ปัญหาคาใจ นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ
นิ่วคือการตกตะกอนของแร่ธาตุต่างๆ ที่จับตัวกันเกิดเป็นผลึกเล็กๆในน้ำปัสสาวะ ซึ่งเมื่อผลึกเล็กๆเหล่านี้เกาะตัวรวมกัน จะเกิดเป็นชิ้นส่วนหรือก้อนเล็กๆ ที่เรียกว่านิ่ว
นิ่วเกิดที่บริเวณใดได้บ้างและพบตรงจุดใดมากที่สุด
นิ่วมักเกิดขึ้นในไตเป็นหลัก แต่นิ่วสามารถเคลื่อนที่ตกลงมาในระบบทางเดินปัสสาวะได้ทุกส่วน เช่น ในท่อไต กระเพาะปัสสาวะหรือท่อปัสสาวะ
ลักษณะของนิ่วและองค์ประกอบของนิ่วมีอะไรบ้าง
นิ่วโดยส่วนใหญ่มีลักษณะค่อนไปทางแข็ง นิ่วที่มีลักษณะนิ่มมักเป็นนิ่วที่เกิดจากการตกตะกอนของยาบางประเภทหรือนิ่วที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบติดเชื้อทางเดินปัสสาวะแบบเรื้อรัง นิ่วมีองค์ประกอบเป็นแคลเซียมมากที่สุดถึง 60-70% โดยแคลเซียมมักจับตัวกับผลึกอื่นๆ เช่น ออกซาเลต ฟอสเฟตหรือกรดยูริก
ใครบ้างที่เป็นกลุ่มเสี่ยงในการเกิดนิ่ว
- ผู้ที่ดื่มน้ำน้อย อยู่ในภาวะขาดน้ำอยู่ตลอดเวลาเป็นเวลานานๆ ทำให้สารต่างๆที่อยู่ในน้ำปัสสาวะ เกิดการตกผลึกได้ง่ายกว่าคนทั่วไป
- ผู้ที่ดื่มน้ำปริมาณพอเหมาะ แต่สารต่างๆที่ก่อให้เกิดผลึก มีปริมาณเข้มข้นมากเกินไป สารเหล่านั้นก็สามารถจับตัวตกผลึกเป็นนิ่วได้
นิ่วในไตกับนิ่วในกระเพาะปัสสาวะแตกต่างกันอย่างไร
แตกต่างกันที่อาการ ตัวของนิ่วเองไม่ได้ทำให้เกิดอาการ แต่จะเกิดอาการเมื่อนิ่วมีการเคลื่อนที่แล้วทำให้เกิดการอุดตัน นิ่วในไตมีการอุดตันค่อนข้างน้อยเนื่องจากพื้นที่ข้างในเยอะ แต่หากนิ่วตกลงมาอยู่ในท่อไต ซึ่งมีขนาดเล็กประมาณ 3 มม. จะสามารถสร้างอาการปวดที่รุนแรงได้ หรือหากนิ่วตกลงมาในกระเพาะปัสสาวะ อาจทำให้เกิดการระคายเคือง อยากเข้าห้องน้ำบ่อยๆและถ้านิ่วกลิ้งลงมาอุดที่ท่อปัสสาวะ จะทำให้รู้สึกปัสสาวะสะดุดหรือปัสสาวะขัดแบบฉับพลัน บางรายอาจถึงขั้นปัสสาวะไม่ออกแบบฉับพลันได้
อาการแบบไหนที่เป็นสัญญาณเตือนว่าเป็นนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ
นิ่วในไตมักไม่ทำให้เกิดอาการ แต่หากนิ่วตกลงมาหรือเคลื่อนที่ลงมาแล้วอุดอยู่ในท่อไต จะทำให้เกิดอาการปวดบีบๆเฉพาะด้านที่นิ่วตกลงมา เช่น หากนิ่วตกลงมาที่ท่อไตข้างขวาก็จะปวดเอวข้างขวา สำหรับนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ อาจทำให้ปัสสาวะบ่อย แสบขัดขณะปัสสาวะหรือปัสสาวะเป็นเลือด หากนิ่วในกระเพาะปัสสาวะตกลงมาในท่อปัสสาวะ อาจทำให้ลำของปัสสาวะออกมาแบบขาดตอนหรือหยุดชะงัก
มีวิธีการวินิจฉัยนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะอย่างไร
การตรวจวินิจฉัยนิ่วในกระเพาะปัสสาวะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน
- การพิสูจน์ว่ามีนิ่วอยู่จริงหรือไม่ ทำได้โดยการเอกซเรย์ธรรมดา การทำอัลตร้าซาวด์หรือการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบไม่ฉีดสารทึบรังสี ซึ่งสามารถดูถึงความแข็ง / อ่อน ของก้อนนิ่วที่อาจส่งผลต่อการพิจารณาเลือกวิธีรักษา
