ผลไม้ที่มีน้ำตาลมาก และรับประทานอาหารที่มีกากใยเพิ่มขึ้น
- ควบคุมระดับไขมันในเลือดและความดันโลหิต
- ควบคุมน้ำหนักตัว เคลื่อนไหวร่างกายและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอตามที่แพทย์แนะนำ
- ทำงานร่วมกับแพทย์ประจำตัวอย่างใกล้ชิด พบแพทย์ตามนัดหมายทุกครั้งและรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง หากสังเกตเห็นหรือมีอาการผิดปกติ ให้รีบปรึกษาแพทย์
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีทีมสหสาขาวิชาชีพด้านการแพทย์เฉพาะทางอย่างครอบคลุม ในการดูแลผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวทุกชนิดและมีแผลจากโรคเบาหวาน
ศูนย์รักษาแผลแบบองค์รวม สามารถช่วยรักษาแผลทั่วไป รวมถึงแผลที่ยากและซับซ้อน รักษาอาการติดเชื้อและช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ตามปกติ พรั่งพร้อมด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น การรักษาด้วยออกซิเจนความกดบรรยากาศสูง (Hyperbaric Oxygen Therapy) ในการช่วยให้แผลหายเร็วขึ้นและซ่อมแซมเนื้อเยื่อให้กลับคืนสู่สภาพเดิม
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 26 มิถุนายน 2567