bih.button.backtotop.text

ภาวะปัสสาวะรดที่นอนในเด็ก...ปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม

อาการปัสสาวะรดที่นอน  พบได้เป็นปกติในเด็กเล็ก แต่จะพบได้น้อยลงเมื่อเด็กอายุมากขึ้นภาวะนี้จะถือว่าผิดปกติ เด็กที่มีอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปที่ปัสสาวะรดที่นอนมากกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือนติดต่อกัน เด็กอาจจะมาพบแพทย์ด้วยอาการปัสสาวะรดที่นอนเพียงอย่างเดียวหรือมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น

  1. มีอาการเจ็บเวลาปัสสาวะ ต้องเบ่งเวลาปัสสาวะ ปัสสาวะเล็ดราด ปัสสาวะไม่พุ่ง ปัสสาวะขุ่นหรือกลิ่นแรงกว่าปกติ
  2. ปัสสาวะบ่อยหรือ กลั้นปัสสาวะไม่ได้ตอนกลางวัน
  3. ท้องผูกหรือกลั้นอุจจาระไม่ได้
  4. มีโรคสมาธิสั้นหรืออยู่ไม่นิ่ง  
  5. อาการหิวน้ำบ่อย น้ำหนักลด ผอมลง
  6. เด็กนอนกรนหรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ควรส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาโรคหยุดหายขณะหลับจากการอุดกั้นทางเดินหายใจ (obstructive sleep apnea)
  7. พฤติกรรมผิดปกติ เครียด แยกตัว ซึมเศร้า ก้าวร้าว

 

สาเหตุที่เด็กปัสสาวะรดที่นอน อาจเกิดจากสาเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งหรืออาจมีสาเหตุร่วมกัน ดังนี้

  1. การนอนหลับลึกและสมองมีการตอบสนองต่อสิ่งเร้าน้อย ทำให้ไม่ตื่นเมื่อปวดปัสสาวะ
  2. ปริมาณปัสสาวะมากตอนกลางคืน เป็นผลจากระดับฮอร์โมนบางชนิดที่ผิดปกติ ภาวะเบาหวาน เบาจืด
  3. กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวกว่าปกติ
  4. พันธุกรรม พบว่าหากพ่อแม่หรือพี่น้องมีประวัติปัสสาวะรดที่นอนเด็กก็จะมีโอกาสปัสสาวะรดที่นอนได้สูงถึง ร้อยละ 65 -75          

 

ภาวะปัสสาวะรดที่นอนมี 2 ชนิดแบ่งตามประวัติการมีอาการ        

  1. ปฐมภูมิ ไม่เคยมีช่วงที่ไม่มีอาการมากกว่า 6 เดือน
  2. ทุติยภูมิ เคยมีช่วงที่ไม่มีอาการมากกว่า 6 เดือน

 
ปัญหาที่ตามมาหรืออาจเกิดขึ้นในเด็กที่มีภาวะปัสสาวะรดที่นอน ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม

  1. เด็กจะสูญเสียความมั่นใจในตัวเองซึ่งมีผลต่อการเข้าสังคม
  2. นอนหลับไม่สนิทซึ่งมีผลต่อการเรียนรู้ในช่วงกลางวันและมีผลต่อการพัฒนาการด้านอื่น
  3. ความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัวแย่ลง ผู้ปกครองกังวลและหงุดหงิด


ภาวะปัสสาวะรดที่นอนสามารถรักษาได้ไหม

ภาวะปัสสาวะรดที่นอนสามารถรักษาให้หายได้ถ้าพ่อแม่ให้ความสนใจสังเกตในความผิดปกติของลูกและไม่นิ่งนอนใจในการเข้ารับการรักษาจากแพทย์
แนวทางการรักษา ภาวะปัสสาวะรดที่นอนมีหลายแบบขึ้นกับอายุและลักษณะนิสัยรวมถึงความร่วมมือของเด็กและผู้ปกครองโดยเบื้องต้นสามารถกระทำได้โดย