- การตรวจเพื่อหาองค์ประกอบข้อมูลโดยรวมที่มีผลต่อการรักษา เช่น การตรวจปัสสาวะ การตรวจเลือดดูการทำงานของไต
รักษานิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะได้ด้วยวิธีใดบ้าง
- ติดตามอาการ หากผู้ป่วยยังไม่มีอาการและมีนิ่วในไตที่มีขนาดน้อยกว่า 1 ซม.ไม่มีการอุดตัน ทางเลือกอาจเป็นการติดตามอาการและปรับเรื่องปริมาณน้ำดื่ม รวมถึงควบคุมอาหารบางอย่างที่อาจทำให้เกิดนิ่ว แล้วติดตามประเมินในอีก 4-6 เดือน
- การใช้ยา หรือที่เรียกโดยทั่วไปว่า ยาละลายนิ่วซึ่งมีซิเตรทเป็นส่วนประกอบ เหมาะกับนิ่วที่มีองค์ประกอบเป็นกรดยูริก ในกรณีนิ่งในท่อไตที่ปวดไม่มาก มีขนาดเล็ก อาจใช้ยาบางกลุ่มเพื่อคลายกล้ามเนื้อตามแนวท่อไตเพื่อเพิ่มโอกาสในการเลื่อนหลุดของก้อนนิ่วได้
- การสลายนิ่วด้วยการใช้คลื่นกระแทก เป็นการใช้คลื่นเสียงให้เกิดการสั่นสะเทือนให้นิ่วแตกเป็นชิ้นเล็กๆเพื่อเพิ่มโอกาสให้น้ำปัสสาวะได้พัดพานิ่วที่แตกไปแล้วให้หลุดตามธรรมชาติ
- การส่องกล้องผ่านท่อไต เป็นการส่องกล้องย้อนทิศทางจากท่อปัสสาวะผ่านเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะเพื่อที่จะขึ้นไปที่ท่อไตหรือในไต แล้วทำให้นิ่วแตกด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ใช้คลื่นกระแทก พลังงานลมหรือเลเซอร์ แล้วใช้อุปกรณ์หนีบชิ้นของนิ่วออกมา หากใช้เลเซอร์จะสามารถระเหิดตัวนิ่วให้กลายเป็นฝุ่น ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์คีบออกมา
- การผ่าตัดโดยการเจาะผ่านผิวหนัง เป็นการเจาะรูเข้าไปถึงตัวไตและใช้กล้องขนาดเล็กสอดไปตามรูที่เจาะเพื่อเข้าไปกรอนิ่วข้างในไตด้วยอุปกรณ์กรอนิ่ว เช่น พลังงานลม คลื่นกระแทกนิ่วหรือเลเซอร์
- การผ่าตัดแผลใหญ่ ปัจจุบันไม่นิยมใช้วิธีนี้แล้ว นอกจากนิ่วมีขนาดใหญ่มากหรือเป็นนิ่งชนิดเขากวางที่มีอยู่ทุกซอกทุกมุมของไต
ดูแลตัวเองอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ
- ดื่มน้ำให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 2 ลิตร หากออกกำลังกายเป็นประจำหรือทำงานที่เสียเหงื่อเยอะ ควรดื่มอย่างน้อย 2.5 ลิตรหรือมากกว่านั้น
- รับประทานอาหารให้สมดุล ลดอาหารที่กระตุ้นให้เกิดนิ่ว เช่น อาหารที่มีโปรตีนสูงมากจากเนื้อสัตว์ อาหารที่มีออกซาเลตสูง เช่น ผักโขม ผักปวยเล้ง ผักรูบาร์บ อะโวคาโด อาหารที่มีกรดยูริกสูง เช่น สัตว์ปีกบางชนิด พวกยอดใบผักต่างๆ
- รับประทานอาหารที่มีซิเตรทเป็นประจำมากขึ้นเพื่อช่วยป้องกันการตกตะกอนของแคลเซียมมักได้จาก ผลไม้รสเปรี้ยว อย่างน้ำส้มหรือมะนาว
ศูนย์ทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ให้การรักษาแบบเฉพาะบุคคลโดยทีมแพทย์ผู้ชำนาญเฉพาะทางด้านระบบทางเดินปัสสาวะ พร้อมด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อช่วยให้การวินิจฉัยและการรักษามีความแม่นยำ ปลอดภัยและได้ผลลัพธ์ที่ดี
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 02 ธันวาคม 2567