bih.button.backtotop.text

โรคหลอดเลือดหัวใจ

โรคหลอดเลือดหัวใจ (coronary artery disease) หมายถึง โรคที่เกิดจากหลอดเลือดแดงที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ (coronary artery) ตีบหรือตัน

การเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ
โรคหลอดเลือดหัวใจส่วนใหญ่เกิดจากไขมันและเนื้อเยื่อสะสมในผนังของหลอดเลือด ทำให้เยื่อบุผนังหลอดเลือดชั้นในตำแหน่งนั้นหนาตัวขึ้น ทำให้หลอดเลือดมีการตีบแคบลง ทำให้เลือดซึ่งนำออกซิเจนไหลผ่านได้น้อยลง ส่งผลให้เลือดไหลไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ไม่เพียงพอ จนเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ซึ่งจะทำให้มีอาการเจ็บหน้าอกเกิดขึ้น หากเกิดการอุดตันของหลอดเลือดเฉียบพลันซึ่งมักเกิดจากคราบไขมันที่สะสมอยู่ที่ผนังของหลอดเลือดชั้นในแตกออกและกลายเป็นลิ่มเลือดจะส่งผลให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันอันนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนต่างๆ หรือเสียชีวิตกะทันหันได้

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

  • ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ ได้แก่
    • ประวัติครอบครัว หากมีบุคคลในครอบครัว เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ พี่ น้อง เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ ก็มีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้น
    • อายุ เมื่ออายุมากขึ้นเกิดการเสื่อมสภาพของหลอดเลือดเพิ่มขึ้น
    • เพศ ผู้ชายมีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้มากกว่าผู้หญิง แต่ในผู้หญิงที่หมดประจำเดือนแล้วมีโอกาสเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจใกล้เคียงกับผู้ชาย

  • ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ จากการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดในประเทศไทย ครั้งที่ 4 พ.ศ.2551-2552 พบว่าปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมีสาเหตุจากพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ถูกต้องโดยอาจมีปัจจัยเสี่ยงเดียวหรือหลายปัจจัยเสี่ยงรวมกันก็ได้ ดังนี้
     
    • น้ำหนักเกินและอ้วน การปล่อยให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การมีดัชนีมวลกายที่มากขึ้น เป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ทั้งนี้คนในประเทศเอเชียควรมีค่าดัชนีมวลกายมาตรฐานไม่เกิน 23 กิโลกรัมต่อตารางเมตร
    • กลุ่มอาการที่มีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับภาวะน้ำหนักเกินหรือภาวะอ้วนร่วมกับปัจจัยเสี่ยงด้านอื่นๆ หรือเรียกว่ากลุ่มอาการเมตาโบลิก (metabolic syndrome หรือ insulin resistance) สามารถวินิจฉัยได้เมื่อมีคุณสมบัติ 3 ข้อใน 5 ข้อดังนี้ (1) มีภาวะอ้วนลงพุง จุดตัดของภาวะอ้วนลงพุงใช้การวัดเส้นรอบเอวในผู้หญิงและผู้ชาย เท่ากับ 80 และ 90 เซนติเมตรตามลำดับ (2) มีภาวะความดันโลหิตสูง หรือมีความดันโลหิตสูงกว่าหรือเท่ากับ 130/85 มิลลิเมตรปรอท (3) เป็นโรคเบาหวานหรือมีระดับน้ำตาลในเลือดหลังงดอาหารและเครื่องดื่ม 8 ชั่วโมงขึ้นไปสูงกว่าหรือเท่ากับ 110 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (4) มีระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดหลังงดอาหารและเครื่องดื่ม 12 ชั่วโมงขึ้นไปสูงกว่าหรือเท่ากับ 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือเป็นผู้ที่รับประทานยาลดไขมันอยู่แล้ว (5) ระดับของเอชดีแอลคอเลสเตอรอล (HDL-C) หรือไขมันดีในเลือดน้อยกว่า 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในผู้ชาย หรือน้อยกว่า 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในผู้หญิง
    • ภาวะความดันโลหิตสูง มีเกณฑ์ในการวินิจฉัย คือ มีค่าสูงกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท โดยภาวะความดันโลหิตสูงจะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายหนาตัวขึ้นซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ทั้งนี้พบว่าการรับประทานเกลือโซเดียมมากเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ความดันโลหิตสูงเพิ่มมากขึ้นด้วย
    • ความเครียด ปัจจัยทางด้านความเครียด 5 ประการที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด คือ สภาพจิตใจที่โศกเศร้ามีความเครียดเรื้อรังเป็นเวลานานติดต่อกันและยังไม่สามารถจัดการกับสาเหตุของความเครียดนั้นได้ ภาวะเก็บกดด้านอารมณ์ ความรู้สึกไม่เป็นมิตร ขาดการเชื่อมสัมพันธ์และแรงสนับสนุนทางสังคมและครอบครัว และคิดว่าตนเองมีปมด้อยด้านฐานะเศรษฐกิจและสถานะทางสังคม
    • ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงหรือโรคเบาหวาน ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรังส่งผลให้เกิดการเสื่อมของหลอดเลือดทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ทำให้เซลล์เยื่อบุภายในหลอดเลือดทำงานผิดปกติ เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดหลอดเลือดแดงแข็งซึ่งทำให้อวัยวะต่างๆ ของร่างกายเสื่อมสภาพและถูกทำลาย และก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตามมาได้
    • ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ คือ ระดับไขมันในเลือดที่ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดแดงตีบตัน ระดับไขมันในเลือดที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่ไม่เป็นโรคหรือไม่มีปัจจัยเสี่ยงด้านไขมันผิดปกติและควรใช้เป็นค่าสำหรับควบคุมตัวเองในการป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ คือ ระดับคอเลสเตอรอลรวมน้อยกว่า 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ระดับแอลดีแอลคอเลสเตอรอล (LDL-C) หรือไขมันตัวร้ายน้อยกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร เอชดีแอลคอเลสเตอรอล (HDL-C) หรือไขมันตัวดีมากกว่า 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในผู้หญิง และมากกว่า 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในผู้ชาย และระดับไตรกลีเซอไรด์น้อยกว่า 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
    • การไม่ออกกำลังกาย พบว่าการไม่มีกิจกรรมทางกายหรือการไม่ออกกำลังกายจะทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า
    • การรับประทานผักและผลไม้ในแต่ละวันน้อยเกินไป พบว่าปัจจุบันนี้คนเรารับประทานอาหารที่มีรสหวาน อาหารที่มีไขมันและแคลอรีสูง แต่รับประทานผักและผลไม้น้อย ซึ่งเป็นผลก่อให้เกิดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้
    • การสูบบุหรี่ หมายความถึงผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ ผู้ที่ไม่สูบบุหรี่แต่ได้รับควันบุหรี่จากผู้อื่น (ผู้ที่ได้รับควันบุหรี่มือสอง) ผู้ที่บริโภคยาสูบแบบไม่มีควัน เช่น ยาฉุน ยาเส้น รวมถึงผู้ที่เคยสูบบุหรี่ติดต่อกันมาเป็นเวลานานและเพิ่งหยุดสูบได้ไม่นาน พบว่าผู้สูบบุหรี่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจขาดเลือดมากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 2.4 เท่า เนื่องจากสารพิษในบุหรี่มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรค เช่น นิโคตินมีผลทำให้เกิดการทำลายเยื่อบุผนังหลอดเลือดชั้นในของหลอดเลือดแดง คาร์บอนมอนอกไซด์จะทำลายคุณสมบัติในการเป็นพาหนะนำออกซิเจนของเม็ดเลือดแดง ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนน้อยเป็นผลให้หัวใจต้องทำงานหนักมากขึ้น ไฮโดรเจนไซยาไนด์ทำให้เกิดหลอดเลือดแดงแข็ง นอกจากนี้ควันบุหรี่ยังทำให้เกล็ดเลือดเกาะกันมากขึ้น ทำให้เลือดจับกันเป็นก้อนได้ง่ายขึ้น ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ส่งเสริมให้เกิดหลอดเลือดแดงตีบหรืออุดตันเฉียบพลันได้ในทันที
  • อาการเจ็บเค้นอกที่เป็นลักษณะเฉพาะของโรคหัวใจขาดเลือด คือ อาการเจ็บหนักๆ เหมือนมีอะไรมาทับหรือรัดบริเวณกลางหน้าอกหรือใต้กระดูกกลางหน้าอก อาจมีร้าวไปบริเวณคอ กราม ไหล่ และแขนทั้ง 2 ข้างโดยเฉพาะข้างซ้าย เป็นมากขณะออกแรง เป็นนานครั้งละ 2-3 นาที เมื่อนั่งพักหรืออมยาขยายหลอดเลือดใต้ลิ้นอาการจะทุเลาลง
  • มีอาการเหนื่อยง่ายขณะออกแรงหรือออกกำลังกายที่เกิดขึ้นเฉียบพลันภายใน 1–2 สัปดาห์ หรือที่เกิดขึ้นเรื้อรังเกินกว่า 3 สัปดาห์ขึ้นไป
  • มาด้วยอาการเหนื่อย หายใจหอบนอนราบไม่ได้ แน่นอึดอัด หายใจเข้าไม่เต็มปอด อาจมีอาการเจ็บเค้นอกร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ อาการอาจเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันหรือเป็นๆ หายๆ มาเป็นเวลานาน
  • มีอาการหน้ามืดเวียนศีรษะ เป็นลม ร่วมกับอาการแน่นหน้าอก ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากมีความดันโลหิตต่ำเฉียบพลัน
  • อาการหมดสติหรือหัวใจหยุดเต้น

การป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจที่ดีที่สุดคือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ดังนี้

  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหาร ควรบริโภคอาหารให้เหมาะสมกับความต้องการใช้พลังงานในแต่ละวันของแต่ละบุคคลเพื่อให้เกิดความสมดุลของพลังงานในร่างกาย

กลุ่มอายุ

พลังงานที่ต้องการต่อวัน (กิโลแคลอรี)

เด็กอายุ 6-13 ปี

หญิงวัยทำงานอายุ 25-60 ปี

ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป

1,600

วัยรุ่นหญิง-ชาย อายุ 14- 25 ปี

ชายวัยทำงานอายุ 25- 60 ปี

2,000

หญิง-ชายที่ต้องการใช้พลังงานมาก เช่น เกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน นักกีฬา

2,400


ทั้งนี้ควรรับประทานอาหารที่มีไขมันและแคลอรีต่ำ หลีกเลี่ยงไขมันจากสัตว์ ไขมันอิ่มตัวและไขมันไม่อิ่มตัวชนิดทรานส์ ลดเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาล เน้นการบริโภคผักและผลไม้หลากสีให้มากขึ้น โดยองค์การอนามัยโลกแนะนำให้บริโภคผักและผลไม้ในปริมาณไม่ต่ำกว่า 600 กรัมต่อวัน หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเค็มจัด (ปริมาณเกลือโซเดียมที่ควรได้รับไม่ควรเกินวันละ 2,400 มิลลิกรัม นั่นคือเกลือแกงไม่เกิน 1 ช้อนชา หรือน้ำปลา ซีอิ๊ว ซอสถั่วเหลืองไม่เกิน 1½-2 ช้อนโต๊ะ) อาหารขยะ อาหารจานด่วน และอาหารสำเร็จรูป

 
  • หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอหรือเพิ่มกิจกรรมทางกาย การมีกิจกรรมทางกายหรือออกกำลังกายอย่างเพียงพอ หมายถึง การมีกิจกรรมทางกายตั้งแต่ระดับปานกลางขึ้นไป คือการออกแรงหรือออกกำลังกายที่ทำให้ร่างกายหายใจแรงขึ้น หัวใจเต้นเร็วขึ้นปานกลาง ออกแรงกายต่อเนื่องเป็นเวลาตั้งแต่ 10 นาทีขึ้นไปในแต่ละครั้ง อาจเป็นกิจกรรมที่เดินไปมาในที่ทำงาน การทำงานบ้าน ทำครัว ถือของเบาๆ ไม่หนักเกินไป รวมถึงกิจกรรมจากการทำงาน กิจกรรมจากการเดินทางในชีวิตประจำวัน หรือกิจกรรมยามว่างก็ได้
  • หยุดสูบบุหรี่ พบว่าการหยุดสูบบุรี่เพียง 20 นาที ความดันโลหิตจะลดลงสู่ระดับปกติ การหยุดสูบอย่างน้อย 10 ปีจะมีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดใกล้เคียงกับคนที่ไม่สูบบุหรี่ และการหยุดสูบติดต่อกันนานมากกว่า 15 ปี ความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจจะลดลงเหลือเท่ากับคนที่ไม่สูบบุหรี่
  • ลดความเครียด วิธีการจัดการความเครียดที่ดีที่สุด คือ การเลือกวิธีที่ตนเองชอบและพึงพอใจ เช่น การออกกำลังกาย การฝึกโยคะ การเจริญสมาธิ ส่งเสริมการได้รับความรักความอบอุ่นจากครอบครัว ส่งเสริมให้บุคคลมีส่วนร่วมในกิจกรรมของชุมชนหรือในที่ทำงาน
แก้ไขล่าสุด: 21 กันยายน 2564

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์รักษาที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

ดูเพิ่มเติม

แผนกผู้ป่วยหนัก (ICU)

ดูเพิ่มเติม

ศูนย์รักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบแบบซับซ้อน

ดูเพิ่มเติม

สถาบันโรคหัวใจ (Heart Institute)

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 9.31 of 10, จากจำนวนคนโหวต 320 คน

Related Health Blogs