  1. ปรับความเข้าใจของผู้ปกครองว่าภาวะปัสสาวะรดที่นอนนี้ไม่ใช่ความผิดของเด็ก การทำโทษเด็กให้ซักผ้าปูที่นอนหรือตำหนิว่ากล่าวไม่มีประโยชน์ การให้กำลังใจและ สร้างความมั่นใจ รวมถึงสร้างแรงจูงใจเพื่อให้เด็กร่วมมือในการรักษา
  2. การปรับพฤติกรรมเช่นไม่ดื่มน้ำหรือนมก่อนนอน 2 ชั่วโมงและควรให้เด็กปัสสาวะก่อนนอนทุกคืน
  3. ฝึกการขับถ่ายปัสสาวะให้เป็นเวลา กระตุ้นให้เด็กปัสสาวะเป็นเวลาโดยรวมประมาณ 5 ครั้งต่อวันและให้เด็กปัสสาวะก่อนนอนทุกคืน
  4. การดูแลไม่ให้ท้องผูก เด็กควรถ่ายอุจจาระทุกวันวันละ 1 ครั้งลักษณะอุจจาระจะต้องเป็นก้อนนิ่ม หากสังเกตว่าเด็กมีอาการท้องผูกควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
  5. ปลุกให้ตื่นมาปัสสาวะโดยใช้อุปกรณ์ช่วยที่เรียกว่า enuresis alarm หรือ bedwetting alarm โดยวางตัวรับสัญญาณในกางเกงในหรือบนแผ่นรองเปื้อนบนที่นอนเมื่อเด็กปัสสาวะรดที่นอนจะมีสัญญาณดังขึ้นหรือสั่นเพื่อปลุกให้เด็กตื่นไปปัสสาวะ โดยวิธีนี้จะเป็นการฝึกสมองของเด็กจนในที่สุดเด็กจะตื่นไปปัสสาวะเองเมื่อมีอาการปวดปัสสาวะ
  6. การใช้ยา หลังจากที่แพทย์ได้ตรวจผู้ป่วยแล้วแพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาในการรักษา ปัจจุบันนี้มียารักษาภาวะปัสสาวะรดที่นอนอยู่ 3 กลุ่ม คือ
    • 6.1 ยาลดการผลิตน้ำปัสสาวะ ทำให้ปริมาณน้ำปัสสาวะน้อยลงในช่วงกลางคืนโดยให้รับประทานหรืออมยาก่อนนอนประมาณ 1 ชั่วโมงเมื่อใช้ยานี้ควรลดการดื่มน้ำในช่วงเย็นและก่อนนอนด้วย
    • 6.2 ยาลดการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะทำให้การบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะลดลง เมื่อใช้ร่วมกับยาลดการผลิตน้ำปัสสาวะแล้วจะช่วยลดอาการปัสสาวะรดที่นอนได้ ผลข้างเคียงที่ อาจพบ ได้แก่ ท้องผูก ปากแห้ง ตามัว ตัวร้อน
    • 6.3 ยารักษาภาวะซึมเศร้าออกฤทธิ์ลดการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะและคลายกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะจะใช้ยากลุ่มนี้เมื่อไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วย enuresis alarm และการใช้ยาในสองกลุ่มแรกยากลุ่มนี้อาจมีผลข้างเคียงต่อการทำงานของหัวใจ

 

สรุป

ภาวะปัสสาวะรดที่นอนในเด็กเป็นภาวะที่สามารถวินิจฉัยได้เมื่อผู้ป่วยมีอายุมากกว่า 5 ปี ที่ปัสสาวะรดที่นอนมากกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์เป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือนติดต่อกัน โดยการรักษาจะให้ความสำคัญกับการรักษาแบบองค์รวมโดยสหวิชาชีพรวมถึงการให้ความรู้ความเข้าใจกับผู้ป่วยและครอบครัวทั้งนี้การรักษาสามารถทำได้โดยไม่ใช้ยา เช่นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การเสริมแรงบวกเพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้ป่วยอยากร่วมมือในการรักษา โดยการให้สติกเกอร์หรือรางวัลในทุกวันที่ผู้ป่วยไม่มีการปัสสาวะรดที่นอนหรือการตั้งปลุกให้ผู้ป่วยลุกขึ้นมาปัสสาวะ ในกรณีที่จำเป็นต้องรักษาโดยการใช้ยาผู้ปกครองสามารถปรึกษากุมารแพทย์หรือแพทย์เฉพาะทางเช่นกุมารแพทย์โรคไต แพทย์ระบบปัสสาวะเด็ก แพทย์พัฒนาการเด็ก จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นเพื่อรับคำแนะนำในการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม

พญ. พรรุ้ง พฤทธิพงศ์สิทธิ์
กุมารเวชศาสตร์ - กุมารเวชศาสตร์ไตวิทยา
กุมารเวชศาสตร์ – กุมารเวชศาสตร์ทั่วไป

 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แก้ไขล่าสุด: 18 ธันวาคม 2567

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs